ค้นหาข้อมูล
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด ข
14246 view
 Post Date:  14/8/12 - 9:20:pm
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด ข

ขุดบ่อล่อปลา
         สำนวนนี้มีความหมายเชิงเหน็บแนม เพราะมีความหมายว่า “ลวงให้ตายใจ” หรือ “ล่อให้มาติดกับ” และดูเหมือนว่าจะออกไปทำนอง “ต้มหมู” ด้วยซ้ำ สำนวน “ขุดบ่อล่อปลา” ก็คือทำสิ่งลวงตา เพื่อจะเอาใครคนใดหนึ่งเป็นเหยื่อ เหมือนทำหลุมพรางดักเอาไว้ สำนวนนี้บางแห่งใช้คำว่า “ขุดบ่อล่อเหยื่อ” หรือ “ขุดบ่อล่อหมู” ย้อนกลับไปถึงความหมายของสำนวนที่ว่า “ลวงให้ตายใจ” หรือ “ล่อให้มาติดกับ” หรือ “ขุดบ่อล่อหลุมพราง” หรือ “ขุดบ่อดักหลุมพราง” ก็มีความหมายรวมๆ กันว่า “อ่อยเหยื่อ” นั่นเอง อย่างไรก็ดีความหมายสรุปของสำนวน “ขุดบ่อล่อปลา” ความหมายก็คือ ทำกลอุบายเพื่อให้ฝ่ายหนึ่งหลงเชื่อ โดยหวังประโยชน์จากอีกฝ่ายหนึ่ง มีสำนวนเพิ่มในความหมายเดียวกันมาอีกว่า “ชักใย” และ “ใช้เล่ห์กระเท่ห์” รวมทั้ง “แทรกแซง” และ “แปรขบวน” ก็ใช่


ขว้างงูไม่พ้นคอ
         สำนวนนี้เอางูมาเปรียบเทียบอีกครั้งหนึ่ง ก่อนอื่นต้องบอกเล่าลักษณะของงูอย่างหนึ่ง ก็คืองูจะรัดเวลาต้องการต่อสู้หรือโกรธ หากเราจับงู งูรัดคอเราเวลาเราง้างตัวงูออกมา ยังไม่หลุดจากคอ เมื่อขว้างออกไปหางงูก็ยังเกี่ยวรัดคอเราไว้ได้อีกความหมายถึงสำนวนนี้คนที่ทำอะไรแล้ว พยายามหนีก็หนีไม่พ้นในที่สุดผลร้ายก็ตามมาตกที่ตัวจนได้ จะหมายความไปถึงทางธรรมะก็พอกล่าวได้ว่า นี่คือเรื่องของ “กรรมตามทัน”


ของกล้วยๆ
         สำนวนนี้อาศัยผลไม้คือ “กล้วย” มาเป็นหัวข้อตัวอย่างสำนวนที่ใกล้เคียงกันก็คือ “ปอกกล้วยเข้าปาก” หรือ “เรื่องกล้วยๆ” ทั้งสามสำนวนนี้มีความหมายเดียวกันคือ เรื่องง่ายๆของง่ายๆ ที่ไม่มีความยากเย็นอะไร ไม่ลึกลับซับซ้อน มีสำนวนในลักษณะคล้ายกันคือ “เรื่องหมูๆ” และ “ของหมูๆ” และ “เชือดหมูในเล้า” ซึ่งมีความหมายตรงกันกับ “ปอกกล้วยเข้าปาก”


ขวานผ่าซาก
         สำนวนนี้มีคำที่ต้องอธิบายให้เข้าใจก่อน ก็คือว่า “ซาก” คือ ไม้ที่ตาย มีความแห้งและแข็ง การเอาขวานไปผ่าซากจะต้องใช้กำลังมาก สำนวนนี้จึงหมายความว่า คือการพูดจาโผงผาง พูดตรงเกินไป ไม่เกรงใจใคร ไม่ได้ดูความเหมาะสมหรือสมควรการกระทำอย่างนี้รังแต่จะก่อให้เกิดศัตรู


เข้าด้ายเข้าเข็ม
         สำนวนนี้มีสำนวนอื่นที่มีความหมายเหมือนๆ กันอีกหลายสำนวน เช่น “เข้าแบบเข้าแผน” และ “เข้าร่องเข้ารอย” และ “เข้าตามตรอกออกตามประตู” แต่มีความหมายตรงกันข้าม ก็คือ “เข้ารกเข้าพง” ซึ่งก็เหมือนกับว่า “ออกนอกร่องนอกรอย” นั่นเอง สำนวน “เข้าด้ายเข้าเข็ม” นี้ โบราณใช้วิธีเปรียบเทียบกับการร้อยเข็มหรือสนเข็ม เพื่อร้อยด้ายใช้ในการเย็บหรือชุนผ้า รูเข็มนั้นเล็กขนาดพอร้อยด้าย จึงมีความลำบากในการร้อยต้องมีความพยายาม ความตั้งใจในการที่จะสอดเส้นด้ายเข้าไป เวลาเข้าด้ายเข้าเข็ม ก็คือเวลาที่จะสอดเส้นด้ายให้เข้าไปในรูเข็มนี่แหละ จึงต้องใช้สมาธิและต้องไม่มีเสียงรบกวนให้เสียสมาธิ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของสำนวน “เข้าด้ายเข้าเข็ม” ไว้ว่า หมายถึงเวลาสำคัญถ้าผิดพลาดหรือมีอะไรมาขัดจังหวะ แม้เพียงเล็กน้อยก็เสียการ


ขิงก็ราข่าก็แรง
         สำนวนนี้เอาธรรมชาติมาเป็นตัวเปรียบเทียบทั้งข่าและขิง ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีรสเผ็ดด้วยกันทั้งสองอย่าง เมื่อนำมาทำอาหารจึงไม่นิยมที่จะทำสมุนไพรทั้งสองสิ่งมาทำอาหารรวมกัน เพราะจะมีรสเผ็ดร้อนมากยิ่งขึ้นทำให้เสียรสชาติเพราะรสขิงกับข่าจะตีกันเอง สำนวนนี้มีความหมายว่า คนที่มีอารมณ์ร้อนแรงพอๆกัน พูดจาตอบโต้ต่อกัน ด้วยถ้อยคำที่รุนแรง ไม่มียอมลดราวาศอก ทำให้เหตุการณ์ขยายออกไปไม่มีวันจบสิ้น


เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า
         คำพังเพยสำนวนนี้โบราณมุ่งที่จะเตือนให้ทุกคนตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ดังมีพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า ปมาโท มัจจโณปทัง ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย ในสำนวนนี้มีคำที่จะต้องอธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจอยู่สองคำคือ “เถื่อน” และคำว่า “พร้า” คำว่าเถื่อน เมื่อเขียนใหม่จะพบกับคำว่า “เถื่อนถ้ำ” อันหมายถึงป่าและเขา คำว่าเถื่อนคือป่านั่นเอง ส่วน คำว่า “พร้า” นั้น หมายถึงมีด เพราะในคำที่กล่าวกันทั่วไปจะพูดว่า “มีดพร้า” และยังแถมคำว่า “กระท้าขวาน” ลงไปด้วย คำว่า “กระท้า” เป็นภาษาลาว หมายถึง “ขวาน” ความหมายของสำนวนนี้คือ แม้ตั้งใจจะกระทำการใด สมควรที่จะต้องมีความระมัดระวัง มีความพร้อม และไม่ประมาท


เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา
         สำนวนนี้ดูออกจะบอกความหมายกันตรงๆ โดยเอาลักษณะหูมาเทียบเคียงให้เห็น โดยโบราณจะดูลักษณะของหูซ้ายและขวานั้นอยู่ในระดับเดียวกัน จึงหวังจะบอกว่าคนที่พูดสั่งสอนแล้วไม่จำ ไม่ได้ผล ว่าเป็นคนที่พูดเข้าหูซ้ายและทะลุออกทางหูขวา ไม่ได้ใส่ใจจำไว้ในสมองเลย สำนวนนี้ไปตรงกับสำนวนหนึ่งที่ว่า “สีซอให้ควายฟัง”


เขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้า
         สำนวนนี้ก็เป็นการตีความตรงๆ ไม่อ้อมค้อม โบราณต้องการบอกถึงลักษณะของคนที่ตั้งใจทำงานอะไรขึ้นสักอย่าง แล้วก็ทำลายงานนั้นด้วยตัวเองในภายหลัง การงานนั้นเราจะทำด้วยมือ แต่ถ้าเอาเท้าลบถือว่าเป็นการใช้ของต่ำที่สุด เป็นการทำลายในลักษณะที่หมดสิ้นความสัมพันธ์ หรือความเสียดาย


ไข่ในหิน
         โบราณนำคำธรรมดามาสร้างสำนวนง่ายๆ แต่มีความหมายมาก คือ “ไข่” ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีเปลือกบาง พร้อมที่จะแตก จึงต้องทะนุถนอม ยิ่งอุปมาว่าเหมือนเอาไข่ซ่อนไว้ในหิน ก็ยิ่งหมายความว่า มีความทะนุถนอมอย่างยิ่ง จะเปรียบก็เหมือนบิดามารดารักบุตรนั่นเอง


แข่งเรือแข่งแพ แข่งได้ แต่บุญวาสนาแข่งไม่ได้
         สำนวนนี้ไม่ใช่คำพังเพยแต่น่าจะอนุโลมให้เป็นภาษิต เป็นคำกล่าวกว้างๆ ดูแล้วจะเห็นว่าเป็นนามธรรมผสมรูปธรรม แต่ฟังแล้วก็พอจะเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นคำว่า “เรือ” หรือ “แพ” หรือ “วาสนา” การแข่งเรือแพใช้พละกำลังอย่างเดียวก็สามารถจะเอาชนะกันได้ แต่วาสนานั้นเป็นบารมีที่สั่งสมมาแต่อดีตกาลแต่ละคนมีไม่เท่ากัน จึงไม่สามารถจะแข่งกันได้


เข้ารกเข้าพง
         สำนวนคำพังเพยนี้ เป็นคำพูดง่ายๆ แต่เมื่อมาใช้เป็นอุปมาก็นับว่าเป็นคำที่เฉียบคมทีเดียว เพราะมีความหมายว่า พูดหรือทำ ไม่ถูกต้องกับเรื่อง เพราะขาดความชำนาญ ทำให้เรื่องขยายไปจนจับต้นชนปลายไม่ได้ เหมือนเดินเข้าที่เปลี่ยวที่มืดเข้ารกเข้าพงไปดังคำที่ว่านั่น


เข้าตามตรอก ออกตามประตู
         คำพังเพยสำนวนนี้เป็นความควบมักจะกล่าวให้ต่อเนื่องกันโบราณสร้างสำนวนนี้ไว้เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติผู้ชายที่มุ่งมาติดพันผู้หญิงว่า จะต้องมาอย่างถูกต้องตามประเพณี เหมือนเข้ามาตามตรอก (ซึ่งเป็นเส้นทางที่เดินกัน) และออกทางประตู (ที่เป็นทางออกของบ้าน ไม่ใช่ปีนหน้าต่างออกไปเหมือนขโมย)


เข้าตาจน
         สำนวนคำนี้ดูเหมือนง่ายแต่ไม่ง่าย เพราะคำว่า “ตาจน” นั้นมีความหมาย ที่โบราณนำมาจากการเล่นหมากรุก “ตาจน” หมายถึงตาที่ขุนซึ่งเป็นใหญ่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเพลี่ยงพล้ำถูกอุดเส้นทางเดินตามตาของตัวเองไม่ได้ ความหมายของสำนวนนี้คือ หมดทางไป หมดทางแก้ไข หรือหมดทางหากิน เข้าทางต้น ฯลฯ


ขูดเลือดขูดเนื้อ
         คำที่โบราณนำมายกเป็นพังเพยสำนวนนี้ เป็นคำที่เผ็ดร้อนพอสมควร เพราะให้เป็นคำต่อว่าต่อขานกัน หมายถึงคนที่ไร้น้ำใจขายของแพง เก็บดอกเบี้ยแพงเกินความเป็นจริง เป็นคนที่ไร้น้ำใจที่จะเห็นใจคนที่ยากจนหรือไร้หนทางกว่า จะเรียกสำนวนอีกคำหนึ่งที่มีความหมายใกล้กันคือ “ขูดเลือดซิบๆ”หรือ “ตลาดหน้าคุก” มียังไงก็ต้องเอา ขายเท่าไหร่ก็ต้องซื้อ

ขุนนางใช่พ่อแม่ หินแง่ใช่ตายาย
         คำพังเพยสำนวนนี้โบราณก็ผูกไว้เป็นสำนวนเพื่อใช้คู่กัน ความหมายก็คือ ไม่ต้องการให้ไว้ใจใคร คือ ขุนนางมียศก็ไม่ใช่พ่อแม่ อาจจะเล่นแง่กับเราเมื่อใดก็ได้ หรือหินแง่ขวางทาง เดินไม่ดีอาจสะดุดจนบาดเจ็บหรือล้มลงได้ มีคำโบราณพูดไว้อีกคำหนึ่งที่มีความหมายคล้ายๆ กันคือ “อย่าไว้ใจทางอย่างวางใจคน” แถมมาอีกคำว่า “จะจนใจเอง” อย่างนี้


ขุดด้วยปาก ถากด้วยตา
         คำพังเพยสำนวนนี้โบราณผูกเอาไว้เป็นสองความเช่นเดียวกันความหมายของคำว่า “ขุด” คือการสับ เจาะ แทง หรือคุ้ย ถากคือฟันหรือแคะลอก คำพังเพยสำนวนนี้โบราณต้องการจะพูดถึงคนที่ไม่พูดแต่ใช้วิธี พูดจาเหยียดหยาม และมองด้วยสายตาที่ดูถูกดูแคลน


ขึ้นคาน
         คำคำนี้เป็นคำธรรมดาๆ แต่เมื่อโบราณหยิบยกมาใช้เป็นอุปมาก็กลายเป็นคำที่มีความหมายสำคัญที่เดียว คำว่า “คาน” คือ เครื่องหาบของชนิดหนึ่งหรือที่เก็บ ที่ยกของ เช่นคานบ้าน หรือคานเรือ ซึ่งโบราณอุปมาว่าเป็นหญิงมีอายุที่ไม่ยอมแต่งงาน (ไม่มีโอกาสถูกใช้)


ขี้ไม่ให้หมากิน
         โบราณใช้คำพูดธรรมดามาอุปมาเปรียบสิ่งที่เป็นจริงในชีวิตคือหมานั้นกินขี้ คนที่ขนาดขี้ยังไม่ยอมให้หมากินนั้นโบราณว่าคือคนที่มีนิสัยตระหนี่เหนียวแน่น ไม่ยอมจ่ายมีแต่อยากจะรับลูกเดียว คนเช่นนี้อยู่ในสังคมยาก เพราะจะไม่มีใครคบหาด้วย เพราะว่าถือว่าเป็นคนที่ไม่มีน้ำใจเสียสละ (เพื่อส่วนรวม)


ขี้แพ้ชวนตี
         โบราณนำเอาเรื่องราวของการเล่นกีฬาหรือการแข่งขันใดๆ ที่คนแพ้ไม่ยอมแพ้ทำนองกีฬาแพ้คนไม่แพ้ หาเรื่องทะเลาะวิวาทเรียกกันว่าคนนั้นเป็นคนจำพวก “ขี้แพ้ชวนตี” ต่อไปไม่มีใครจะร่วมเสวนาด้วย


ข้าวใหม่ปลามัน
         สำนวนคำพังเพยสำนวนนี้ โบราณผูกเอาไว้สำหรับชีวิตของหนุ่มสาวเพิ่งแต่งงาน หนุ่มเปรียบเหมือนข้าวใหม่ ที่เพิ่งเก็บเกี่ยวมาเมื่อต้นฤดู สาวเหมือนปลาในฤดูวางไข่ เนื้อปลาจะมันมีรสอร่อย เมื่อมาผสมผสานกันเข้าก็จะเพิ่มความอร่อยเป็นทวีคูณอุปมาว่าของใหม่ย่อมดีเสมอ แต่ในทางตรงกันข้ามก็มีสำนวนบอกเอาไว้เป็นพังเพยเช่นกัน “แรกรักน้ำตาลนั้นหวาน ยามชังนน้ำผึ้งยังพานขม” อย่างนี้


ข้าวยากหมากแพง
         โบราณผูกคำพังเพยนี้ขึ้นมา เพื่อเตือนสติคนทั่วไปให้คำนึงถึงความยากลำบากที่อาจจะมีขึ้นมาแล้วไม่ได้เตรียมตังเตรียมใจยามมีก็ใช้จ่ายโดยไม่ยั้งคิด พอเกิดปัญหาภาวะขาดแคลน เกิดทุพภิกขภัยก็เดือดร้อนมีรู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร ข้าวยาก คือ ข้าวราคาแพง ทั้งยังไม่มีขาย หมากแพง นั้นสมัยโบราณทุกคนกินหมาก เป็นเหมือนยาเสพติด หมากราคาแพง ทั้งยังหาไม่ค่อยได้ก็เกิดเดือดร้อน สำนวนนี้มีสำนวนตรงกันข้ามคือ “ข้าวเหลือเกลืออิ่ม” มีทั้งข้าวมีทั้งเกลือที่เป็นของจำเป็นในชีวิตสบายไม่ต้องกลัวอดตาย


ขายหน้าวันละห้าเบี้ย
         โบราณผูกคำพังเพยสำนวนนี้ขึ้นเพื่อเตือนลูกหลานที่ไม่ค่อยจะเรียบร้อย ทั้งกิริยาท่าทางและการแต่งกาย มักจะถูกกำชับว่า อย่าทำอะไรให้พ่อแม่ขายหน้า ส่วนเบี้ยที่นำมาประกอบเป็นสำนวนนี้ได้อธิบายไว้แล้วแต่ต้น แต่เรื่องขายหน้าวันละห้าเบี้ยนั้น คำว่า “ห้าเบี้ย” สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นคำสัมผัสเท่านั้น (แต่เบี้ยห้าก็ราคาแพงอยู่เหมือนกัน)


ขายผ้าเอาหน้ารอด
         คำพังเพยสำนวนนี้โบราณกล่าวเอาไว้เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจถึงเกียรติยศและศักดิ์ศรี รวมทั้งคำพูดจะต้องรักษาเอาไว้ เมื่อจะต้องเสียสละเพื่อรักษาเกียรติ ก็ต้องยอมทุกอย่าง แม้แต่ของจำเป็น (หมายถึงเสื้อผ้าที่นุ่งอยู่ จึงมีสำนวนที่มีความหมายใกล้เคียงกันอีกสำนวนหนึ่งคือ “แก้ผ้าเอาหน้ารอด” (ไม่มีผ้าขาย จะแก้ก็ต้องแก้)


ข้าสองเจ้าบ่าวสองนาย
         คำพังเพยสำนวนนี้โบราณต้องการแสดงถึงความเด็ดเดี่ยวในการรักษาความเป็นทาส หรือข้านายเดียวด้วยความจงรักภักดีมีถ้อยคำนี้ที่กล่าวเอาไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทยหลายตอน เช่น เมื่อเจ้าพระยาโกษาปานบอกกับขุนหลวงสรศักดิ์ และพระเพทราชาที่ชักชวนให้มาสวามิภักดิ์ว่า ตนภักดีต่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชองค์เดียว จะไม่มีนายคนอื่นอีก หรือตอนที่พระองค์เจ้าเณร ตรัสบอกกับสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกว่า ตนภักดีต่อสมเด็จเจ้าพระเจ้าตากสินพระองค์เดียว ไม่ต้องการภักดีกับผู้ใด จนถึงต้องพระราชอาญาลงโทษประหาร


ข้านอกเจ้าข้าวนอกหม้อ
         คำพังเพยสำนวนนี้โบราณก็ใช้เปรียบเทียบกับคนเช่นกัน หมายถึงคนที่ทำงานนอกคำสั่ง หรือทำนอกแบบ นอกคำสั่ง เช่นข้าวนอกหม้อ ก็คือข้าวในจานข้าวที่หกเรี่ยราด ย่อมจะไม่มีระเบียบ




ขมิ้นกับปูน
         สำนวนคำพังเพยสำนวนนี้โบราณนำพืชกับวัสดุสองอย่างมาตั้งเป็นอุปมาที่มีความหมาย โดยเฉพาะผู้ที่ชอบวิวาทกัน ผู้ที่ไม่ถูกกันพบหน้ากันเป็นต้องโต้คารมเผ็ดร้อนใส่กัน ขมิ้นนั้นเป็นไม้ล้มลุกมีเหง้าสีเหลืองใช้ปรุงอาหาร ทาตัว ย้อมผ้า ทำยา ฯลฯ ส่วนปูนนั้นทำมาจากการเผาปูนขาว เอาทั้งสองอย่างมาผสมกัน จะได้สีแดงส้ม ซึ่งดูร้อนแรงเหมือนอารมณ์ของคนที่ไม่ถูกกัน

   
ขนมผสมน้ำยา
         โบราณผูกคำพังเพยคำนี้สอนคนว่า คนที่มีอะไรพอดีกัน ไม่เป็นรองกัน ขนมในที่นี้หมายถึงขนมจีน ส่วนน้ำยานั้นก็คือน้ำที่ใช้ผสมกินขนมจีนซึ่งเป็นน้ำผสมโดยเฉพาะ ขนมจีนผสมกับน้ำยาได้รสกลมกล่อมพอดี เรียกว่าเข้ากันได้แบบเป็นปี่เป็นขลุ่ยนั่นเอง