ค้นหาข้อมูล
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด จ
6737 view
 Post Date:  14/8/12 - 9:16:pm
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด จ

เจียมกะลาหัว

         สำนวนนี้คำเต็มจะมีคำว่า “ไม่เจียมกะลาหัว” โบราณใช้เป็นคำกล่าวถากถางกันในทำนองเหยียดหยาม เรียกว่าเป็นการด่าหรือว่าให้อายนั่นเอง อย่างสำนวนที่ว่า “ถ่มน้ำลายรดฟ้า” หรือ “ลบหลู่ผู้มีคุณ” แล้วโดนโทษทัณฑ์ ก็จะถูกกล่าวว่าเป็นคนที่ “ไม่เจียมกะลาหัว” มีคำพูดอีกคำหนึ่งที่มีความหมายใกล้กันคือ “ให้จำใส่กะลาหัวเอาไว้” การเจียมกะลาหัว คือให้เจียมกิริยาวาจา ระมัดระวังปากคำหรือการแสดงออก


แจงสี่เบี้ย

         คำพังเพยสำนวนนี้ โบราณนำการพนันชนิดหนึ่งมาเปรียบเทียบ แต่พจนานุกรมฉบับบราชบัณฑิตยสถานให้คำนิยามไว้ว่า “อธิบายละเอียดชัดแจ้ง” ทั้งยังบ่งว่า แจงสี่เบี้ยเป็นคำกิริยาเท่านั้น ในสำนวนนี้คำที่จะต้องอธิบายเพิ่มเติมให้เข้าใจอยู่สองคำ คือคำว่า “แจง” กับคำว่า “เบี้ย” คำว่าแจงมีคำพ่วงอีกคำหนึ่งคือคำว่า “แจกแจง” ส่วนเบี้ยนั้น หมายถึงเปลือกหอยที่เรียกกันว่า “เบี้ยจั่น” หรือ “เบี้ยนาง” ที่โบราณใช้เป็นสิ่งใช้เป็นมูลค่าแทนเงินตรา คำว่า “เบี้ย” มาจากการเล่นพนันกำถั่วที่ใช้เบี้ยจั่นเป็นส่วนประกอบ วิธีเล่นจะใช้เบี้ยจำนวนมากๆ ใส่ไว้ในถ้วยครอบไว้ การพนันจะใช้วิธีเสี่ยงแทงสี่อย่าง คือ ครบ (สี่) สอง สาม และเอี่ยว (หนึ่ง) เมื่อแทงแล้วเจ้ามือจะเปิดถ้วยใช้ไม้เล็กๆ เขี่ยเบี้ยออกทีละสี่เบี้ย จนเหลือสุดท้าย ถ้าครบ ก็จะเหลือสี่ ถ้าเอี่ยวก็จะเหลือหนึ่ง หรือสอง หรือสาม แล้วแต่จะออกมา ส่วนเงินจ่ายนั้นถ้าเหลือเอี่ยวจะจ่ายสามเท่า ถ้าเหลือครบจะจ่ายสองเท่า เหลือสองหรือสามจ่ายหนึ่งเท่า การใช้คำพังเพย “แจงสี่เบี้ย” จึงมาจากกรรมวิธีนี้นั่นเอง และหมายถึงการอธิบายอย่างละเอียดตามที่พจนานุกรมฯ ให้คำนิยามไว้นั่นแหละ


จับปลาสองมือ 

         สำนวนคำพังเพยสำนวนนี้โบราณมุ่งเอาธรรมชาติของสัตว์น้ำคือปลามาเปรียบเทียบถึงจิตมนุษย์ คือปกติปลานั้นจะมีความลื่นที่เรียกว่าคาว ที่เห็นเด่นชัดจะมีคำๆ หนึ่งที่ใช้ความลื่นของปลาให้ได้ก็จะต้องใช้วิธีการจับด้วยสองมือ แต่โบราณมิได้ หมายความถึงเรื่องต้องจับปลาด้วยสองมือจึงจะมั่นคง แต่หมายถึง คนที่ทำการเสี่ยงสองอย่างในเวลาพร้อมกัน อาจจะไม่สำเร็จสักอย่าง ดังที่มีคำพูดอีกคำหนึ่งว่า “คนสองใจ”


จับปูใส่กระด้ง

         คำพังเพยสำนวนนี้ใช้สัตว์กึ่งบกกึ่งน้ำมาใช้เปรียบเทียบมนุษย์เช่นเคย คือใช้ปูมาเปรียบเทียบ ธรรมชาติของปูจะไม่อยู่นิ่ง จะชอบเดินไต่ไปมา ถ้าทดลองเอาปูใส่ในกระด้ง ปูก็จะไต่ออกมานอกกระด้ง ไม่อยู่ในกระด้งได้ โบราณจึงนำมาเปรียบเทียบกับคนที่ไม่มีระเบียบ บอกกล่าวอย่างไรก็มักจะประพฤตินอกทางเสมอโดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ที่ไม่มีวันจะหยุดนิ่งได้


จับแพะชนแกะ

         คำพังเพยสำนวนนี้เอาเรื่องสัตว์บกสองชนิดมาชนกันคือ แพะกับแกะ ซึ่งโดยปกติถ้าจะเอาแพะมาชนกัน ก็ใช้แพะทั้งคู่ หรือ จะชนแกะก็ใช้แกะทั้งคู่ แต่การที่เอาแกะกับแพะที่ต่างกันมาชนกัน โบราณจึงนำเอามาเปรียบเทียบกับคนที่ชอบทำงานอย่างขอไปที เพื่อให้เสร็จพ้นๆตัว ไม่ได้อย่างนี้ก็เอาอย่างนั้นเข้ามาแทน เพื่อให้งานลุล่วงไปถือว่าเป็นคนเอาแต่ได้ สับเพร่า


ใจดีสู้เสือ

         คำพังเพยสำนวนนี้มีความหมายที่เปรียบเทียบกับเสือที่เป็นสัตว์ดุร้าย เมื่อเผชิญหน้าแล้วมีทางเดียวถ้าหนีก็จะถูกเสือกัดตาย จึงต้องทำใจให้มั่น ตั้งสติให้ดี คิดว่าจะสู้เสือได้อย่างไร โบราณกล่าวเป็นคำสอนเปรียบเทียบเหมือนเสือเป็นศัตรู เป็นสิ่งที่น่ากลัว ต้องตั้งสติเผชิญโดยไม่หวั่นไหว คิดหาช่องทางทีหนีทีไล่ เพื่อให้หลุดพ้นจากอันตรายให้จงได้


เจ้าไม่มีศาล สมภารไม่มีวัด

         คำพังเพยสำนวนนี้บ่งบอกโดยตรงถึงคนที่หมดอำนาจวาสนาหรือเกิดมามีฐานะยากจนข้นแค้น ไม่มีที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง ต้องสัญจรร่อนเร่ไปตามที่ต่างๆ เหมือนเจ้าพ่อ เจ้าที่เจ้าทางที่ไร้ศาลสถิต หรือสมภารที่ไม่มีวัดจะจำศีลภาวนา มีพังเพยอีกสำนวนหนึ่งที่มีความหมายคล้ายคลึงกันคือ “คนจรหมอนหมิ่น”


เจ้าชู้ไก่แจ้

         โบราณนำคำพังเพยสำนวนนี้มาเพื่อกระทบกระเทียบกับผู้ชายโดยเฉพาะผู้ชายที่ทำตัวเป็นคนกะล่อนมะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก เห็นผู้หญิงเป็นไม่ได้ ต้องหาทางเข้าไปก้อร่อก้อตกหาทางทำความรู้จักในเชิงชู้สาว โบราณนำเอาไปเปรียบเทียบกับไก่แจ้เพราะไก่แจ้นั้นชอบป้อชอบขันเวลาเจอตัวเมีย


จูงช้างรอดรูเข็ม

         คำพังเพยสำนวนนี้ โบราณใช้คำตรงๆ พอได้ยินได้ฟังก็เข้าใจทันทีว่า มันทำไม่ได้ เรื่องอะไรที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน จึงใช้คำสำนวนนี้และอุปมาได้ชัดเจน


จูงจมูก

         คำคำนี้เป็นคำพูดธรรมดาที่โบราณเอามาใช้เป็นสองคำต่อกันคือคำกิริยา “จูง” กับคำนาม “จมูก” (ส่วนที่ร่างกายใช้หายใจ) โดยเอาไปเปรียบกับสัตว์ที่ใช้สนตะพายกับจมูกเอาไว้ผูกเชือกจูงไปคือวัวควาย ซึ่งเจ้าของจะจูงไปไหนก็ตามไป เปรียบได้กับคนที่ถูกเขาชักนำไปโดยไม่ได้ใช้ความคิดของตนเองเลย


จับให้มั่นคั่นให้ตาย

         โบราณยกคำพังเพยสำนวนนี้ขึ้นมาเพื่อใช้สอนคนว่า แม้จะทำการสิ่งใดให้สำเร็จได้ก็ต้องทำการนั้นอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่ย่อท้อ ทำด้วยความตั้งใจจริงไปจนกว่าจะสำเร็จตามปรารถนา


จับดำถลำแดง

         โบราณนำคำพังเพยสำนวนนี้มาจากการเล่นพนันในสมัยโบราณอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “อีดำอีแดง” โดยใช้เครื่องเล่นที่เป็นไม้ 3 อัน ทาสีดำ แดง และขาว เจ้ามือกำไม้ทั้งสามอันไว้ แล้วใช้ ความไวปัดไม้อันหนึ่งลงในกล่องปิดฝาไม่ให้เห็น แล้วให้ลูกค้าเล่นแทงสี ขาว หรือดำ หรือแดง ถ้าแทงผิดเจ้ามือก็กิน บางครั้งแทงสีดำแต่ออกมาเป็นสีแดง โบราณจึงนำมาเปรียบว่าการที่มุ่งอย่างหนึ่งแต่กลับไปได้อีกอย่างหนึ่งทั้งที่ไม่ต้องการ


จระเข้ขวางคลอง

         คำพังเพยสำนวนนี้ดูไปก็เป็นเรื่องธรรมดา ที่นำมากล่าวแล้วก็มองเห็นภาพชัดเกือบไม่ต้องอธิบาย โบราณมุ่งประสงค์ที่จะกล่าวถึงคนที่ทำตัวเป็นคนชอบกันท่าขัดขวาง ไม่ให้ผู้อื่นทำการอย่างหนึ่งอย่างใดได้สะดวก เหมือนกับจระเข้ใหญ่ที่ลอยขึ้นมาขวางลำคลองเรือแพไปมาไม่สะดวก ทั้งขวางทางน้ำและคนที่จะผ่านก็เกิดความกลัวไม่กล้าผ่านจนเกิดเรือแพมาคั่งกันในคลอง


จมไม่ลง

โบราณนำคำพูดธรรมดาเปรียบเทียบกับคน เป็นคำง่ายๆแต่ความหมายมีมาก อันหมายถึงคนที่เคยรวยเคยใหญ่ ใจเติบมือเติบ แม้จะยากจนลงก็ยังไม่ยอมจนยังอยากรวยอยากใหญ่เหมือนเดิม แม้จะไปกู้หนี้ยืมสินเขาก็ยอม