ค้นหาข้อมูล
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด ล.
6163 view
 Post Date:  14/8/12 - 8:52:pm
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด ล.

ลิ้นกระด้างคางแข็ง
         สำนวนคำพังเพยที่โบราณใช้ลิ้นนำมาเปรียบเทียบเป็นอุปมามีหลายสำนวน เช่น การพูดประจบสอพลอ หรือพูดเอาใจ เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการเรียกว่า “ลิ้นกระดาษทราย” พูดกลับกลอกตลบตะแลง เรียกว่า “ลิ้นไม่มีกระดูก” หรือ “ลิ้นตวัดถึงใบหู” นอกจากนี้ยังมีคำว่า “ลิ้นลาย” หรือ “ลิ้นลม” หรือ “ลิ้นทอง” หรือ “ลิ้นทูต” หรือ “ลิ้นลังกา” ก็เป็นสำนวนที่เกี่ยวกับการพูดทั้งสิ้น นอกจากนั้นยังมี การพูดปลิ้นปล้อน ยอกย้อนซ่อนเงื่อน พูดจาคล่องจนตามไม่ทันหรือพูดวกวน เรียกว่า “ร้อยลิ้นกะลาวน” สำนวนที่พูดว่า “ลิ้นกระด้างคางแข็ง” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้นิยามไว้ว่า ปากกล้า โต้เถียงไม่ละลด เป็นสำนวนที่ใช้ในบทกลอน (บทกลอนตอนหนึ่งในเสภาขุนช้าง ขุนแผน)


เลี้ยงลูกเสือลูกจระเข้
         ความหมายของสำนวนคำพังเพยนี้โบราณต้องการสอนให้คนรู้ว่า การรับเลี้ยงลูกของศัตรู หรือลูกของคนพาล ผู้เลี้ยงจะได้รับความเดือดร้อนใจในภายหลังแน่นอน เหตุเพราะลูกเสือลูกจระเข้นั้นพอโตขึ้นมันก็ต้องเป็นเสือเป็นจระเข้อยู่วันยันค่ำ เพราะพื้นฐานนิสัยนั้นยังมีความเลวอยู่ในสันดาน ถึงพยายามจะเลี้ยงให้เป็นคนดี ก็มิอาจจะดีได้ มีสำนวนที่มีความหมายคล้ายๆ กันอยู่อีกสำนวนหนึ่งก็คือ “เอาลูกเขามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเขามาอม” และ “เลี้ยงลูกลิงลูกค่าง” หมายถึงลูกที่ซุกซนชอบปีนป่ายเหมือนลิงเหมือนค่าง และอีกอย่างหนึ่งคือ “เลี้ยงลูกหมา” สำนวนนี้หมายถึงลูกเลวที่ไม่ใช่ลูกคน (แม้จะเป็นลูกในสายเลือดตนเอง)


ลงแส้ม้าตาย
         สำนวนนี้เป็นสำนวนโบราณแท้ แต่ไม่แพร่หลาย จนผู้คนไม่คิดว่าเป็นของโบราณแต่คิดขานขึ้นมาใหม่ เช่น คำว่า “ตลาดมืด” หรือ “แกะดำ” ซึ่งเป็นคำที่มีฐานมาจากภาษาต่างประเทศแม้แต่คำว่า “กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว” หรือ “รักฉันต้องรักหมาฉันด้วย” สำนวน “ลงแส้ม้าตาย” นี้พื้นฐานเดิมมาจากที่พูดกันในสนามม้าเปรียบม้าที่ฝีเท้าต่ำ ลงแส้ยังไงมันก็ไม่มีวันจะชนะ เหมือนกับตีม้าตายแล้วนั่นแหละ ความหมายของคำพังเพยนี้หมายความว่า การงานที่ไร้ผลนั้น จะชักชวนชักจูงแนะนำให้ใครๆ เขาทำ ก็เสียเวลาเปล่า มีคำที่มีความหมายใกล้เคียงกันอยู่อีกสำนวนหนึ่ง คือ “ปล้ำผีลุกปลุกผีนั่ง”


เลือดกับเหล็ก
         คำพังเพยสำนวนนี้หมายถึงการต่อสู้แบบเลือดตกยางออกทั้งสองฝ่าย จึงมีสำนวนตามมาอีกว่า “เลือดล้างเลือด” หรือ “ล้างด้วยเลือด” มีสำนวนใกล้เคียงกันอยู่สำนวนหนึ่งคือ “เนื้อหุ้มเหล็ก” ซึ่งหมายถึงคนขี่รถมอเตอร์ไซค์ คนขี่คือเนื้อ รถมอเตอร์ไซค์คือเหล็ก


ลูกไก่อยู่ในกำมือ
         เป็นที่รู้กันว่าสำนวนนี้โบราณต้องการเปรียบเทียบคนที่อ่อนแอ (เหมือนลูกไก่) เมื่อต้องตกอยู่ในกำมือ (คืออำนาจ) ก็ย่อมจะมิอาจจะต่อสู้หรือขัดขืนได้


เล่นกับหมา หมาเลียปาก
         สำนวนนี้โบราณได้บัญญัติยืนยันไว้เพื่อให้คนทั่วไปตระหนักว่าการที่จะให้ความสนิทสนมกับผู้ใดต้องดูอุปนิสัยของเขาให้แน่ชัดว่า เป็นคนที่เจียมเนื้อเจียมตัว คบหาได้ แม้จะมีฐานะความเป็นอยู่ต้อบต่ำกว่า ก็ไม่น่ารังเกียจ แต่ยังมีคนอีก ประเภทหนึ่งคือ ไม่มีความเจียมตน ทำตนเสมอ บางครั้งทำการเกินหน้าคิดว่าตัวเองมีคนคอยช่วยค้ำจุน อย่างนี้โบราณเปรียบว่า เล่นกับหมาหมามันก็ลามมาเลียหน้าเลียตา มีสำนวนเทียบเคียงกันอีกสำนวนหนึ่งคือ “เล่นกับสาก สากตีหัว”


เล่นกับไฟ
         โบราณใช้คำพังเพยคำนี้สอนคน (โดยเฉพาะสตรี) ว่าอย่าเล่นกับไฟ หรือลองดี หรือเสี่ยงกับสิ่งที่รู้ว่าจะเป็นอันตรายเหมือนเช่นการปล่อยตัวไปเที่ยวในที่ลับกับชายสองต่อสองนั่นคือเสี่ยงต่อการที่จะพลาดท่าเสียที เสียตัว เสียพรหมจรรย์ให้กับชาย (ถ้าชายนั้นเป็นเพียงชายกระเบน ไม่ใช่ชายที่เป็นสุภาพบุรุษ)


ละเลงขนมเบื้องด้วยปาก
         โบราณนำเรื่องราวเกี่ยวกับวรรณคดี เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนศึกสองเมีย สร้อยฟ้าศรีมาลามีการประกวดประชันการทำขนมเบื้องซึ่งต้องใช้ความสามารถ สร้อยฟ้านั้นไม่เคยทำ จึงดีแต่พูดเวลาทำจริงๆ ไม่ได้เรื่อง แม่ทองประศรีจึงว่าสร้อยฟ้าว่าดีแต่ละเลงขนมเบื้องด้วยปาก จึงกลายมาเป็นคำพังเพยที่เวลาจะว่าคนที่ดีแต่พูดทำไม่ได้ว่า เป็นคนที่ละเลงขนมเบื้องด้วยปาก


ล้วงคองูเห่า
         โบราณยกเอาสัตว์เลื้อยคลานที่มีพิษมากกัดแล้วตายได้ทันที คือ “งูเห่า” มาสร้างเป็นคำพังเพยบอกคนทั้งหลายว่า คนที่ไม่มีความกลัวเกรง บังอาจลักขโมยหรือล่อลวงเอาทรัพย์สินจากผู้มีอำนาจ (ที่เป็นเสมือนงูเห่ามีพิษร้าย) ได้แม้จะทำได้ แต่ก็คงอยู่ไม่รอด เพราะวันหนึ่งผู้มีอำนาจนั้นก็จะตามมาลงโทษเพราะข่าวเรื่องถูก “ล้วงคองูเห่า” นี้มันเป็นศักดิ์ศรี ซึ่งจะไม่มีใครยอมใครง่ายๆ