ค้นหาข้อมูล
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด ต.
9413 view
 Post Date:  14/8/12 - 9:07:pm
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด ต.

เตี้ยอุ้มค่อม  

         สำนวนนี้โบราณนำเอาลักษณะของคนที่มีความไม่สมประกอบของร่างกายมาเปรียบเปรยไว้ให้เห็นกันชัดๆ คือคนเตี้ยนั้นก็เหมือนคนวาสนาน้อย ตัวเองก็ยังเอาตัวเองไม่รอด ยังจะหาญเข้ามาอุ้มค่อม (คนหลังค่อมพิการ) ซึ่งก็ช่วยตัวเองไม่ได้เช่นกัน ช่วยกันไปช่วยกันมาจะพลอยล้มไปด้วยกันทั้งคู่


ตีนเท่าฝาหอย

         สำนวนนี้โบราณนำหอยเข้ามาเปรียบเทียบเพราะจะเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน คือเด็กเล็กๆ นั้นตีน (หรือเท้า) จะมีขนาดเล็กเท่าๆ กับฝาหอย (กาบ) สำนวนนี้ใช้เป็นสำนวนกระทบกระแทกแดกดันทำนองว่า เลี้ยงมาแต่ตีนเท่าฝาหอย ยังจะมาอวดดี” หรือมีสำนวนอีกสำนวนหนึ่งว่า “เลี้ยงมาแต่หัวเท่ากำปั้น” ซึ่งมีความหมายเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีคำเพิ่มเติมไว้ที่มีความหมายเดียวกัน คือ “แบเบาะ” หรือ “เตาะแตะ” หรือ “ฟันน้ำนมยังไม่ขึ้น”


ตลกตามพระ

         สำนวนนี้โบราณจับเอามาไว้สำหรับเป็นการเปรียบเปรยแดกดันถากถางเช่นกัน คือเปรียบตัวตลกของลิเก หรือพระเอกลิเกก็จะมีฐานะ (ในเรื่องต่างกัน) ตลกจะต้องว่าตามพระเอกขัดใจไม่ได้ พระเอกว่ายังไงก็เออออไปด้วย โบราณจึงเปรียบคนที่ไม่มีความคิดได้แต่ว่าตามเขาไปว่าเป็น “ตลกตามพระ (เอก) แต่มีอีกคำหนึ่งที่มีความหมายตรงข้ามคือ “ตลกแดก”


ตัดไฟแต่ต้นลม

         สำนวนนี้จะใช้ว่า “ตัดไฟแต่หัวลม” ก็ได้ เพราะหัวกับต้นคล้ายกัน หมายถึง การตัดต้นเหตุเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามต่อไป เรียกกันว่า แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หรือขจัดความชั่วร้ายที่บ่อเกิด เพื่อมิให้ลุกลามจนแก้ไขไม่ได้ทำนองว่า ให้ระมัดระวังไว้ก่อน ก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้น


ตกกระไดพลอยโจน

         โบราณคิดสำนวนคำพังเพยคำนี้ขึ้นเพื่อเตือนให้คนระวังตัวอย่าทำเหมือนคนจะตกกระไดเลยต้องพลอยโจนตาม เปรียบได้ว่า การที่ต้องเข้าไปเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งๆ ที่ตนเองก็ไม่ได้เป็นคนก่อ


ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

         คำนี้เป็นคำสุภาษิต ที่โบราณแปลความมาจากคำตรัสของพระพุทธองค์ที่ว่า “อัตตา หิ อัตตโน นาโถ” ซึ่งแปลความว่า “ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งแห่งตน” สำนวนนี้มุ่งหวังที่จะเตือนผู้คนว่า การใดอันเป็นการที่เรานั้น จักต้องยึดมั่นอยู่ว่า จักต้องทำให้สำเร็จด้วยตนเอง แม้มีอุปสรรค ก็จักแก้ไขด้วยตนเองจะมิพักต้องไปร้องขอพึ่งใคร เพราะคนอื่นนั้น เขาไม่ได้มาได้เสียเดือดร้อนด้วยกับเรา


ตัดหางปล่อยวัด

         สำนวนนี้มาจากความเชื่อของโบราณที่ว่า หากแม้ตัดหางไก่ ตัดหางสุนัข แมว เอาไปปล่อยไว้ จะสามารถสะเดาะเคราะห์ให้สิ้นเคราะห์ได้ แต่ความหมายของคำพังเพยนี้หมายถึง การตัดขาด ไม่เกี่ยวข้อง ไม่เอาธุระอีกต่อไป


ตำข้าวสารกรอกหม้อ

         คนโบราณสร้างสำนวนคำพังเพยนี้ขึ้นมาสอนคนให้เข้าใจว่า แต่ก่อนคนโบราณปลูกข้าวเก็บข้าวเปลือกเอาไว้ตำเป็นข้างสาร โดยเริ่มแต่ตำข้าวเปลือก เอาไปร่อนให้เหลือเป็นข้าวสาร คนที่ขี้เกียจตำ ก็จะตำพอแค่เพียงหุงกินไปมื้อๆ หนึ่ง พอจะกินมื้อหน้าค่อยมาตำกินใหม่ โบราณกล่าวว่า คนอย่างนี้เป็นคนขี้เกียจหลังยาว มีชีวิตไปวันๆ หนึ่งอย่างไม่มีจุดหมาย ใช้ชีวิตแบบสมถะเกินไป ตามเพื่อนบ้านไม่ทัน


ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

         โบราณสร้างสำนวนนี้จากสภาพของธรรมชาติที่มองเห็น คือ แม่น้ำที่มีความกว้างยาว แม้ตำน้ำพริกเอาลงไปละลายในแม่น้ำก็จะไม่มีอะไรเหลือให้เห็นว่าเป็นน้ำพริก ท่านจึงเปรียบกับการทำงานที่ลงทุนเสียใหญ่โตเกินตัว เปลืองเงินมากมาย ไร้ประโยชน์ จึงสมควรที่จะคิดให้รอบคอบก่อนที่จะทำการใดๆ


ตักน้ำรดหัวตอ

         คำพังเพยสำนวนนี้เป็นสำนวนถากถาง มีคำที่คล้ายกันคือคำว่า “ตักน้ำรดหัวสาก” หมายถึง แนะนำพร่ำสอนเท่าไรก็ไม่ได้ผล ทำนองเดียวกับ “สีซอให้ควายฟัง” คือแนะนำคนโง่เท่าไรก็ไร้ประโยชน์ ถ้าจะผูกคำสำนวนนี้เข้าด้วยกันก็จะเป็น “ตักน้ำรดหัวตอ สีซอให้ควายฟัง” หัวตอก็คือไม้ที่ตายแล้ว
ควายก็เป็นสัตว์ พูดภาษาคนจึงไม่รู้เรื่อง


แต่งกับงาน

         สำนวนนี้ดูออกจะใหม่และทันสมัย แต่คำเดิมก็มีเพียง “แต่งงาน” “งานแต่งงาน” หรือ “งานแต่ง” คำพังเพยนี้มักจะใช้เปรียบเทียบกับสตรีมากกว่าบุรุษ เป็นคำที่มาจากสำนวนฝรั่งแต่ไทยเราจำมาดัดแปลง หมายถึงคนที่ทำแต่งานจนลืมนึกถึงเรื่องมีคู่จนต้อง “ขึ้นคาน” ไปไม่สามารถจะแต่งงานได้ เพราะกว่าจะรู้ตัวก็เลยวัยแต่งงานไปแล้ว ก็เลยแต่งกับงานไปเถอะ

ไต่ไม้ลำเดียว

         โบราณนำเอากรรมวิธีของชาวสวนมาตั้งเป็นสำนวนสอนคนคือในสวนแต่ละขนัดจะใช้ไม้ไผ่พาดเดินระหว่างร่องสวน การเดินบนสะพานไม้ไผ่ลำเดียวนี้จะต้องใช้ความสามารถและความระมัดระวังจึงจะเดินข้ามได้ เปรียบเหมือนการกระทำการใดๆ โดยลำพังตัวคนเดียวอาจจะพลาดพลั้งได้


ตีหลายหน้า

         คำพังเพยนี้เป็นคำพูดโบราณบอกกล่าวถึงคนที่มีนิสัยตลบตะแลงกลับกลอก หลอกลวง เหมือนคนที่ใส่หน้ากากหลายหน้า ซึ่งแตกต่างจากปกติธรรมดาของคนที่มีเพียงหน้าเดียว


ตีนถีบปากกัด

         สำนวนคำพังเพยสำนวนนี้โบราณสร้างไว้เพื่อเตือนใจคน ให้มีมานะพยายามทำงานเพื่อปากท้อง โดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยาก ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อชีวิต คำพังเพยคำนี้บางครั้งใช้คำว่า “ปากกัดตีนถีบ”


ตีวัวกระทบคราด

         โบราณนำเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนามาตั้งเป็นคำพังเพยบอกกล่าวการกระทำของคน โดยเอา “คราด” ที่เป็นเครื่องมือทำนาใช้ลากให้ดินร่วนซุยมาใช้เทียมด้วยวัวเมื่อเวลาเร่งวัวเดินตีวัวก็จะกระทบคราดไปด้วย เปรียบเหมือนโกรธคนหนึ่งแต่ทำอะไรเขาไม่ได้ ไพล่ไปรังควานเอากับวัว (คือเป็นคนอื่นแต่เรามีอำนาจทำได้)


ตีปลาหน้าไซ

         โบราณชักเอาเครื่องมือจับสัตว์น้ำคือ “ไซ” เอามาเปรียบเทียบกับคนที่ชอบพูดหรือทำให้การงานของคนอื่นที่กำลังดำเนินไปด้วยดี ต้องเสียไป


ตีตนไปก่อนไข้  

       โบราณนำคำพังเพยนี้มาให้คนคิดว่า อย่าไปกังวลทุกข์ร้อนหรือหวาดกลัวเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น คำพังเพยนี้บางครั้งใช้ว่า “ตีตนตายไปก่อนไข้”


ตีงูให้กากิน

         โบราณกล่าวไว้เป็นคำพังเพยคำนี้เพื่อบอกกล่าวคนว่า ทำสิ่งใดไว้แล้วแต่ผลประโยชน์กลับไปตกแก่ผู้อื่น หรือทำในสิ่งที่ควรได้รับประโยชน์แต่กลับไม่ได้ เรื่องนี้จึงเหมือนตีงูให้กากิน (แต่ตนเองไม่ได้กิน)

ติเรือทั้งโกลน

         โบราณนำการทำงานเกี่ยวกับไม้มาใช้เป็นคำพังเพยสอนมนุษย์นั่นคือการโกลนไม้ทั้งท่อนให้กลายเป็นเรือหนึ่งลำ ระหว่างการโกลน (คือการแต่ง)จะเห็นว่ายังไม่เป็นรูปลำเรือเด่นชัด แต่ก็มีคนค่อนว่ามันจะเป็นเรือหรือเปล่า แล้วจะสวยไหม นี้โบราณจึงว่าเป็นการติเรือทั้งโกลน คือชอบตำหนิสิ่งที่ยังทำไม่เสร็จ หรือยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร


ตาบอดสอดตาเห็น

         โบราณนำอาการของคนตาบอดที่ชอบสอดรู้สอดเห็น (ทั้งๆ ที่ไม่เห็น) มาเป็นอุปมาให้เห็นว่า อย่าทำตนอวดรู้ในเรื่องที่ตัวไม่รู้ (ไม่เห็น) คำพังเพยนี้มาจากนิทานโบราณเรื่องตาบอดสอดตาเห็น ซึ่งเป็นเรื่องชายตาบอดที่อวดว่ารู้ว่าเห็นทุกอย่าง เช่น เดินไปด้วยกันกับคนตาดี คนตาดีต้องการจะแกล้งคนตาบอด (ที่ชอบสอดรู้) จึงร้องว่างู คนตาบอดตกใจกระโดดออกจากทาง พลางว่าแหมมันเกือบกัดเอาแน่ะ คนตาดีว่า ไม่ใช่หรอกเชือกน่ะ ชายตาบอดก็ว่า เออนั่นสิไม่เห็นมันเลื้อยไปทางไหน ว่ากันอย่างนั้น จึงกลายเป็นเรื่องตลก (ในวงเหล้า)


ตัวตายตัวแทน

         พังเพยสำนวนนี้โบราณต้องการยืนยันเรื่องของมนุษย์ที่มุ่งมั่นต่องานว่า จะต้องทำไปจนกว่าตาย แม้ไม่สำเร็จยังมีคนทำงานนี้แทนต่อไปและต่อไป ไม่มีวันสะดุดลงได้ คือแม้ตัวตายก็ยังมีตัวแทนนั่นเอง


ตัดไม่ตายขายไม่ขาด

         โบราณนำเรื่องราวของทั้งพืชและมนุษย์มาผสมผสานกันอย่างลงตัว และมีความหมายในเชิงเปรียบเทียบชัดเจนคือ การตัดต้นไม้ที่ขยายพันธุ์ด้วยหน่อ แม้จะตัดต้นทิ้งแล้วหน่อก็ยังแพร่ ขยายต่อไปได้อย่างไม่มีวันตาย และการขายของสิ่งใดก็ตามเมื่อมีสัญญากันว่าถ้าไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็จะรับคืน เช่น ผ้าผืนนี้สีไม่ตก ถ้าตกจะขอรับคืน อย่างนี้เรียกว่าขายไม่ขาดความหมายก็คือ ยังไงก็ไม่อาจห้ามใจไม่ให้ช่วยเหลือ (ถ้าลงรักละก็)


ตักบาตรอย่าถามพระ

         โบราณคิดยกเอาพระมาเทียบกับฆราวาสได้ชัดเจนก็คือ พระนั้นท่านมีหน้าที่ที่จะต้องรับบิณฑบาต เมื่อถึงเวลาใส่บาตรก็ไม่ต้องถามท่านว่าจะรับบาตรหรือไม่ เพราะยังไงท่านก็เต็มใจอยู่แล้ว เปรียบคนที่คิดจะให้อะไรกับใครที่เต็มใจรับอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องไปถามว่าจะเอาหรือไม่ เพราะเขารับอยู่แล้ว





ตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงา

         โบราณนำภาชนะที่ใช้ใส่น้ำที่ทำด้วยกะลามะพร้าว หรือตามที่เรียกว่ากะโหลกมาเปรียบเทียบว่า คนเรานั้นเมื่อจะทำอะไรก็ขอให้ดูตัวเองก่อนว่า เราเป็นคนมีฐานะอย่างไร จะต้องมีความเจียมเนื้อเจียมตัว ไม่ให้คนดูหมิ่นได้ การพิจารณาตนเองเช่นนี้ โบราณจึงสอนให้เอากะโหลกใส่น้ำมาส่องดูหน้าตัวเอง เพื่อให้รู้ตัวเอง เป็นการเตือนสติทางอ้อม


ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก

         โบราณฉลาดที่จะนำผลไม้สองอย่างมาเปรียบเทียบให้เห็นความเป็นไปของมนุษย์ คือมะพลับกับตะโก ที่มีผลคล้ายคลึงกันมาก แต่มะพลับนั้นจะมีรสชาติหวานอร่อย ส่วนตะโกนั้นจะมีรสฝาดและขื่น กินไม่ได้ โบราณจึงเปรียบเทียบให้เห็นความเป็นมนุษย์สองหน้าให้เห็นว่า เมื่ออยู่ต่อหน้าก็พูดจาดีด้วย แต่พอลับหลังก็ว่ากล่าวใส่ร้ายป้ายสีให้เสียหาย พูดจาเหมือนหน้ามือเป็นหลังมือ


ตบหัวลูบหลัง

         โบราณนำเอาอาการกิริยาของคนที่แสดงต่อกันมาสร้างเป็นคำพังเพยเพื่อบอกถึงนิสัยของคนว่า การที่มีคนมาพูดว่าเราให้สะเทือนใจแล้วต่อมาภายหลังกลับมาพูดปลอบใจแสดงความเห็นใจ ดังนี้เรียกกันว่า อาการของคนที่มีจิตใจชั่วร้ายไม่น่าคบเพราะเป็นคนตลบตะแลง ไม่จริงใจ เรียกอาการนี้ว่า “ตบหัวแล้วลูบหลัง”


ตกม้าตาย

         สำนวนนี้คนโบราณนำมาจากวรรณกรรมเรื่องสามก๊ก ที่มักจะใช้คำบรรยายในการรบว่า รบกันสามเพลงโจผีก็ถูกทวนแทงตกม้าตาย หมายถึงการทำอะไรที่รวดเร็ว ยุติเร็ว


ตกเป็นเบี้ยล่าง

         โบราณนำสำนวนนี้มาจากการเล่นกีฬาหมากรุก ที่มีเบี้ยเป็นกองหน้ารุกเข้าไปพิชิตขุนที่เป็นแม่ทัพใหญ่ ที่มีโคน เม็ด ม้า เรือ เป็นกองระวัง ดังนั้นเบี้ยจึงถูกสังหารก่อนใคร ถ้าใครรักษาเบี้ยไว้ได้มากก็ถือว่าได้เปรียบ เรียกกันว่า “เบี้ยบน” ส่วนผู้ที่มีเบี้ยน้อยกว่าก็จะเป็นฝ่ายเสียเปรียบเรียกกันว่า “เบี้ยล่าง” โบราณจึงเอามาเปรียบเทียบกับผู้ที่ตกเป็นรองหรือเสียเปรียบว่า “ตกเป็นเบี้ยล่าง”


ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้

         โบราณนำคำพังเพยนี้มาเป็นการเปรียบเทียบกับคนที่มีคุณความดี มี