ค้นหาข้อมูล
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด ว.
5367 view
 Post Date:  14/8/12 - 8:51:pm
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด ว.

ว่ายน้ำหาจระเข้ 
         สำนวนพังเพยคำนี้ เป็นพังเพยเชิงถากถางที่โบราณให้ไว้สำหรับบอกกล่าวคนที่ไม่ยอมเชื่อฟังคำตักเตือนของผู้ใหญ่ ผลสุดท้ายก็เกิดความทุกข์ ประเภท “รนหาที่” หรือ “อยู่ดีไม่ว่าดี” มีสำนวนที่มีความเทียบเคียงกันก็คือ “พื้นฝอยหาตะเข็บ” หรือ “เห็นกงจักรเป็นดอกบัว” หรือ “ไม่ดูตาม้าตาเรือ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้คำนิยามไว้ว่า “เสี่ยงเข้าไปทั้งๆ ที่รู้ว่าจะมีอันตราย” เหมือนรู้ว่าว่ายน้ำเข้าไปที่นั่นจะพบกับจระเข้ร้าย จะถูกเขมือบก็ไม่หวั่นเกรง จะเป็นด้วยไม่ทราบหรือว่าท้าทาย ก็เป็นสิ่งที่ต้องคิดก่อนทำทั้งสิ้น


วัวไม่มีหลัก ฟักไม่มีร้าน
         สำนวนนี้โบราณสร้างขึ้นมาเพื่อบอกกล่าวถึงชีวิตคนที่ไร้ที่พักพิงไร้ที่พึ่งพา พลัดที่นาคาที่อยู่ แต่มีสำนวนที่มีความหมายคล้ายๆ กันอยู่ว่า “วัวพันหลัก ฟักพันร้าน” ในสำนวนนี้มีคำที่ต้องขยายความอธิบายอยู่สองคำ คือคำว่า “หลัก” และคำว่า “ร้าน” หลัก คือไม้สำหรับผูกเชือกล่ามวัว ร้าน คือเพิงไม้ไผ่ ที่ทำด้วยไม้ไผ่ซีกไขว้กันเป็นตารางสี่เหลี่ยม มีเสาสี่มุมค้ำ เพื่อใช้สำหรับให้ฟักที่เป็นพืชเถาเลื้อยขึ้นไปเวลาออกผลจะแลเห็นห้อยเป็นระย้าน่าดู วัวมีหลักสำหรับผูกยึด ฟักมีร้านสำหรับเลื้อยเกาะเมื่อไม่มีหลักไม่มีร้าน ก็เหมือนคำกล่าวที่ว่า “หลักลอย” หรือ “ร้านทะลาย” นั่นแหละ มีสำนวนคำพังเพยที่มีความหมายใกล้เคียงกันอีกหลายสำนวน อาทิ “คนไม่มีหลักแหล่ง” หรือ “เจ้าไม่มีศาล” หรือ “สมภารไม่มีวัด” หรือ “พเนจรร่อนเร่” หรือ “ไม่มีหัวนอนปลายตีน” ก็เข้าหลักนี้ทั้งสิ้น


วัวเห็นแก่หญ้า ขี้ข้าเห็นแก่กิน
         สำนวนนี้โบราณใช้เป็นคำถากถาง บางทีก็ใช้ว่า “วัวเห็นแก่หญ้า ขี้ข้าเห็นแก่เงิน วัวที่เห็นแก่หญ้า คือชอบที่จะกินหญ้าอ่อนๆ เขียวๆ สดๆ ไม่สนใจหญ้าแห้ง หรือขี้ข้าที่เห็นแก่กิน เพราะไม่ค่อยจะได้กินของดีๆ พอได้กินก็รีบกินเอาๆ แบบตะกละตะกลาม ความหมายของคำพังเพยนี้ก็คือ “คนที่เห็นแก่ได้” หรือ “คนที่เอาแต่ได้โดยไม่นึกถึงสิ่งอื่น” จึวมีสำนวนเปรียบเทียบเอาไว้ว่า “เห็นแก่กินเดี๋ยวจะสิ้นปัญญา เห็นแก่หญ้าเดี๋ยวจะพาอับจน” ดังนี้


วัวลืมตีน
         คำพังเพยสำนวนนี้ เป็นคำที่โบราณกล่าวไว้เป็นการถากถางกระทบกระแทก เสียดสี ซึ่งมีความหมายเช่นเดียวกับ “คางคกขึ้นวอ” หรือ “กิ้งก่าได้ทอง” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้คำนิยามไว้ว่า “คนที่ได้ดีแล้วลืมตัว” คือลืมความหลังลืมกำพืดเดิมของตน หรือจะว่าเป็นคนที่ลืมเงาหัวของตัวเองก็พอจะมีความหมายไปกันได้ สำนวนนี้ส่วนมากผู้ใหญ่มักจะใช้กับเด็ก หรือผู้ที่อ่อนอาวุโสกว่า


วัวสันหลังหวะ
         โบราณนำธรรมชาติของสัตว์ชนิดหนึ่งในท้องนาคือ “วัว” มาเป็นตัวตั้งสำนวนคำพังเพย เพื่ออุปมาให้เห็นว่า เมื่อวัวมีแผลที่หลัง พอเห็น “อีกา” ซึ่งเป็นนกในท้องนาบินผ่านมาก็จะเกิดอาการเสียวสันหลังที่เป็นแผล กลัวว่าอีกาจะร่อนลงมาเกาะหลังจิกกิน อุปมาเหมือนคนที่มีความผิดติดตัว ก็จะมีความหวาดระแวง มีชีวิตอยู่อย่างไม่เป็นสุข เพราะกลัวว่าคนอื่นจะมาพบความผิดของตัว


วัวหายล้อมคอก
         คำพังเพยสำนวนนี้นิยมใช้กันมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบันก็ยังนิยมกันอยู่ เพราะเหตุการณ์ลักษณะวัวหายล้อมคอกนั้นยังมีปรากฏอยู่ตลอดมา โบราณเอาสัตว์ประจำบ้านช่วยการทำนามาเป็นตัวอุปมา โดยตั้งเรื่องว่า ในครั้งแรกชาวนาประมาทเอาวัวผูกไว้ใต้ถุนบ้าน โดยไม่มีคอกล้อมต่อมาวัวถูกขโมย จึงคิดได้ว่า ถ้าทำคอกล้อมวัวไว้ ขโมยก็จะไม่สามารถเข้ามาลักเอาไปได้ง่ายๆ จึงคิดสร้างคอกล้อมวัวภายหลังที่วัวได้หายไปแล้วการอย่างนี้โบราณต้องการเตือนคนทั้งหลายว่า การใดก็ตามที่น่าจะเป็นอันตรายจะต้องมีการป้องกันมิให้เกิดเหตการณ์ร้ายได้ อย่ามาหาทางแก้ภายหลังที่เกิดเหตุการณ์นั้นแล้ว ซึ่งไร้ประโยชน์ไม่ควรกระทำ


วันพระไม่มีหนเดียว
         โบราณนำเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมะมาสร้างเป็นคำพังเพยสำนวนนี้ แทนที่จะเป็นสำนวนบอกกล่าวในทางธรรมกลับมีความหมายตรงกันข้าม เพราะหมายถึงการอาฆาตแค้น เหมือนไม่วันใดก็วันหนึ่งข้างหน้าจะต้องเจอกัน (หมายถึงการเฆี่ยนฆ่ากันทีเดียว) เพื่อให้ทราบเรื่องราวของวันพระเป็นเรื่องเสริมความรู้ (สำหรับผู้ไม่รู้บ้าง) จะขอบอกเรื่องวันพระว่า วันพระที่ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ (วันพระใหญ่) วันพระ 8 ค่ำ (วันพระเล็ก) มีวันพระอีกสองวันคือ วันแรม 15 ค่ำ (เรียกว่า วันพระมืดใหญ่) และวันแรม 8 ค่ำ (เรียกว่าวันพระมืดเล็ก) เดือนหนึ่งมี 4 วันพระ