ค้นหาข้อมูล
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด ท.
4536 view
 Post Date:  14/8/12 - 9:04:pm
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด ท.

ท้องยุ้งพุงกระสอบ
         สำนวนนี้เป็นคำพังเพยที่โบราณกล่าวขานถึงคนที่กินจุ “กินเหมือนยัดหมอน” เปรียบเหมือนคนที่กินไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอสำนวนอีกคำหนึ่งคือ “ชูชก” ซึ่งเป็นตัวละครเดินเรื่องสำคัญในพระเวสสันดรชาดก กล่าวว่า ชูชกนั้นกินอาหารอร่อยๆ ที่พระเจ้าสีพีเอามาให้จนถึงขั้นท้องแตกตาย


ทุบหม้อข้าว
         สำนวนนี้ใช้กันเต็มๆ คือ “ทุบหม้อข้าวหม้อแกง” หรือ “ทุบหม้อข้าวตัวเอง” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้คำนิยามว่า “ทำลายอาชีพ” เพราะ “ทุบหม้อข้าว” มีความหมายว่าตัดอาชีพ ตัดทางทำมาหากิน หรือทำลายอาชีพ หรืออีกความหมายหนึ่งเป็นความหมายตรงข้ามเหมือน “ตายดาบหน้า” หรือ “ไปตายเอาดาบหน้า” สำนวนนี้มาจากประวัติศาสตร์ตอนที่พระเจ้าตากตีเมืองจันทบุรี ทรงตรัสสั่งให้ไพร่พลหุงข้าวหุงปลากินกันอิ่มหนำแล้ว ก็ตรัสสั่งให้ทุบหม้อข้าวหม้อแกงทั้งหมดแล้วตรัสว่า “ถ้าตีเมืองจันทบุรีเข้าไปหุงข้าวกินในเมืองไม่ได้ ก็ให้ตายกันให้หมดพร้อมกัยเถิด” ปรากฏว่าไพร่พลตีเมืองจันทบุรีแตกเพราะจิตวิทยาเรื่องหม้อข้าวหม้อแกงของพระเจ้าตากสินนี่แหละ


ทำนาบนหลังคน
         สำนวนนี้ก็มาจากอาชีพของคนเราที่ในสมัยโบราณก็มีอาชีพทำนากันเป็นพื้น ต้องลงแรงทั้งไถ หว่าน ปักดำ และเกี่ยว สำนวนที่ว่า “ทำนาบนหลังคน จึงหมายถึงการหาประโยชน์ใส่ตนโดยการขูดรีดผู้อื่นนั่นเอง


ทำคุณบูชาโทษ
         คำพังเพยสำนวนนี้มีเพิ่มมาอีกคำหนึ่งว่า “โปรดสัตว์ได้บาป” เป็นคำพูดง่ายๆ เตือนใจคนว่า การทำคุณกลับเป็นโทษ ทำดีแต่กลับเป็นร้าย การอย่างนี้ยังมีในโลก เพราะมนุษย์นั้นมีจิตสูงต่ำไม่เหมือนกัน และมักจะมองกันในมุมตรงกันข้ามเสมอ


ทาสในเรือนเบี้ย
         โบราณนำเรื่องราวของทาสมาสร้างเป็นคำพังเพยให้คนทั่วไปได้ทราบ และเอาไปเปรียบเทียบกับเรื่องราวของชีวิตได้ นั่นคือทาส ที่เรียกกันว่า ทาสในเรือนเบี้ย ซึ่งเป็นลูกของทาสที่นายเงินซื้อมา (อาจเรียกว่าทาสน้ำเงินก็ได้) ทาสพวกนี้จะถูกสั่งให้ทำงานโดยไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นโบราณจึงเปรียบกับคนที่ต้องทำงานโดยไม่มีสิทธิ์โต้แย้งว่าเป็นเหมือนทาสในเรือนเบี้ย


ทอดสะพาน
         โบราณนำประเพณีบ้านที่อยู่ริมคลองจะต้องมีสะพานไว้สำหรับทอดรับแขกที่จะมาเยือนให้ข้ามคลองมา ถ้าไม่ใช้ก็จะชักสะพานเก็บไว้ ในคำพังเพยนี้โบราณต้องการให้พ่อแม่ได้เอาใจใส่ในความประพฤติของลูกสาวว่าจะมีทีท่าให้ท่าให้ทางกับผู้ชายหรือไม่ กิริยานั้นเรียกว่า “การทอดสะพาน” ผู้ชายเห็นก็จะเดินเข้ามาหาได้ง่ายๆ ซึ่งผิดลักษณะของกุลสตรี


ทางเตียนเวียนลงนรก ทางรกวนขึ้นสวรรค์
         โบราณนำเรื่องของหนทางเดินมาเปรียบเทียบเป็นคำพังเพยเตือนใจคนว่า ทางเตียนนั้นราบเรียบสะดวกสบายเดินง่ายเหมือนความชั่วนั้นทำได้ง่าย ส่วนทางที่รกรุงรัง มีทั้งอุปสรรคขวากหนามสารพัดานั้นก็เหมือนความดีที่จะทำได้ยาก ต้องใช้ทั้งความพยายาม ความอดทน จึงจะบรรลุถึงความดีและไปสู่ทางสวรรค์


ทองไม่รู้ร้อน
         โบราณนำเอา “ทองคำ” มาสร้างเป็นคำพังเพยเพื่อเตือนสติคนว่า ทองคำนั้นเมื่อนำไปหลอมละลาย ก็จะละลายกลายเป็นทองเหลว (น้ำทอง) โดยที่ทองคำเองก็ไม่ได้รู้ถึงความร้อนนั้น นำมาเปรียบเทียบกับคนที่เฉยเมย ไม่กระตือรือร้น ใช้ชีวิตไปวันๆ ไม่สะดุ้งสะเทือน ไม่รู้ร้อนรู้หนาวปล่อยตัวตามสบายเหมือนทองที่ไม่รู้จักความร้อน ทั้งๆ ที่ตัวเองถูกความร้อนหลอมละลายเป็นของเหลวไปแล้ว คนอย่างนี้โบราณไม่นิยมเชื่อถือ