ค้นหาข้อมูล
สุภาษิต สำนวนไทย คำพังเพยหมวด ง.
3417 view
 Post Date:  14/8/12 - 9:17:pm
สุภาษิต สำนวนไทย คำพังเพยหมวด ง.

งูเงี้ยวเขี้ยวขอ

         คำนี้เป็นคำที่ใช้ตีสำนวนโวหารธรรมดา ไม่มีอะไรลึกซึ้งพลิกแพลง เป็นการเล่นสร้อยคำเป็นธรรมดาเท่านั้นเอง เช่นเดียวกับคำที่ว่า “อุปสรรคขวากหนาม” และ “ขื่อคาหนามคอ” และ “บุญหนักศักดิ์ใหญ่” หรือ “คารมคมคาย” อะไรจำพวกนี้สำนวนนี้ใช้คำว่าเงี้ยว ซึ่งหมายถึงงู และเขี้ยวขอ ก็หมายถึงเขี้ยวที่เป็นขอ โง้งคล้ายขอ มีความคมก็คือเขี้ยวของงูนั่นเองงูจะอาศัยอยู่ตามที่รกเป็นพงหญ้า ในชนบทจึงมีคำเตือนเมื่อจะต้องเดินทางผ่านที่รกหรือพงหญ้าในเวลากลางคืนให้ระวัง “งูเงี้ยวเขี้ยวขอ” ในสำนวนนี้ก็ยังรวมไปถึงสัตว์เลื้อยคลานจำพวกตะขาบและแมงป่องด้วย


งมเข็มในมหาสมุทร

         นี่ก็ถือว่าเป็นถ้อยคำโวหารอีกคำหนึ่ง โบราณสร้างคำนี้ขึ้นมาเพื่อเปรียบเทียบความยากเย็นในการค้นหา การทำการงาน ที่ยากแค้นแสนเข็ญว่ายากเย็นเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร ซึ่งถ้ามองดูความหมายที่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานกล่าวไว้ว่า ค้นในสิ่งที่ยากจะค้นหาได้ หรือทำกิจที่สำเร็จได้ยาก ซึ่งการเปรียบเทียบของโบราณที่กล่าวถึงความกว้างใหญ่ไพศาลของมหาสมุทรกับเข็มเล่มเล็กๆ นั้นแค่คิดก็ยากที่จะทำได้แล้ว


เงาตามตัว
         โบราณมีความชาญฉลาดที่จะเอาสิ่งใกล้ๆ ตัวมาเป็นอุปมา ดังคำพังเพยคำนี้จะเห็นว่ายกเอา “เงา” ซึ่งจะต้องไปกับร่างกายตลอดไม่มีวันแยกจากกันได้ จึงอุปมาไว้ถึงคนที่ติดตามกันไปโดยตลอดไม่มีวันคลาดจากกันว่าเป็นเหมือน “เงาตามตัว”


เงื้อง่าราคาแพง
โบราณนำสำนวนมาสร้างเป็นคำพังเพยเตือนคนที่ดีแต่วางท่าหรือทำท่าว่าจะทำ แต่ไม่กล้าทำ (คือมีปืนจะยิงไม่กล้ายิง มีมีดจะฟันไม่กล้าฟัน ได้แต่เงื้อไปเงื้อมา) อย่างนี้โบราณหมายถึงคนที่ลังเล ไม่กล้าตัดสินใจ ทำอะไรก็ไม่เจริญ ไม่ก้าวหน้าเพราะความกลัว