ค้นหาข้อมูล
โรคตาในผู้สูงอายุ
4179 view
 Post Date:  2/10/13 - 9:10:am
โรคตาในผู้สูงอายุ

โรคตาในผู้สูงอายุ

                เมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะต่างๆ ในร่างกายก็เกิดการเสื่อม ดวงตาก็เช่นกัน ดังนั้นบุคคลที่อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปควรได้รับการตรวจตา เพื่อหาความผิดปกติ เพราะบางโรคอาจพบมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น และควรตรวจตาสม่ำเสมออย่างน้อยปีละครั้ง ดังนั้นถ้าตรวจวินิจฉัยได้รวดเร็ว ผลการตรวจการรักษามักได้ผลดีส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ ถ้าพบอาการผิดปกติทางตาหรือมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูงและโรคไขมันในเลือดสูง ควรต้องตรวจสุขภาพตาสม่ำเสมอเพื่อให้คงสภาพการมองเห็นที่ดีตลอดไป โรคตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่

สายตายาวตามอายุ (Presbyopia)

                สาเหตุจากการเพ่งมองใกล้ลำบากและบางครั้งอาจปวดตาได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อมองใกล้อ่อนแรงและเลนส์ตาขาดการยืดหยุ่น ซึ่งภาวะนี้เป็นทุกคนโดยเฉลี่ยคนไทยเริ่มอายุ 40 ปี แต่อาจเร็วหรือช้ากว่านี้ได้แล้วแต่การใช้สายตาบุคคลนั้น

 

กระจกตาเสื่อม

                เนื่องจากเซลล์กระจกตามีปริมาณลดลงเมื่ออายุมากขึ้นผลอาจทำให้กระจกตาบวมขุ่นโดยเฉพาะเซลล์ต่ำกว่า 1000 ตัว / ตารางมิลลิเมตร มีภาวะเสี่ยงต่อกระจกตาบวมเมื่อมีการผ่าตัดตา หรืออาจมีไขมันสะสมบริเวณขอบกระจกตาเป็นวงขาว (Arcus senilis) ภาวะนี้ไม่อันตรายส่วนใหญ่ไม่ลามจนเต็มกระจกตาและไม่มีผลต่อการมองเห็น แต่ถ้าพบในอายุน้อยอาจสัมพันธ์กับโรคไขมันในเลือดสูง

 

ต้อกระจก

                เกิดจากการที่เลนส์ตาภายในดวงตาขุ่น อาการมองเห็นไม่สว่างต่อมาถึงเริ่มมัว มองไม่ชัด โรคต้อกระจกพบได้ทุกคนเมื่ออายุมากขึ้น โดยบางรายขุ่นเล็กน้อย บางรายขุ่นมากการรักษา คือ การเอาเลนส์ต้อกระจกที่ขุ่นออก และใส่เลนส์แก้วตาเทียมโดยอาจใช้วิธีการสลายต้อ ใช้คลื่นเสียงความถี่สูง อัลตร้าซาวด์ ทำให้แผลผ่าตัดเล็กร่วมกับการใส่เลนส์ตาเทียมชนิดพับที่มีการพัฒนาเทคโนโลยี โดยวัสดุคุณสมบัติดีไม่มีปฏิกิริยาต่อร่างกาย การออกแบบตัวเลนส์ที่ทำให้ ใส่สบายรวมทั้งเนื้อเลนส์ตาเทียมคงความใส ทนทานและการวัดเบอร์เลนส์ตาเทียมที่ค่อนข้างแม่นยำมีผลทำให้ส่วนใหญ่การมองเห็นไกลชัดเจนเกือบใกล้เคียงกับสมัยช่วงวัยรุ่น ถ้าส่วนต่างๆ ภายในตาปกติดี

 

ต้อหิน

                เป็นโรคที่ขั้วประสาทตาที่มีลักษณะแบบต้อหิน คือมีการลดลงของเซลล์ประสาทตาอย่างต่อเนื่องโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ปัจจุบันทางการแพทย์รู้ว่า ปัจจัยเสี่ยงหลักคือ การที่ความดันตาสูง จะทำให้ลูกตาแข็งโดยมีลักษณะคล้ายก้อนหิน ดังนั้นถ้าเกิดเหตุการณ์นี้จะส่งผลให้โรคนี้แย่ลงถ้าไม่รักษาอาจทำให้ผู้ป่วยตาบอดได้ และเป็นสาเหตุตาบอดอันดับสองรองจากต้อกระจก ถ้าเป็นระยะรุนแรงถึงขั้นตาบอด จะไม่สามารถรักษาให้หายได้ในปัจจุบัน ดังนั้นการตรวจสุขภาพตาแม้ไม่มีอาการ โดยเฉพาะผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยง การวัดความดันตาเพื่อหาโอกาสเป็นต้อหินร่วมกับการตรวจประสาทตาเป็นระยะจะทำให้ทราบโรคนี้ตั้งแต่ระยะแรก

 

น้ำวุ้นตาเสื่อม

                เป็นภาวะที่น้ำวุ้นตาเสื่อมสภาพคือการเปลี่ยนแปลงลักษณะจากเจลเป็นของเหลว ผลทำให้เกิดมีตะกอนปนในน้ำวุ้น อาการที่สังเกตได้คือมองเห็นบริเวณที่มีแสงจ้าเหมือนมีใยแมงมุม จุดดำลอยไปมาและขยับเคลื่อนที่ตามการกลอกตา ภาวะนี้เป็นทุกคนโดยเฉพาะถ้าอายุมากขึ้นเกิน 60 ปี ขึ้นไปแล้วแต่การสังเกตของบุคคลนั้น บางคนพบว่าน้ำวุ้นตาเปลี่ยนสภาพเร็ว เช่น เคยประสบอุบัติเหตุทางตา สายตาสั้นมาก หรือมีการอักเสบภายในตา ปกติโรคนี้ไม่อันตรายแค่ทำความรำคาญและส่วนใหญ่มักปรับตัวได้กับเงาตะกอนในน้ำวุ้นตาแต่ที่สำคัญคือภาวะนี้อาจร่วมกับจอรับภาพเสื่อมซึ่งอาจมีการฉีกขาดและจอตาหลุดได้ในระยะต่อมา ดังนั้น จะทราบจอรับภาพเสื่อมได้ควรตรวจตาโดยละเอียดจากจักษุแพทย์โดยการหยอดยาขยายม่านตาและตรวจจอรับภาพให้ทั่วโดยเฉพาะบริเวณริมขอบจอตา ถ้าพบจอตาเสื่อมอาจต้องยิงเลเซอร์เพื่อลดการฉีกขาดและหลุดลอกบริเวณจอตาซึ่งทำให้การมองเห็นลดลงมาก ดังนั้น ถ้าเห็นเงาจุดดำมากขึ้น หรือมีแสงวาบควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตาโดยละเอียด

 

จุดรับภาพเสื่อมตามอายุ (Age macular degeneration; AMD)

                พบในผู้ป่วยอายุเกิน 60 ปี โดยเฉพาะชาวต่างชาติผิวขาว เนื่องจากจุดรับภาพบริเวณจอรับภาพจะมีสาร Lipofusion สะสม และต่อมาอาจมีเส้นเลือดฝอยงอกออกมาเนื่องจากจอรับภาพทำให้มีการรั่วของเส้นเลือดเกิดการบวมบริเวณจอรับภาพทำให้ตามัว รวมทั้งจอรับภาพบริเวณนี้หลังจากยุบบวมอาจจะกลายเป็นแผลเป็นทำให้ตาบอดถาวรในที่สุด การป้องกันเริ่มจากการรับประทานอาหารที่สามารถลดอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ส่วนการรักษาในปัจจุบันโรคนี้มีการพัฒนามาก สำหรับทางการแพทย์เช่นการฉีดยาร่วมกับแสงเลเซอร์กระตุ้นยา ทำให้หยุดการรั่วของเส้นเลือดในจอรับภาพ (Photodynamic Therapy) หรือการฉีดยากลุ่ม Anti – VEGF เภายในตาเพื่อทำให้เส้นเลือดดังกล่าวฝ่อลงทำให้อาการดีขึ้น