ค้นหาข้อมูล
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด ม.
8821 view
 Post Date:  14/8/12 - 8:56:pm
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด ม.

ไม้ไผ่ยังต่างปล้อง พี่น้องยังต่างใจ
         พังเพยสำนวนนี้โบราณมุ่งที่จะให้เห็นถึงสัจธรรมของชีวิตที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมไม่เหมือนกันเป็นธรรมดา ยืนยัยความจริงที่ว่า ในกอไผ่ทั้งกอ ไม้ไผ่ในกอยังมีลักษณะต่างกัน มีปล้องยาว ปล้องสั้น นับประสาอะไรพี่น้องกัน มันก็เป็นคนละคนคนละใจ นิสัยใจคอก็แตกต่างกันไป คำพังเพยนี้จึงไม่มีอะไรที่ซ่อนไว้ลึกจนนึกไม่ได้ เพราะเป็นคำพูดตรงๆ ที่เกือบจะไม่ต้องแปล


มดแดงแฝงพวงมะม่วง
         เป็นคำพังเพยในเชิงเสียดสี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า “ชายที่ปองรักหญิงบ้านอยู่ใกล้ หรือ ที่อยู่ใกล้กัน และคอยกีดกันไม่ให้ชายอื่นมารัก โดยที่ตนเองก็ไม่สามารถที่จะทำให้ผู้หญิงรักได้ด้วย” มีคำที่ใกล้เคียงกันอยู่คำหนึ่งคือคำว่า “รักคุด” หรือรักเขาข้างเดียวเหมือนข้าวเหนียวนึ่ง น้ำท่วมไม่ถึงแห้งแหงแก๋


ไม่ลืมหูลืมตา
         คำพังเพยสำนวนนี้เป็นอุปมาเตือนคนให้มีสติ ว่าให้ดูให้รอบคอบหรือพิจารณาให้ดี แต่มีสำนวนที่มีความหมายตรงกันข้ามคือ “ไม่ดูดำดูดี” หมายถึง เลิกกันโดยสิ้นเชิง และ “ไม่ฟังอีร้าค่าอีรม” คือไม่ยอมฟังเสียงใคร สำนวน “ไม่ลืมหูลืมตา” เป็นสำนวนที่ใช้กระแนะกระแหนเสียดสี หรือกระทบกระเทียบ แม้จะเป็นสำนวนพื้นๆ แต่ก็มีความหมายที่ดี เป็นโบราณเปรียบเปรยที่สร้างภาพพจน์ที่ดีสำนวนหนึ่ง มีสำนวนที่คล้ายๆกันอีกสำนวนหนึ่งคือ “หลับหูหลับตา”


แม่ปูสอนลูกปู
         สำนวนคำพังเพยนี้เป็นสำนวนที่นำมาจากพื้นฐานนิทานอีสปซึ่งเป็นนิทานสอนใจ อย่างคำพังเพยที่ว่า กระต่ายตื่นตูม หรือ กบเลือกนาย ที่ได้บอกกล่าวเอาไว้แล้วในตอนต้น ความหมายของสำนวนนี้หมายถึงเรื่องที่ตัวเองก็ทำไม่ดี แต่ยังหาญไปสอนคนอื่น ตำหนิคนอื่น ทั้งๆ ที่ตนเองก็เป็นเช่นเดียวกันเป็นสำนวนเชิงถากถางคนที่เที่ยวสอนคนอื่น ทั้งที่ตัวเองก็อยู่ในสภาพเดียวกัน


ไม้ตาย
         คำนี้เป็นคำง่ายๆ สำนวนง่ายๆ มีความหมายถึงไม้เด็ดซึ่งเป็นอย่างเดียวกัน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้นิยามความหมายไว้ว่า “ท่าสำคัญในการต่อสู้กระบี่กระบองหรือมวยซึ่งทำให้ปรปักษ์ไม่สามารถจะต่อสู้ได้อีก” ทั้งยังบอกว่าตรงข้ามกับ “ไม้เป็น” มักจะใช้เป็นสำนวนอีกอย่างหนึ่งว่า “ท่าไม้ตาย” หรือ “ท่าไม้เด็ด” หรือ “ลูกทีเด็ด” มีคำอีกคำหนึ่งที่ใช้ในเชิงความหมายเดียวกันคือ “เส้นตาย” หรือ “ขีดเส้นตาย”


ม้าดีดกระโหลก
         สำนวนนี้ใช้ลักษณะอาการของม้ามาใช้เป็นเชิงเปรียบเทียบกับอาการบางอย่างของสตรีเพศ ม้านั้นเมื่อคะนองหรือพยศจะแสดงอาการดีดเท้าและโขกหัว คำนี้กล่าวถึงสตรีแสดงอาการกิริยาลุกลน ท่าทางกระโดกกระเดกไม่เรียบร้อย มองแล้วไม่เป็นกุลสตรี เป็นสำนวนที่ใช้สำหรับพูดถากถางกัน


มีสลึงพึงประจบให้ครบบาท
         สำนวนคำพังเพยคำนี้ใช้มาตราเงินโบราณมาใช้เป็นเชิงเตือนให้เกิดความรู้ลึกที่ดี  มาตราเงินโบราณจะเริ่มที่ 25 สตางค์ เป็น 1 สลึง 4 สลึงเป็น 1 บาท 4 บาทเป็น 1 ตำลึง 20 ตำลึงเป็น 1 ชั่ง (80 บาท) เป็นสำนวนที่ใช้สำหรับเตือนใจให้เป็นคนอดออม รู้จักเก็บ รู้จักใช้เงินเก็บออมครั้งละ 1 สลึง เก็บไปนานๆ ก็อาจกลายเป็นหลายชั่งได้


ไม้หลักปักเลน
         สำนวนนี้โบราณนำธรรมชาติของดินมาใช้เปรียบเทียบว่า เลนซึ่งเป็นดินเหลวไม่มีความแน่นมั่นคง เมื่อเอาไม้ปักลงไปไม้ก็จะโอนเอนไปตามความเหลวของดิน บางสำนวนใช้ว่า “ไม้หลักปักขี้ควาย” ความหมายของคำพังเพยสำนวนนี้ หมายถึงคนที่มีใจโลเลไม่แน่นอน พูดหรือทำอะไรเชื่อถือไม่ได้


ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก
         โบราณสร้างคำพังเพยนี้ขึ้นมาเตือนสติคนที่ตั้งใจจะสั่งสอนใครให้มีความยับยั้งชั่งใจตรวจดูให้รู้แน่ว่า คนที่จะสั่งสอนนั้นเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เพราะเด็กนั้นเหมือนไม้อ่อนเอาลนไฟดัดให้รูปร่างเป็นเช่นไรก็ย่อมจะง่าย ต่างจากผู้ใหญ่ที่เหมือนไม้แก่ รู้มากยากนาน รู้น้อยพลอยรำคาญจะพูดจะสั่งสอนอะไรก็ยาก หากข่มเขาโคขืนเข้าไปมากๆ ก็อาจจะหักเอาง่ายๆ


ไม้ล้มเงาหาย
         โบราณยกเอาธรรมชาติ มาสร้างเป็นคำพังเพยสอนมนุษย์เพื่อให้เชื่อว่า บุญวาสนานั้นไม่ได้ยั่งยืนเสมอไป เวลามีบุญมีวาสนาอยู่ในตำแหน่งใหญ่โตก็มีคนมาหาแทบหัวบันไดไม่แห้ง แต่พอหมดวาสนา ไม่มีอำนาจผู้คนที่เคยไปมาหาสู่ก็หมดไป เหมือนต้นไม้ใหญ่มีร่มใบดกฝูงนกกาก็บินมาอาศัย แต่พอเกิดแห้งเหี่ยวล้มหายตายไป หมดร่มเงา นกกาก็ไม่มาทำรังเหมือนเก่าก่อน คำพังเพยนี้จะพูดว่าเป็นคติชีวิตอย่างหนึ่งก็ได้


ไม่รู้จักเสือเอาเรือเข้ามาจอด
         โบราณนำคำพูดมาร้อยกรองเป็นสำนวนสอนคนว่า อย่าทำในสิ่งที่รู้ว่าจะเป็นภัยต่อตนเอง โดยเปรียบเทียบให้ฟังว่า เสือนั้นเป็นสัตว์ดุร้าย การเอาเรือเข้าไปจอดโดยไม่รู้ว่ามีเสือ ก็อาจจะถูกเสือทำร้ายเอาได้ มีคำสำนวนอีกสำนวนหนึ่งที่มีความหมายคล้ายคลึงกันคือ “ไม่รู้จักมอดเอาไม้เข้ามาวาง” มอด เป็นสัตว์เล็กๆ ที่ชอบกินไม้ เอาไม้มาวางในที่มีมอดก็จะถูกมอดกินหมด


ไม่มีเงาหัว
         โบราณยกเอาคำคำหนึ่งมาสร้างเป็นคำพังเพยเพื่อบอกให้คนรู้ว่าในสมัยโบราณนั้นมีความเชื่อกันว่า คนที่มีเคราะห์จะถึงแก่ความตายนั้นจะมีลางบอกเหตุให้คนอื่นเห็นว่า เงาไม่มีศีรษะความเชื่อเช่นนี้เกิดจากสมัยก่อน ถ้ามีโทษหนักจะต้องถูกลงทัณฑ์ถึงขั้นตัดศีรษะ ผู้คนจึงกลัวกันมาก และพูดถึงคนที่จะตายว่า “ไม่มีเงาหัว” โบราณจึงเอามาสร้างคำพังเพยเอาไว้เตือนผู้คนที่ไม่กลัวเกรงกฎหมายว่า เป็นคนที่ไม่มีเงาหัว


แมวไม่อยู่ หนูระเริง
         โบราณเห็นว่าแมวกับหนูนั้นเป็นศัตรูกัน แมวเห็นหนูก็จะไล่กัด หนูเห็นแมวก็จะวิ่งหนี จึงนำเอาแมวกับหนูมาสร้างเป็นคำพังเพยบอกกล่าวว่า แมว หมายถึงผู้ใหญ่ไม่อยู่ หนูที่เปรียบเหมือนเด็ก ก็จะมีความสุขสนุกสนานเฮฮาได้ไม่ต้องกลัวผู้ใหญ่มาดุด่าว่ากล่าว


เมื่อพีเนื้อหอม เมื่อผอมเนื้อเหม็น
         โบราณนำคำที่ต้องอธิบายมาใช้สร้างเป็นคำพังเพยสำนวนนี้สองคำ คือคำว่า “พี” ที่แปลว่า “อ้วน” ในที่นี้หมายถึง คนที่มั่งมีเงินทอง ส่วนคำว่า “ผอม” นั้นหมายถึง ไม่มีเนื้อมีแต่หนังหุ้มกระดูก หรือหมายถึง คนที่ยากจนไม่มีจะกิน โบราณจึงเอามาเปรียบกับชีวิตคนว่าเมื่อยามร่ำรวยเงินทองคนก็มาห้อมล้อม แต่พอยากจนลง ก็ไม่เห็นหัวเห็นหน้าหนีหายไปจนสิ้น


มือถือสาก ปากถือศีล
         โบราณนำของสองสิ่งที่มีความหมายตรงกันข้ามมาสร้างเป็นคำพังเพยสอนคนคือ “สาก” (เครื่องมือใช้คู่กับครกสำหรับตำเป็นไม้ความยาวประมาณ 1 ฟุต) กับ “ศีล” ที่เป็นข้อบัญญัติทางพุทธศาสนา เช่น ศีล 5 ศีล 8 หรือศีล 10 โบราณมาสร้างเป็นคำพังเพยเตือนใจคนให้รู้จักสังเกตคนที่พูดแสดงตนว่าเป็นคนมีศีลมีธรรม แต่กลับประพฤติชั่วดื่มเหล้าเล่นการพนัน อีกสำนวนหนึ่งที่มีความหมายคล้ายๆ กันคือ “ปากอย่างใจอย่าง”


มืดแปดด้าน
         โบราณสร้างคำพังเพยนี้ขึ้นเพื่อให้คนได้ไตร่ตรองถึงความเป็นไปได้ในการครองตน คือบางครั้งทั้งๆ ที่เราไม่ได้ทำผิด แต่ไม่รู้ใครทำ ซึ่งการกระทำมีผลมากระทบตัวเราให้รับผิดชอบไปด้วย และค้นหาคนผิดไม่ได้การณ์อย่างนี้เรียกว่า “มืดแปดด้าน” คำว่า ด้าน ในที่นี้หมายถึงทิศทั้งแปดคือ เหนือ ใต้ ตะวันตก ตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันตกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงใต้ นั่นเอง


มาเหนือเมฆ
         โบราณอาศัยความเชื่อในเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ว่าผู้มีวิชานั้น สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ นำมาสร้างเป็นคำพังเพยพูดถึงคนที่มีความคิดชั้นเชิงเหนือผู้อื่น เหมือนคนที่เหาะมาเหนือเมฆ


มัดมือชก 
         โบราณยกคำพูดเพียงสามพยางค์ คือ “มัดมือชก” มาสร้างคำพังเพยให้แลเห็นง่ายๆ ว่า คนที่ถูกมัดมือไว้ ไม่มีทางต่อสู้ก็จะถูกทำร้ายฝ่ายเดียว ไม่สามารถปกป้องตนเองได้ การกระทำอย่างนี้ก็คือบังคับ หรือใช้วิธีการอื่นใดให้ฝ่ายหนึ่งตกอยู่ในภาวะจำยอม ไม่มีทางต่อสู้


มะพร้าวตื่นดก 
         โบราณนำความเป็นไปของธรรมชาติมาสอนใจคนด้วยคำพังเพยนี้ เพื่อจะพูดถึงคนที่ไม่เคยมี ยากจนข้นแค้นมาตลอด แต่บังเอิญไปได้ลาภก้อนโตมา ก็เที่ยวพูดจาคุยโขมงด้วยความตื่นเต้น สภาพอย่างนี้เหมือนมะพร้าวที่เริ่มออกผลครั้งแรก จะให้ผลดกจนเต็มต้น สำนวนนี้ใช้ควบกับอีกสำนวนหนึ่งว่า “ยาจกตื่นมี” (ทำนองขอทานถูกหวย นั่นแหละ)


มะกอกสามตะกร้า ปาไม่ถูก
         โบราณยกคำพังเพยนี้เป็นอุปมาถึงคนที่มีนิสัยตลบตะแลง จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ขนาดเอามะกอก (ผลไม้ชนิดหนึ่งลูกขนาดเล็กเท่าหัวแม่มือ) ถึงสามตะกร้าเอามาปายังปาไม่ถูก