ค้นหาข้อมูล
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด บ.
3206 view
 Post Date:  14/8/12 - 9:02:pm
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด บ.

เบี้ยล่าง เบี้ยบน
         คำสองคำนี้มีความหมายตรงกันข้าม จึงต้องนำมาเขียนให้เห็นพร้อมกัน เหมือนกับเบี้ยคว่ำ เบี้ยหงาย หรือมือชั้นสวะกับ มือชั้นเซียน อธิบายคำว่าเบี้ยล่าง ก็คือ ผู้ที่อยู่ในฐานะเสียเปรียบ ส่วนเบี้ยบนคือ ผู้ที่อยู่ในฐานะได้เปรียบ ฝ่ายหนึ่งเป็นรอง ฝ่ายหนึ่งเป็นต่อ ซึ่งจะดูสิ่งที่เป็นรูปธรรมได้ในกระดานหมากรุก หรือหมากฮอสส์ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานกล่าวคำนิยามไว้ว่า เบี้ยล่างคือ “ใต้อำนาจ เสียเปรียบและเป็นรอง” เบี้ยบนคือ “มีอำนาจเหนือ ได้เปรียบและเป็นต่อ”


บ่อนแตก 
         โบราณนำเรื่องราวที่เกี่ยวกับการพนันมาเป็นอุปมาให้เห็นรูปธรรมชัดคือ บ่อน ซึ่งหมายถึงสถานที่เล่นการพนัน บ่อนแตกคือ สภาพของนักพนันที่หนีตำรวจ แต่มีคำอธิบายความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า บ่อนแตกคือ โดนอาละวาด หรือต่ำอย่างไม่ไว้หน้า เรียกว่าถูกทำลายความสุขสงบ หรือโดนก่อกวนเรียกอีกอย่างว่า “ทลายบ่อน” นั่นเอง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานใหคำอธิบายเรื่องบ่อนแตกนี้ไว้ว่า คือการก่อเรื่องที่ทำให้คนที่มาชุมนุมต้องเลิกไปกลางคัน หรือจะว่าต้องเลิกชุมนุมไปกลางคันเพราะมีคนมาก่อเรื่องก็ได้


บุญทำกรรมแต่ง
         เป็นสำนวนโบราณที่ต้องการจะบอกให้คนรู้ว่า คนเราที่เกิดมามีรูปร่างหน้าตา ฐานะและพวกพ้องบริวารหรือไม่อย่างไร ย่อมเกิดแต่กุศลผลบุญหรือบาปกรรมที่สั่งสมเอาไว้แต่ชาติปางก่อนส่งผลให้เป็นไป พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า “บุญทำกรรมแต่ง” คือ “บุญหรือบาปที่ทำไว้ในชาติก่อน เป็นเหตุทำให้รูปร่างหน้าตาหรือชีวิต ของคนเราในชาตินี้สวยงาม ดีชั่ว เป็นต้น”  เป็นคำสอนให้คนเราอย่าอิจฉาตาร้อน ให้เร่งสร้างความดี เพื่อความสุขสบายในชาติหน้า ชีวิตของคนเรามีโอกาส จังหวะ และฐานะต่างกัน ทั้งรูปร่างผิวพรรณก็ต่างกัน บ้างมีโชค บ้างเคราะห์ร้ายล้วนเป็นเรื่องของกรรมที่ส่งผลให้เป็น ใครสร้างกรรมดี ก็ได้ความดีตอบสนอง ใครสร้างกรรมชั่ว ก็ได้กรรมชั่วตอบสนอง เช่น พุทธภาษิตที่ว่า “กงเกวียนกำเกวียน” นั่นแหละ มีคำที่เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง กล่าวไว้ว่า “บุญมา ปัญญาก็ช่วย ที่ป่วยก็หาย ที่หน่ายก็รัก “ และ “บุญไม่มา ปัญญาไม่ช่วย ที่ป่วยก็หนัก ที่รักก็หน่าย”


เบี้ยต่อไล้ 
         เป็นสำนวนเปรียบเปรย ถึงการหาเงินที่ได้มาอย่างฝืดเคือง และเป็นจำนวนน้อยพอยาไส้ไปวันหนึ่ง เป็นเรื่องของคนเบี้ยน้อยหอยน้อย ใช้ชีวิตอยู่อย่างฝืดเคือง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้คำอธิบายไว้ว่า “เบี้ยต่อไส้ เป็นเงินหรือสิ่งของที่หามาได้พอประทังชีวิตไปวันๆ หนึ่ง”


บ้านเมืองมีขื่อมีแป
         โบราณนำเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องเรือนโบราณมาเปรียบเทียบเป็นคำพังเพยให้คนได้เห็นว่า บ้านเมืองนั้นจะต้องมีกฏหมายคุ้มครอง จึงจะสามารถปกครองประเทศได้ เปรียบบ้านที่จะต้องมีขื่อ (ไม้ยึดเสา) หรือแป (ไม้ยึดหลังคา) คุ้มครองบ้านมิให้โค่นล้ม ดังนี้


บ้านแตกสาแหรกขาด
         โบราณนำเอาเครื่องใช้อย่างหนึงที่มีความสำคัญในชีวิตของคนโบราณคือ “สาแหรก” มายกเป็นคำพังเพยเปรียบเทียบชีวิตของคนให้ฟังกัน ก่อนอื่นต้องขอแนะนำเรื่อง “สาแหรก” ให้เป็นความรู้เบื้องต้น เพราะปัจจุบันนี้ “สาแหรก” เกือบจะหมดสิ้นไปจากชีวิตประจำวันของคนไทยเราแล้ว สาแหรกคือเครื่องใช้สำหรับหิ้วหรือหาบ ทำด้วยหวายมีสี่สาย ตอนบนทำเป็นหูสำหรับหิ้ว หรือใช้สอดไม้คาน (ไม้สำหรับใช้การหาบคอน) ตอนล่างขัดเป็นสี่เหลี่ยมสำหรับรองกระจาด (ที่ใส่ของสานด้วยหวายหรือไม้ไผ่) ความหมายของสาแหรกคือ ความเป็นญาติพี่น้องโยงใยกันในตระกูล หากมีเรื่องราวร้าวฉานก่อให้เกิดการแตกแยกในระหว่างญาติ ครอบครัว หรือบ้านเมืองจนต้องกระจัดกระจายในระหว่างญาติ ครอบครัว หรือบ้านเมืองจนต้องกระจัดกระจายพลัดพรากจากกัน นั่นคือสภาพของคำที่ว่า “บ้านแตกสาแหรกขาด”


บ่างช่างยุ
         โบราณนำเอาสัตว์ชนิดหนึ่งเป็นสัตว์ป่า ลักษณะคล้ายกระรอกมีหนังเป็นพังผืดสองข้างของลำตัว ตั้งแต่คอไปถึงปลายนิ้วตีนและปลายหาง เมื่อกางออกจะคล้ายปีกนก ใช้ร่อนลงไปจากที่สูงโดยไม่ต้องไต่ และไปได้ไกลๆ โบราณนำคำว่า “บ่างช่างยุ” มาจากนิทานสุภาษิตที่มีเนื้อเรื่องว่า บ่างอาศัยร่วมกับค้างคาวในป่า ทั้งบ่างและค้างคาวต่างก็กินผลไม้เป็นอาหาร แต่บ่างนั้นเคลื่อนไหวช้าทำให้ออกหากินไม่ทันค้างคาวจึงเกิดความเดือดร้อนมิประสงค์จะให้ค้างคาวอยู่ร่วมกัน ณ ที่ต้นไม้นั้นมีนกและหนูทำรังอยู่ด้วยกัน ค้างคาวนั้นไปหานกก็ว่าเป็นนกเพราะบินได้ ไปหาหนูก็ว่าเป็นหนูเพราะหน้าตาเหมือนกัน นกและหนูจึงรับค้างคาวเป็นเพื่อน บ่างจึงหวังที่ให้ค้างคาว หนูและนกต้องแตกกันจึงไปเล่าบอกข้อเท็จจริงให้ฟัง และยุว่าค้างคาวเป็นสัตว์ร้ายจะนำเอาพิษมาทิ้งไว้ให้นกหนูตาย (เพราะขี้ค้างคาวมีกลิ่นแรง) นกหนูเชื่อบ่างจึงช่วยกันขับไล่ไม่ให้ค้างคาวอยู่ที่ต้นไม้นั้น ค้างคาวจึงต้องจากไป โบราณนำเอาคำพังเพยนี้มาเตือนคนว่าคนที่พูดส่อเสียดยุยงให้แตกกันว่าเป็นพวก”บ่างช่างยุ”


บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น
         โบราณนำธรรมชาติมาสร้างเป็นคำพังเพยเตือนคนโดยนำเอาบัวมาเปรียบเทียบว่า เวลาเด็ดดอกบัวอย่าเด็ดแรง ไม่เช่นนั้นดอกบัวจะช้ำ และการเด็ดแรงต้องใช้กำลังดึงก้านบัวก็จะทำให้น้ำขุ่น จึงต้องทำให้บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น โดยรู้จักผ่อนปรนเข้าหากัน ถนอนน้ำใจ ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน
บ่นออดเป็นมอดกัดไม้
         โบราณนำคำพูดบ่น (คือการพูดพร่ำ พูดซ้ำซาก ตลอดเวลา เหมือนมอด (สัตว์ในดินชนิดหนึ่งลักษณะคล้ายปลวกแต่ตัวเล็กกว่า) ที่ชอบกัดไม้ (หรือกระดาษ) มาสร้างเป็นคำพังเพยเตือนคนว่า อย่าทำตนเป็นคนขี้บ่น พูดไม่หยุด พูดมาก จะทำให้เกิดความรำคาญของคนฟัง และไม่มีใครอยากฟัง


บนบานศาลกล่าว
         คำพังเพยคำนี้โบราณแยกคำและความหมายที่นำมาสร้างเป็นคำพังเพยสองคำคือ คำว่า “บนบาน” (การขอร้องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยเหลือ โดยจะมีสิ่งตอบแทนหรือทำตามเมื่อการบนบนานั้นสำเร็จลงตามปรารถนา) ส่วน “ศาล” นั้น หมายถึงศาลพระภูมิ ศาลเจ้าหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีสำนวนที่ใกล้เคียงกับอีกสำนวนหนึ่งคือ “บนข้าวผี ตีข้าวพระ”