ค้นหาข้อมูล
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด ค.
9259 view
 Post Date:  14/8/12 - 9:19:pm
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด ค.

คว่ำบาตร
         คำนี้เป็นคำสั้นๆ ประกอบกับคำอื่น เช่น คว่ำบาตรทางการทูต คว่ำบาตรทางการค้า เป็นการกระทำการกันระหว่างประเทศหรือกลุ่มชาติใดชาติหนึ่ง หมายถึงการไม่ติดต่อกันโดยวิธีใดทั้งสิ้น มีคำที่มีความหมายเหมือนกันอยู่คำหนึ่งคือ “กรวดน้ำคว่ำขัน” มีคำอีกคำหนึ่งคือ “เลิกคบ” และสำนวน “ตัดตายขายขาด” ซึ่งจะมีคำที่มีความหมายตรงกันข้ามคือ “ตัดไม่ตายขายไม่ขาด” อีกสำนวนหนึ่งคือ “ตัดหางปล่อยวัด” ความหมายของคำ “คว่ำบาตร” นี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า ไม่ยอมคบค้าสมาคม เดิมหมายถึงสังฆกรรม ที่พระสงฆ์ประกาศลงโทษคฤหัสถ์ผู้ประทุษร้ายต่อพระศาสนา ด้วยการไม่คบ ไม่รับบิณฑบาต ทำนองที่ว่า “ไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย” คือการประณาม หรือประกาศว่าเลวทราม


คนดีผีคุ้ม
         สำนวนนี้โบราณกล่าวไว้เพื่อเป็นเครื่องปลอบใจคนที่ทำความดีแต่กลับมีศัตรูว่าไม่ต้องกลัว เพราะคนดีผีย่อมคุ้มครอง ผีในที่นี้เข้าใจว่าคงหมายถึงเทวดา แต่เวลาพูดให้คล้องจองกัน จึงต้องใช้คำว่าผี ซึ่งอาจจะหมายถึงผีบ้านผีเรือน ผีบรรพบุรุษก็ได้ สำนวนนี้มีสำนวนต่อท้ายอีกว่า “คนดีผีคุ้ม คนร้ายตายชุม” คือคนร้ายยังไงก็ไม่มีคนช่วยต้องตายหมด


คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล
         สำนวนนี้ดูออกจะยาวไปสักหน่อย แต่ก็มีความหมายที่ชัดแจ้งโดยไม่ต้องอธิบายประกอบเพิ่มเติม โบราณต้องการสอนให้รู้จักคบหาผู้คน ให้เลือกคบแต่คนดีซึ่งจะพาไปแต่ทางดี อย่าคบคนชั่วเพราะคนชั่วก็จะพาไปหาที่ชั่ว


คาหนังคาเขา
         สำนวนนี้โบราณเปรียบเทียบกับสัตว์ เช่น วัวควาย ที่มีหนังมีเขา โจรปล้นวัวควายจะเอาวัวควายที่ปล้นได้ไปฆ่ากิน แต่เคราะห์ร้ายก้ถูกจับได้ขณะกำลังชำแหละหนัง ตัดเขา โบราณจึงใช้คำว่า “คาหนังคาเขา” อย่างตำรวจจังโจรได้ขณะเข้าทำการขโมยทรัพย์ได้ของกลางอยู่ในมือ อย่างนี้คือความหมายของสำนวนที่ว่า “คาหนังคาเขา”


คาบลูกคาบดอก
        สำนวนนี้กล่าวไว้เชิงบรรยายธรรมชาติ คำว่าคาบลูกคาบดอกหมายถึงไม้ผลที่กำลังผลิดอกแล้วกำลังจะกลายเป็นลูก หรืออาจจะหมายถึงการยิงสัตว์ เช่น กระรอกกระแต ลูกดอกปักคาตัวมันแล้วถูกมันพาไปด้วย หรือจะเป็นสัตว์อะไรสักอย่างที่คาบลูกดอก แต่ความหมายทั้งคำแรกและคำสุดท้าย ดูจะมีความหมายเด่นชัดสู้คำกลางไม่ได้ คือสัตว์ถูกยิงด้วยลูกดอก (สมัยโบราณไม่มีปืนมีแต่ธนูและหน้าไม้) แล้วก็พาลูกดอกไปด้วย ความรู้สึกว่าตายหรือไม่ตายลักษณะ “ก้ำกึ่งกัน” ทำให้เป็นปริศนา คาบลูกคาบดอก คือไม่รู้เป็นหรือตาย


โคแก่ชอบกินหญ้าอ่อน
         สำนวนนี้เป็นสำนวนที่เกี่ยวกับความใคร่ในกามของมนุษย์ที่โบราณนำสัตว์เข้ามาเกี่ยวข้องเช่นเคย คือโค อุปมาว่าโค (หรือควาย) ที่แก่แล้วฟันฟางไม่ค่อยจะดีก็มักจะชอบหญ้าที่อ่อนๆเคี้ยวง่ายมากกว่าหญ้าแก่ๆ ที่เคี้ยวลำบาก จึงนำมาเปรียบเทียบกับคนสูงอายุที่แก่มากแล้ว แต่ยังชอบเรื่องโลกีย์ชอบสาวๆจนถึงขั้นหาทางแต่งงานกับสาวคราวลูกก็มี โบราณจึงเปรียบผู้ชายอย่างนี้ว่าเหมือนโคแก่ชอบกินหญ้าอ่อนๆ


โค่นกล้วยอย่าไว้หน่อ
         คำพังเพยโบราณสำนวนนี้ เป็นสำนวนเชิงเตือนใจให้รู้ว่า ถ้าจะต่อสู้ทำลายล้างคนที่ชั่วช้าสาธารณ์ที่ไม่สมควรที่จะให้มีชีวิตอยู่เพื่อทำชั่วต่อไป ก็จะต้องทำลายให้สิ้นโคตรวงศ์ (ความคิดนี้เป็นของโบราณนะครับ สมัยปัจจุบันคงไม่ถึงขั้นนั้น) โบราณอุปมาไว้ว่า เปรียบเหมือนกล้วยแม่โค่นต้นยังมีหน่อสืบพันธุ์ต่อไป ถ้าไม่ประสงค์จะมีกล้วยก็ต้องโค่นทิ้งทั้งต้นและหน่อนั่นเอง


คืบก็ทะเล ศอกก็ทะล
         คำพังเพยสำนวนนี้นำเอาทะเลมาเปรียบเทียบว่ามีความกว้างใหญ่ไพศาล จนไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดเหตุเภทพาลขึ้นมาอย่างไร มองดูแล้วก๋เหมือนมีอันตรายอยู่รอบด้าน จะประมาทมิได้


คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก
         คำพังเพยสำนวนนี้โบราณประสงค์ที่จะบอกกล่าวว่า อันคนเราอยู่ร่วมกันนั้น ต้องมีจิตเมตตามีอัธยาศัย รักใคร่กันและกันไม่มีรังเกียจเดียดฉันท์ อย่างนี้แม้จะอุดอู้อยู่ในห้องแคบๆ ใจก็มีสุขได้ ส่วนแม้จะมีที่กว้างใหญ่จุคนได้มากเป็นร้อยเป็นพันแต่ถ้าทุกคนอยู่ด้วยการรังเกียจ ดูหมิ่นเหยียดหยาม ไร้ความเมตตาปรานี นั่นก็เหมือนสร้างความคับแค้นใจให้เกิดขึ้น ที่กว้างขวางอย่างไรก็แลดูแคบอึดอัด มิอยากจะอยู่ร่วมกันต่อไป


คอหอยกับลูกกระเดือก
         โบราณชักคำพังเพยสำนวนนี้ขึ้นมาเปรียบเทียบกับสรีระของมนุษย์ที่อยู่ใกล้กันที่สุดคือ คอหอยกับลูกกระเดือกซึ่งทำงานสัมพันธ์กันโดยตลอด จึงอุปมาว่าเหมือนคนที่ทำงานเข้ากันดีแยกกันไม่ออก มีความเห็นที่สอดคล้อง ไม่เคยขัดแย้งกันเลยอย่างนี้


คอหยักๆ สักแต่ว่าเป็นคน
         คำว่า “คน” นั้น โบราณเดิมใช้ คอคน ไม่ใช่ ค ควาย คอหยักๆ จึงเหมือนตัว คอคน (ที่ต้องจำใจใช้ ค ควายแทนเพราะหาตัว คอ คนไม่ได้) โบราณเรียกคนอย่างที่ว่าไว้นี้ว่า เป็นคนที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสมกับศักดิ์ศรีของความเป็นคน ไม่รับผิดชอบ เป็นคนสิ้นคิด


คอทั่งสันหลังเหล็ก
         โบราณยกสำนวนคำพังเพยนี้ขึ้นมาเพื่อพูดถึงคนที่มีความแข็งแกร่ง ทรหดอดทน กล้า บ้าบิ่น ไม่กลัวอันตราย เปรียบเหมือนทั่งเหล็กที่ใช้รองรับในการตีเหล็ก


ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก
         โบราณนำคำพังเพยสำนวนนี้มาเพื่อบอกกล่าวว่า เรื่องเดือดร้อนที่กำลังหาทางขจัดปัดเป่าอยู่ ยังไม่ทันเสร็จสิ้น ก็มีความเดือดร้อนเรื่องอื่นๆ เข้ามาแทรก จนทำให้ว้าวุ่น


ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด
         โบราณสร้างคำพังเพยนี้ขึ้นมาเพื่อประณามมนุษย์ที่ แม้จะมีความรู้มาก แต่ก็ไม่รู้จักนำความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์


คลื่นกระทบฝั่ง 
         โบราณนำเรื่องของธรรมชาติมาเปรียบเทียบกับเรื่องราวของมนุษย์คืออุปมาว่า เรื่องราวที่ใหญ่โตเหมือนคลื่นในหมาสมุทรแต่พอซัดเข้าฝั่งคลื่นก็ละลายหายไปกับหาดทราย เฉกเช่นเรื่องที่ดูจะเป็นเร่องใหญ่ แต่พอจะเริ่มเรื่องก็กลับหายเงียบไป (เหมือนคลื่นกระทบฝั่ง)


คบคนให้ดูหน้า ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ
         โบราณแยกข้อเปรียบเทียบคำพังเพยสำนวนนี้ได้เหมาะสมเพราะการซื้อผ้านั้นเขาจะดูที่เนื้อผ้า เวลาจะคบคนก็ต้องดูหน้าว่า น่าจะไว้วางใจ เชื่อถือคบหาได้หรือไม่


คนล้มอย่าข้าม
         โบราณสร้างคำพังเพยสำนวนนี้ขึ้นเพื่อใช้สอนใจว่า เกิดเป็นคนอย่าดูถูกคน เวลาเขาล้มอย่าซ้ำเติม เพราะมีคำพังเพยอีกสำนวนหนึ่งบอกไว้ว่า ไม้ล้มข้ามได้ คนล้มอย่าข้าม เพราะเขาอาจจะพลิกชีวิตกลับมาดีใหม่อย่างเดิมก็ได้

คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนนเสื่อ
         โบราณนำเอาหนังสัตว์มาเปรียบกับเสื่อที่ใช้ปูนั่งว่า หนังสัตว์นนั้นจะมีผืนเล็กๆ เหมือนคนที่รักชอบรักชอบเรานั้น ไม่ใช่จะมีมากมายไม่เหมือนคนชั่งที่มีมากมายใหญ่เท่าผืนเสื่อ


คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า
         สำนวนคำพังเพยนี้โบราณมุ่งสอนหญิงชายให้รู้ถึงคำว่าความรักการแต่งงานว่า คนที่กำลังมีความรัก ก็อยากจะแต่งงานเป็นคู่พออยู่กันไปนานๆ ก็ค้นพบว่าชีวิตโสดนั้นสุขสบายกว่าไหนๆ อยากจะเลิกก็เลิกไม่ได้ ส่วนคนที่ยังไม่เคยมีคู่ก็พยายามจะหาทางแต่งงานมีคู่จนได้ โดยไม่ได้คิดว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะคนข้างนอกก็อยากเข้ามา ทั้งๆ ที่คนในอยากจะออกไปใจริกๆ


คนตายขายคนเป็น
         คำพังเพยสำนวนนี้โบราณคิดออกมาปรามผู้คนที่ยังมีกิเลสอยากได้หน้า ก็ลืมตัวเวลาจัดงานศพ ก็ทำเสียใหญ่โตโดยไม่คำนึงถึงฐานะของตนเอง จัดงานเสร็จต้องกลายหนี้ บางทีทรัพย์สินที่พอมีอยู่บ้างก็พลอยสิ้นสูญไปด้วย นึกก็สังเวชทั้งที่คนเป็นทำตัวเอง แต่ปัดความรับผิดชอบไปให้คนตายว่า “ขายคนเป็น”


คดในข้องอในกระดูก
         โบราณให้คำพังเพยสำนวนนี้เป็นการประจานมนุษย์ที่มีสันดานเป็นคนชั่วคดโกง เปรียบกับกระดูกในร่างกายที่มีความโค้งความคด จะพูดอีกทีก็คือ ความคดโกงของคนเช่นนี้ เป็นไปทั้งตัวเหมือนกระดูก