ค้นหาข้อมูล
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด ช.
5039 view
 Post Date:  14/8/12 - 9:15:pm
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด ช.

ชักแม้น้ำทั้งห้า

         พังเพยสำนวนนี้มีสำนวนใกล้เคียงกันอยู่อีกสำนวนหนึ่งคือ “น้ำท่วมทุ่ง” อันหมายถึงการพูดมากจนหาแก่นสารอะไรไม่ได้ คำว่า “แม่น้ำทั้งห้า” ในที่นี้โบราณนำแม่น้ำ 5 สายในอินเดียมาเปรียบเปรย คือ แม่น้ำคงคา ยมุนา เนรัญชรา สินธุ และสรัสวดี ซึ่งเป็นสายน้ำที่ทางศาสนาพราหมณ์จะยกมาอ้างถึงความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ให้กับสาวกได้เกิดความศรัทธาเชื่อถือจนกลายมาเป็นวลีที่ว่า “ชักแม่น้ำทั้งห้า” มาบอกกล่าวเพื่อหว่านล้อมให้เกิดความเชื่อจนฝ่ายตรงข้ามเห็นคล้อยตามจึงวกเข้ามาสู่เรื่องที่ต้องการจะพูด ส่วนมากจะเป็นเรื่องที่มาขอความเห็นใจ ขอผัดผ่อน (เจ้าหนี้) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของสำนวนนี้ว่า “พูดจาหว่านล้อมยกยอบุญคุณเพื่อขอในสิ่งที่ประสงค์” เชื่อกันว่าเป็นสำนวนที่นำมาจากพระเวสสันดรชาดกตอนที่เฒ่าชูชกเข้ามาขอสองกุมาร” เฒ่าชูชกก็พูดจาหว่านล้อมด้วยคำยอ ชักเอาแม่น้ำทั้งห้าเข้ามาล่อ..”


ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวมาปิด

         สำนวนคำพังเพยส่วนใหญ่จะอิงความหมายและตัวอย่างจากธรรมชาติ สัตว์ ต้นไม้ ดินน้ำลมไฟ สำนวนนี้ก็เช่นกัน เอาช้างกับใบบัวมาเปรียบเทียบกัน ถ้าพิจารณาดูให้ดีก็จะเห็นว่า ช้างทั้งตัวเอาใบบัวปิดไว้คงไม่มิด (ใบเดียว แต่ถ้าเป็นร้อยๆ ใบก็อาจจะมิด) แต่โบราณกล่าวเอาไว้เพื่อให้เป็นข้อคิดว่า ความชั่ว ความผิด เรื่องไม่ดีไม่งามทั้งหลายนั้น ไม่มีวันที่จะปกปิดได้ตลอดไป ไม่วันหนึ่งวันใดก็จะต้องปรากฏขึ้น


ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม

         สำนวนคำพังเพยสำนวนนี้ นำเอาอาชีพของคนที่ตีเหล็กเป็นมีดเป็นพร้า (มีดในภาษาลาว) มาเปรียบเทียบ เพื่อจะเตือนให้รู้ว่าการตีเหล็กที่กำลังร้อนๆ อย่าใจร้อนต้องค่อยๆ ทำค่อยๆไป เพราะถ้าเร่งตีจะทำให้เหล็กหักได้ จึงต้องตีให้ช้า ชุบเหล็กให้อ่อน ก็จะได้มีดที่มีความคมและได้รูปทรงที่งามตามที่ตั้งใจเปรียบเทียบว่างานนั้นต้องค่อยๆ คิดค่อยๆ ทำ ก็จะเกิดความสำเร็จได้ด้วยดี แต่ก็มีสำนวนอีกสำนวนหนึ่งที่ดูจะเป็นเรื่องราวที่ขัดแย้งกันคือสำนวนที่ว่า “น้ำขึ้นให้รีบตัก” คือถ้ามีโอกาสก็อย่าละโอกาสเสีย เพราะโอกาสไม่มีมาให้ฉวยบ่อยนัก


ชุบมือเปิบ

โบราณสร้างคำพังเพยคำนี้ขึ้นมาเพื่อสอนคน หรือเพื่อไว้ดูคนโดยเปรียบเทียบกับคนที่คอยนั่งรอกินข้าว โดยไม่ต้องช่วยทำอะไร พอแม่ครัวยกข้าวออกมาตั้ง ก็ลงมือชุบมือในอ่างน้ำ (โบราณกินข้าวด้วยมือ จึงต้องมีอ่างน้ำไว้ชุบมือ) ให้สะอาดแล้วก็ลงมือกิน เปรียบเหมือนคนที่ฉวยโอกาสจากคนอื่น โดยไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรเลย จะเรียกว่า เห็นแก่ตัว หรือฉวยโอกาสก็ได้




ชีปล่อยปลาแห้ง

         โบราณนำ ชี (สตรีบวชอุทิศใจสละทางโลกนุ่งขาวโกนศีรษะ) กับปลาแห้ง (หมายถึงปลาที่ตายแล้ว) มาเป็นข้ออุปมาว่า คนที่แกล้งแสดงตนเองว่าเป็นคนใจบุญสุนทาน แต่ได้แต่พูดไม่เคยแสดงให้ปรากฏ เหมือนปล่อยปลาแห้ง (ปลาตาย) เพราะจะปล่อยปลาเอาบุญนั้นเขาใช้ปลาเป็น


ชิงสุกก่อนห่าม

         โบราณสร้างคำพังเพยสำนวนนี้เพื่อสอนหนุ่มสาวโดยเฉพาะเนื่องจากผลไม้นั้นจะสุกไดต้องห่าม (เกือบสุก) เสียก่อน หนุ่มสาวเหมือนผลไม้ที่กำลังห่าม ถ้าร้อนใจไม่ระวังไปลักลอบได้เสียกันเสียก่อนที่จะมีพิธีแต่งงาน นั้นคือโบราณเปรียบว่า เป็นการทำที่ยังไม่สมควรแก่วัย หรือยังไม่ถึงเวลา


ชายสามโบสถ์

         คำพังเพยโบราณสร้างเอาไว้สำหรับให้ดูลักษณะปฏิบัติตัวของหญิงชาย มีสำนวนเต็มว่า “หญิงสามผัว ชายสามโบสถ์” อันหมายถึงผู้ชายที่บวชพระถึงสามครั้ง ผู้หญิงก็มีผัวมาแล้วถึงสามคน เป็นคำตำหนิว่าไม่น่าคบหา เพราะมีข้อบกพร่องในชีวิตดังกล่าว


ชายข้าวเปลือก หญิงข้าวสาร

         โบราณนำ “ข้าว” สองอย่างมาเป็นอุปมา คือ ข้าวเปลือก ที่หมายถึงผู้ชายนั้น ตกไปที่ใดก็งอกงามได้ง่าย เหมือนผู้ชายออกจากบ้านก็เที่ยวไป “ไข่เรี่ยราด” เอาไว้ได้ทั่วไป ส่วนผู้หญิงนั้นเปรียบเหมือนข้าวสาร ซึ่งยากนักที่จะนำไปปลูกใหม่ให้งอกงามได้ พฤติกรรมของหญิงที่แตกต่างกับชายดังนี้ อาจจะพูดได้ว่า ผู้หญิงจะมีรักเดียวผัวเดียว แต่ผู้ชายจะเป็นจำพวกมากชู้หลายเมีย


ช้าเป็นการ นานเป็นคุณ

         โบราณสร้างคำพังเพยสำนวนนี้เพื่อเตือนใจคนที่คิดทำงานว่า ต้องค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำ ก็จะประสบความสำเร็จ ดีกว่าทำแบบใจเร็วด่วนได้ อาจจะมีข้อผิดพลาดได้ง่าย เพราะไม่ได้คิดให้รอบคอบ ผลีผลามทำไป ผิดพลาดก็สายเกินแก้


ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ 

         โบราณนำคำเรียก “ชี” มาใช้ในสำนวนคำพังเพยนี้ ต้องขออธิบายเพิ่มเติมว่าหมายถึง “ชีต้น” ก็คือพระนั่นแหละ แต่เป็นพระระดับพระอาจารย์ ส่วนสงฆ์นั้นหมายถึงพระธรรมดาในสมัยโบราณจะมีความเคารพในพระสงฆ์ ชาวบ้านจะไม่จ้วงจาบกับพระสงฆ์ เพราะพระสงฆ์มีศีลมากมายถึง 227 ข้อ มีวัตรปฏิบัติที่น่าเลื่อมใส ถ้าจะมีเหตุอันใดเกิดขึ้นแก่พระสงฆ์ในเรื่องร้ายๆ ชาวบ้านก็จะไม่สนใจ ปล่อยตามเรื่องตามราว ไม่เอาเป็นธุระ หรือไม่ใช่ธุระ เพราะกลัวบาป


ชักใบให้เรือเสีย

         โบราณนำสำนวนคำพังเพยคำนี้มาใช้ในการเจรจาความต่างๆ คนที่ชอบพูดหรือทำขวางๆ ให้การสนทนาหรือการงานเขวออกไปนอกเรื่อง เปรียบเสมือนเรือที่กางใบรับลม ถ้าปรับใบเรือไม่เป็น ชักใบเรือไม่ดี ก็อาจจะทำให้เรือล่มลงได้


ชักหน้าไม่ถึงหลัง

         คำพังเพยโบราณสำนวนนี้ มีคำที่จะต้องอธิบายอยู่คำหนึ่งคือ คำว่า “ชัก” หมายถึงการ “ดึง” นั่นเอง คำนี้ใช้สำหรับการนุ่งผ้า ในกรณีที่ผ้าแคบหรือสั้น พยายามที่จะชักผ้าออกมาปิดข้างหน้า แต่ข้างหลังก็จะเปิด เหมือนการเงินที่เรามีอยู่ มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย


ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน

         โบราณสร้างสำนวนนี้เพื่อเตือนใจในการที่จะคบหาชักพาผู้คนแปลกหน้าที่เพิ่งรู้จักยังไม่รู้จิตใจซึ่งกันและกัน เข้ามาในบ้านอาจจะเป็นอันตรายได้ เหมือนชาวสวนชักน้ำเข้าร่องสวนมากเกินไปต้นไม้ก็อาจจะตายได้


ชักซุงตามขวาง

         โบราณนำการลากซุงมาเป็นสำนวนเพื่อสอนคนว่า ซุงนั้นใหญ่และยาว วิธีชักลากซุงจะต้องลากไปตามทางยาวจึงจะไปได้คล่อง แต่เมื่อไรที่ลากซุงไปตามทางขวางของซุง ก็จะลากไปได้ยากหรือลากไปไม่ได้เลย จึงอุปมาไว้ว่า ทำการใดที่ไม่ถูกวิธีย่อมจะได้รับความลำบาก การขัดขวางผู้มีอำนาจก็ย่อมจะต้องได้รับความเดือดร้อน