ค้นหาข้อมูล
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด พ.
3809 view
 Post Date:  14/8/12 - 8:58:pm
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด พ.

พอเหล้าเข้าปากความยากก็หายไป
         สำนวนคำพังเพยนี้เป็นสำนวนใช้กระทบกระแทกแดกดันกันพอดื่มเหล้านิสัยก็เปลี่ยน บางคนจากเรียบร้อยเป็นมุทะลุ จึงเรียกเหล้าว่า “น้ำเปลี่ยนนิสัย” คนดื่มเหล้าแล้วความยากหายไปเพราะดื่มแล้วจะกลายเป็นคนใจใหญ่ ตัดสินใจทำอะไรไม่มีการไตร่ตรอง ดื่มเหล้าแล้วจากคนกลัวจะกลายเป็นคนกล้าโดยเฉพาะกล้าที่จะกระทำความผิด เพียงความคิดชั่วแล่น แต่จะนำความทุกข์มาให้โดยไม่รู้ตัว


พบไม้งาม เมื่อยามขวานบิ่น
         พังเพยสำนวนนี้โบราณมุ่งเปรียบเปรยในเรื่องที่เกี่ยวกับบุรุษสตรีโดยเฉพาะ จะหมายความโดยตรงไปถึงบุรุษที่ไปพบสตรีถูกใจตอนที่ตนเองนั้นแก่เกินแกง ไม่เหมาะสมกันเสียแล้ว จะเปรียบเหมือนมีขวานตัดไม้ ก็ใช้ขวานนั้นเสียจนเกินกำลังจนขวานบิ่น พอเจอไม้สวยอยากจะตัดก็หมดสภาพขวานเสียแล้ว


แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร
         โบราณนำ “พระ” มาเปรียบเทียบกับ “มาร” เพื่อสร้างเป็นคำพังเพยสอนใจมนุษย์ว่า การเอาชนะคะคานกันด้วยเรื่องเหลวไหลไร้ประโยชน์ไม่เป็นคุณแก่ชีวิต ถ้าฝ่ายหนึ่งยอมอดใจที่จะสงบไม่ต่อล้อต่อเถียง ความสงบย่อมบังเกิดแล้วจะเกิดความสุขตามมา ไม่มีเหตุการณ์บานปลายไปได้ เปรียบเช่น “พระ” ที่เป็นผู้ทรงศีลหลุดพ้นจากกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง ทั้งปวงก็เป็นที่กราบไหว้บูชา ส่วนมารนั้นคือผู้มีใจบาปหยาบช้า สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น จึงเปรียบได้ว่าเป็นมาร มีแต่ผู้คนสาปแช่ง


พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง
         คำพังเพยสำนวนนี้โบราณนำมาตราวัดค่าของเงินตรามาเปรียบเทียบให้เห็นว่า พูดไปนั้นไร้ประโยชน์ สู้นิ่งเสียจะดีกว่า เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รับความรู้เรื่องมาตราวัดค่าของเงินโบราณ ก็จะอธิบายให้ฟังดังนี้คือ มาตราเงินตามวิธีประเพณีนั้นเริ่มที่ 2 อัฐ เท่ากับ 1 ไพ (3 สตางค์) 100 สตางค์ เท่ากับ 1 บาท เงิน 4 บาท เท่ากับ 1 ตำลึง อัตราแลกเปลี่ยนที่มีค่าต่ำที่สุด ตำลึงจึงมีค่ามากกว่า ไพ และตำลึงทอง คือ ทองหนัก 4 บาท


พุ่งหอกเข้ารก
         โบราณนำคำสำนวนนี้ยกขึ้นมาเปรียบเทียบกับคนที่มีนิสัยหยาบทำงานอย่างลวกๆพอให้เสร็จๆ ไป โดยไม่คำนึงถึงผลงานหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น เปรียบเช่นเดียวกับการที่พรานพุ่งหอกเข้าไปในที่รกที่ไม่สามารถมองเห็นสัตว์ที่เป็นเป้าหมายก็ไร้ประโยชน์ บางทีอาจเสียประโยชน์ไปด้วยก็ได้
พายเรือทวนน้ำ
         โบราณนำเอาลักษณะของการทำกิจกรรมของคนยกขึ้นมาเปรียบเทียบว่า น้ำมันมีกระแสไหลแรง การพายเรือทวนน้ำนั้นจึงมีความยากลำบากมากกว่าที่จะพายเรือตามน้ำ ดังนั้นคนที่ต้องทำงานที่ยากลำบาก ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากจึงเปรียบเสมือนคนที่พายเรือทวนน้ำ


พอแย้มปากก็เห็นไรฟัน
         โบราณยกเอาเรื่องของปากและฟันมาเป็นอุทธาหรณ์สอนใจมนุษย์ และเพื่อความเข้าใจจะขออธิบายถึงคำว่า “ไรฟัน” นั้น หมายถึง แถวของซี่ฟันที่เรียงรายอยู่ในปากช่วงที่มีเหงือกหุ้มนั่นเอง สำนวนนี้มีความหมายว่า “รู้เท่าทัน” ยังมีสำนวนพังเพยอีกสำนวนหนึ่งที่มีความหมายคล้ายกันคือ “อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่”


พร้างัดปากไม่ออก
         โบราณใช้สำนวนคำพังเพยนี้บอกถึงลักษณะของคนที่ไม่ชอบพูด มีแต่นิ่งฟัง หรืออาจจะใช้กับผู้ที่ถูกบังคับให้พูดแล้วไม่ยอมพูด แม้จะตีด่าเฆี่ยนฆ่าอย่างไร มีคำที่ใช้คล้ายกันอีกสำนวนหนึ่งคือ “พร้าคัดปากไม่ออก” และมีอีกสำนวนหนึ่งที่มีความหมายคล้ายๆ เช่นกันคือสำนวนที่ว่า “อ้อยเข้าปากช้าง”


พระอิฐพระปูน
         โบราณนำพระพุทธรูปที่ทำด้วยหินหรือปูนมาเปรียบเทียบกับคนที่นิ่งเฉยวางเฉย ไม่เดือดร้อน ไม่ยินดียินร้าย ว่าเหมือนพระพุทธรูปที่ตั้งบูชาไว้เท่านั้น