ค้นหาข้อมูล
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด อ.
4261 view
 Post Date:  14/8/12 - 8:45:pm
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด อ.

หัวล้านนอกครู
         สำนวนคำนี้เป็นสำนวนกล่าวแบบแสดงอาการตำหนิติเตียนเป็นสำนวนแต่ก็มีความหมายที่พอเป็นตัวอย่างได้ ยังมีสำนวนที่มีลักษณะเทียบเคียงกันอีกหลายคำ เช่น  “นอกคอก” หรือ “ผ่าเหล่าผ่ากอ” หรือ “แกะดำ” ความหมายของคำว่า “หัวล้านนอกครู” นี้หมายถึงนอกรีตนอกรอย ไม่อยู่ในจารีต นอกลู่นอกทาง คือการที่มีความรู้ ความเก่ง ความฉลาดเกินไปเลยทำอะไรที่ไม่ควร ไม่รู้อะไรดี อะไรชั่ว เรียกกันว่า “ดีแตก” นั่นแหละ โดยทั่วไปจะมีสำนวน “หัวล้านใจน้อย” แต่ในสำนวนนี้หัวล้านคือ คนที่อวดเก่ง ถือดีเอาแต่ใจ เอาแต่ความคิดของตัวเอง


หันหน้าเข้าวัด
         สำนวนนี้โบราณานเอาไว้ตรงๆ เกือบจะไม่ต้องแปล เพราะการกันหน้าเข้าวัด ก็คือการตัดกิเลสทางโลกโดยสิ้นเชิง เข้ามาหาความร่มเย็นในวัดเพื่อความสุขสงบ จะเข้าโดยลักษณะใดก็ได้ แต่ความหมายว่า เมื่อเข้ามาวัดแล้ว ก็มาทำตัวให้อยู่ในศีลในธรรมอาจจะกลายเป็นอุบาสก อุบาสิกา ไปเลยก็ได้


หากินตามชายเฟือย
         คำพังเพยสำนวนนี้โบราณนำคำๆ หนึ่งมาใช้ เป็นคำที่ไม่ค่อยจะมีคนทราบ คือคำว่า “ชายเฟือย” ซึ่งจำเป็นจะต้องอธิบายคำให้เข้าใจชัดเจนเสียก่อน ซึ่งจะแบ่งเป็นสองคำ คือคำว่า “เฟือย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้คำนิยามไว้ว่า “ที่ริมน้ำที่มีหญ้าหรือไม้ขึ้นระเกะระกะอยู่” ส่วน “ชายเฟือย” หมายถึง “ริมน้ำที่มีหญ้ารกๆ หรือมีไม้น้ำปกคลุม” มีความหมายในเชิงอุปมาว่า ที่ที่สะดวกที่ง่ายๆ ความหมายง่ายๆ ของคำว่า “หากินตามชายเฟือย” ก็คือ “หาปูหาปลาตามชายฝั่ง ไม่ต้องใช้เครื่องมือมากมาย” หรือจะพูดว่า “หากินพอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง” ส่วนนี้หมายไปถึงคำว่า “กินตามน้ำ” คือไม่โกงกิน ไม่เบียดเบียนหรือรีดนาทาเร้น แต่ก็ยินดีในส่วนที่ตนพึงจะได้แม้นิดๆ หน่อยๆ ก็ยังดี


หนามแหลมบ่มีใครเสี้ยม มะนาวกลมเกลี้ยงบ่มีใครกลึง
         สำนวนนี้ดูจะมีโวหารคล้องจองดี บอกถึงความเป็นสัจธรรมอีกด้วย สำนวนนี้โบราณนำเอาอุปมามาใช้ว่า หนามแหลม หมายถึงความคิดที่แหลมคม และความกลมของลูกมะนาวก็คือความกลิ้งกลอกของคนเช่นกัน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้นิยามของสำนวนนี้ว่า “คนที่มีไหวพริบตามธรรมชาติโดยไม่ต้องมีใครสอน”


หนักไม่เอาเบาไม่สู้
         สำนวนคำพังเพยสำนวนนี้โบราณก็จัดไว้ในจำพวก ประณามถากถาง ดูหมิ่นต่อผู้ที่มีจิตใจอ่อนแอ ไม่มีความอดทนที่จะทำงาน ทั้งยังเกียจคร้าน การงานไม่ใส่ใจ ปล่อยชีวิตล่องลอยเป็นสวะไปวันๆ เอาแต่เที่ยว กิน เล่น สำนวนที่มีความหมายตรงข้ามก็คือ “หนักก็เอา เบาก็สู้” คนอย่างนี้โบราณกล่าวสรรเสริญว่า จะเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตแน่นอน


หน้าเนื้อใจเสือ
         คำพังเพยสำนวนนี้โบราณสร้างอุปมาจากสัตว์สองชนิด ที่มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงคือ “เนื้อ” (เป็นสัตว์กินพืชชนิดหนึ่งในสัตว์จำพวกตระกูลกีบลักษณะคล้ายกวาง ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปแล้ว) ส่วน “เสือ” นั้นไม่ต้องพูดถึงมากก็รู้จักและเข้าใจว่ามันเป็นสัตว์ประเภทกินเนื้อ ดุร้าย คนที่โบราณกล่าวว่าเป็นคนหน้าเนื้อใจเสือนั้นก็คือคนที่แสดงความเมตตาสงสารแต่หน้าส่วนใจนั้นคิดร้าย ทำลาย สำนวนที่เทียบเคียงได้อีกก็คือ “ปากอย่างใจอย่าง” หรือ “ปากปราศรัยใจเชือดคอ” หรือ “ยิ้มไว้ข้างหน้าซ่อนดาบไว้ข้างหลัง”


หนีร้อนมาพึ่งเย็น
         คำพังเพยสำนวนนี้โบราณยกเอามาเปรียบกับการรบทัพจับศึกในสมัยโบราณนั้นเมืองที่มีความเดือดร้อนจากการศึก ก็จะอพยพหนีไปยังถิ่นอื่นที่มีความร่มเย็นเป็นสุขกว่า ซึ่งเท่ากับเปรียบเทียบให้ฟังว่า สงครามไม่เคยทำให้คนเป็นสุขมีแต่ความทุกข์


หนูตกถังข้าวสาร
         คำพังเพยสำนวนนี้โบราณต้องการจะบอกให้ทราบว่า ถ้าผู้ชายคนไหนมีโชคไปได้ลูกสาวเศรษฐีเป็นเมีย ก็เหมือนหนูตกถังข้าวสาร สำนวนนี้อุปมาว่า หนูคือผู้ชาย ถังข้าวสารคือผู้หญิง อาหารของหนูคือข้าว ตกลงไปในข้าวก็เหมือนสบายไปแปดอย่าง มีแต่กินกับกินไม่มีอด


หมาลอบกัด
         คำพังเพยสำนวนนี้โบราณสร้างขึ้นเพื่อเอาไว้ประณามคนที่ไม่กล้าสู้ใครต่อหน้า เพราะเป็นคนขี้ขลาด ทำตัวเหมือนหมาที่มักจะแอบกัดเมื่อคนเผลอ หรือผู้ที่ชอบแอบพูดจาใส่ร้าย มีสำนวนหนึ่งที่มีความหมายคล้ายกันคือ “แทงข้างหลัง” 


หมาหยอกไก่
         คำพังเพยสำนวนนี้โบราณใช้สัตว์สองชนิดมาเป็นตัวอุปมา คือ หมา เปรียบเหมือนผู้ชาย ไก่เปรียบเหมือนผู้หญิง ลักษณะที่หมาทำท่าหยอกล้อไก่ ดูทีเล่นทีจริง ไก่เผลอตัวเมื่อไรก็จะงับกินเสียเมื่อนั้น ผู้ชายที่ใช้คำพูดหยอกล้อแทะโลมผ้หญิงแบบทีเล่นทีจริงอย่างนี้ พอหญิงเผลอใจก็จะถือโอกาสรวบหัวรวบหางเสียเลย นี่คือลักษณะที่โบราณขานว่าเป็นทีท่าหมาหยอกไก่ จะว่าเป็นสำนวนใช้ถากถางผู้ชายประเภท “เฒ่าหัวงู” ก็ใช่


หมาหวงก้าง
         พังเพยแต่ละสำนวนในต่อไปนี้โบราณจะยกเอาหมามาเป็นอุปมาทั้งสิ้น อีกสำนวนหนึ่ง คือหมาหวงก้าง นี่เป็นคำอุปมาถากถางพวกผู้ชายอีกนั่นแหละ ปลาที่มีแต่ก้าง ความจริงหมากินเนื้อหมดแล้ว แต่ก็หวงก้างปลาเอาไว้ทั้งที่กินไม่ได้ ก็เปรียบเหมือนของที่แม้ตัวเองก็ไม่ได้ใช้ แต่ก็ยังหวงไม่ให้ใครเอาไปใช้ มีสำนวนที่พอจะเปรียบเทียบกันได้ก็คือ “มดแดงแฝงพวงมะม่วง”


หมาเห่าใบตองแห้ง
         เป็นคำพังเพยสำนวนอุปมาถากถางที่ชอบเอะอะโวยวาย แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เหมือนหมาได้ยินเสียงใบตองแห้งถูกลมพัดก็เห่าเพราะนึกว่าเป็นคนเป็นขโมยทั้งๆ ที่ไม่มีอะไร


หักด้ามพร้าด้วยเข่า
         คำพังเพยสำนวนนี้โบราณสร้างขึ้นมาเพื่อเตือนใจคนที่มีอารมณ์วู่วาม เอาแต่ใจตัวเอง นึกอยากจะทำอะไรก็ทำโดยไม่คิดว่า สิ่งที่ทำนั้นมันจะเป็นโทษต่อตนเอง เหมือนด้ามพร้า (มีด) ที่แข็งไม่คิดหน้าคิดหลังอยากจะหักด้ามพร้า แต่เอาเข่าอ่อนๆ ไปรองหัก แน่นอนมันทั้งเจ็บและไร้ประโยชน์ ยิ่งออกแรงหักเท่าไรก็จะเจ็บเท่านั้น


หัวเดียวกระเทียมลีบ
         สำนวนคำพังเพยคำนี้โบราณเปรียบเปรยเอาไว้อย่างเห็นอกเห็นใจคนที่ต้องอยู่คนเดียว อย่างยากจน และเจียมตัว ไม่มีสังคมกับใคร เปรียบเอาไว้ว่าเหมือนกระเทียมหัวหนึ่งจะประกอบด้วยกลีบหลายกลีบ แต่เมื่อหลายกลีบกลายเป็นกระเทียมฝ่อเหลืออยู่เพียงกลีบเดียว ก็กลายเป็นกระเทียมลีบเป็นกระเทียมที่ไร้ค่า เสมือนคนที่ไร้ญาติขาดมิตร




หัวล้านได้หวี
         คำพังเพยสำนวนนี้โบราณเปรียบเปรยไว้เป็นเชิงเปรียบเทียบว่าของสิ่งใดก็ตามมิได้เหมาะสม หรือมีที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคนอุปมาว่า คนหัวล้านไม่มีผม ได้หวีไปก็ไร้ประโยชน์ (ถ้าให้วิกผมยังจะได้ประโยชน์กว่า แต่โบราณไม่มีวิกผมจึงไม่มีที่เปรียบเทียบเอาไว้) คำพังเพยที่มีความหมายเดียวกันอีกสองสำนวนคือ “ตาบอดได้แว่น นิ้วด้วนได้แหวน”


หาเลือดกับปู
         คำพังเพยสำนวนนี้โบราณเปรียบไว้ถึงคนที่ไม่มีอะไรจะให้ ก็มีคนไปบังคับจะเอาในสิ่งที่ต้องการให้ได้ อุปมาว่าเหมือนไปรีดเอาเลือดจากปู เพราะปูไม่มีเลือด (ความจริง ปูมีเลือดแต่เลือดของปูนั้นมีสีน้ำเงิน (หรือฟ้า) คนโบราณมองไม่เห็นเลือดที่เป็นสีแดงเหมือนสัตว์อื่น จึงเข้าใจว่าปูไม่มีเลือด ซึ่งแม้จะอุปมามาผิด (ด้วยความไม่รู้) แต่ก็เป็นสำนวนที่สอนใจดี


หาเห่าใส่หัว
         คำพังเพยสำนวนนี้โบราณนำเอาสัตว์เล็กๆ ที่อาศัยอยู่บนศีรษะมนุษย์มาเปรียบเปรยไว้ให้เห็น เหานั้นเป็นสัตว์เล็กๆ อาศัยอยู่บนศีรษะ หาอาหารด้วยการดูดกินเลือดบริเวณหนังศีรษะทำให้เกิดอาการคัน จนไม่เป็นอันกินอันนอน (โดยมากมักจะเกิดกับเด็กเล็กๆ ที่ผมสกปรก) เปรียบไว้เช่นคนที่ชอบรนหาที่ รนหาความลำบาก หาความเดือดร้อนใส่ตัว


เห็นกงจักรเป็นดอกบัว
         คำพังเพยสำนวนนี้โบราณสร้างขึ้นเอาไว้สอนคนที่เห็นผิดเป็นชอบ เห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเป็นถูกต้องโดยไม่ฟังคำท้วงติงของผู้ที่หวังดี โบราณเอากงจักรซึ่งเป็นอาวุธมาแทนความชั่ว และเอาดอกบัวมาแทนความดีงาม คนที่เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ก็เหมือนคนหน้ามืดตามัว มองเห็นสิ่งชั่วเป็นสิ่งดีไปหมด


เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง
         คำพังเพยสำนวนนี้โบราณสร้างไว้เพื่อสอนคนที่มีความฟุ้งเฟ้อ ใจใหญ่ หน้าใหญ่ เสียเงินทองเท่าไหร่ก็ไม่ว่า ขอให้ได้หน้าเป็นพอ บางทีก็ชอบทำการใหญ่แข่งกับผู้อื่นทั้งที่ตัวเองก็มีฐานะด้อยกว่า อยากจะทำให้เท่าเทียมโดยไม่ดูความสามารถของตัวเอง เปรียบเหมือนเห็นมูลช้างก้อนใหญ่ๆ (เพราะช้างตัวใหญ่ก้อนขี้ช้างก็จะใหญ่ไปตามลักษณะ) ช้างเปรียบเหมือนคนที่มีฐานะร่ำรวยจะทำการใดก็ใหญ่ได้ตามฐานะ คนธรรมดาคิดเห่อเหิมอยากจะทำตามไม่ได้คิดถึงฐานะของตนเอง อย่างนี้โบราณบอกว่า เห็นช้างขี้ (ยังไง) ก็อยากจะขี้อย่างช้างไม่เจียมตน


ให้ข้างให้เกลือ ให้เรือให้พาย
         โบราณนำคำพังเพยนี้มาสำหรับใช้สอนสั่งคนว่า ต้องเป็นคนรู้จักให้ที่พระท่านกล่าวว่า “จาคะ” การให้เกลือ เปรียบเช่นการให้ข้าวปลาอาหาร การให้เรือเปรียบด้วยการให้ความช่วยเหลือในเรื่องการทำมาหากิน นี่เป็นนิสัยอันสมควรของคนที่มีจิตเป็นบุญเป็นกุศล


เหยียบเรือสองแคม
         โบราณสร้างคำพังเพยสำนวนนี้สำหรับพวกที่ทำตนให้เข้าพวกได้ทั้งสองฝ่าย โดยให้มองแคมเรือที่มาชนกันเทียบไว้ ถ้าสามารถเหยียบเรือทั้งสองแคมได้ นั่นคือความสามารถจะไม่มีศัตรูเพราะจะมีแต่พวก (แม้ทั้งสองฝ่ายนั้นจะเป็นศัตรูกันก็ตาม) คือทำท่าทีเข้าด้วยทั้งสองฝ่าย


เห็นเขาขึ้นคานหาม เอามือประสานก้น
         สำนวนนี้โบราณสร้างเป็นสำนวนยาวสักหน่อย แต่พอจะนำมาอุปมาได้ว่าคนที่ทำเลียนแบบคนมั่งมี โดยที่ตัวเองเป็นเพียงคนจนไม่มีทรัพย์เท่าเขาทำเลียนแบบก็มีแต่จะเสียหาย คานหามในสำนวนนั้นผู้ดีมีเงินเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์นั่ง แต่คนจนทำได้อย่างดีก็แค่เอามือประสานก้นทำทีว่านั่งคานหาม มองดูท่าทางแล้วก็เห็นจะมีแต่คนหัวเราะเยาะมากกว่าคนเห็นใจ


หัวมังกุ ท้ายมังกร
         คำพังเพยสำนวนนี้โบราณเอาเรื่องเรือมาเป็นตัวอย่างยกให้เห็นถึงความเป็นจริงแห่งชีวิต ก่อนอื่นต้องอธิบายเพื่อความเข้าใจก่อนว่า มังกุ นั้นคืออย่างไร มังกุคือเรือที่มีกระดูกงู เรือที่มีกระดูกงู (แกนกลางของเรือ) ใหญ่ รูปเหมือนเรือโขมดยา หัวเรือเป็นสามเส้า มังกรนั้นเป็นสัตว์ในนิยายจีน รูปร่างคล้ายงูมีตีน มีเขา เรือสมัยก่อนจะนิยมแกะสลักหัวเรือท้ายเรือเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เรือที่มีหัวเป็นมังกุ แต่มีท้ายเป็นมังกร จึงหมายถึงเรือที่มีลวดลายแตกต่างกันไม่กลมกลืนกัน มองดูแตกต่าง คนที่ทำอะไรอย่างหนึ่งแต่แตกต่างกันไม่เหมือนกันจึงถูกเรียกว่าพวกหัวมังกุท้ายมังกร ไม่เป็นโล่เป็นพาย เอาดีไม่ได้ หรือแตกพวกแตกเหล่า ผ่าเหล่าผ่ากอ ก็เรียกได้ทั้งนั้น



หยิกเล็บเจ็บเนื้อ
         โบราณเอาการกระทำของคนมาสอนคนคือ การหยิกที่เล็บ ก็จะเจ็บที่เนื้อรอบๆ เล็บ การกระทำความเดือดร้อนให้แก่คนใกล้ชิด จะมีผลกระทบมาถึงคนที่กระทำ หรือคนพวกเดียวกันด้วย


หนามยอก เอาหนามบ่ง
         โบราณกล่าวขานพังเพยนี้ด้วยถ้อยคำตรงๆ ไม่ต้องแปลความเพราะการที่มีหนามแหลมตำ จะเอาหนามออกก็ต้องใช้ของแหลม คือหนามนั่นแหละบ่งเอาหนามออก พูดสั้นๆ ว่า “หนามบ่งหนาม” ก็ได้ (แม้ความจริงจะปรากฎว่า เราใช้ “เข็มเย็บผ้า” บ่งเอาหนามออกก็ตาม