ค้นหาข้อมูล
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด ป.
7779 view
 Post Date:  14/8/12 - 8:44:pm
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด ป.

ปล่อยเสือเข้าป่า
         เสือนั้นเป็นสัตว์ร้าย ที่มีคำกล่าวว่า “ร้ายอย่างเสือ” หรือ “เสือร้าย” เมื่อเสือได้ทำร้ายหรือกิน (คน) เราใจดีปล่อยให้มันเข้าป่าไป วันหนึ่งเมื่อเสือตัวนั้นหิวขึ้นมา (เรียกว่าเสือหิว) มันก็อาจจะย้อนมาทำร้ายคนที่ปล่อยมันออกไปได้ เสือเปรียบเหมือนศัตรู ปล่อยเมื่อไรศัตรูก็ยังมุ่งร้ายอยู่วันยันค่ำย่อมย้อนมาทำร้ายเราได้ภายหลัง สุนทรภู่บรมครูกลอนได้เขียนเรื่องนี้ให้นางละเวงกล่าวถึงอุศเรนทร์ต่อพระอภัยว่า “ประเพณีตีงูให้หลังหัก มันก็มักทำร้ายเมื่อภายหลัง จระเข้ถึงน้ำมีกำลัง เหมือนเสือขังเข้าดงก็คงร้าย...” จึงมีประเพณีโบราณว่า “ต้องฆ่าให้ตายให้หมด อย่าให้เหลือเสี้ยนหนาม”


ปลาข้องเดียวกัน
         โบราณนำเอาปลามาเปรียบเทียบเป็นคำพังเพยว่า อันปลานั้นเมื่ออยู่ในตะข้อง (ที่ใส่ปลาทำด้วยไม้ไผ่) เมื่อตัวหนึ่งเน่า ปลาในตะข้องทั้งหมดก็พลอยมีกลิ่นเน่าไปด้วย เหมือนคนที่อยู่ในหมู่คณะเดียวกัน ถ้าคนหนึ่งทำไม่ดี ก็จะเสียหายไปทั้งหมด


ปลาใหญ่กินปลาเล็ก
         โบราณนำเอาปลาใหญ่กับปลาตัวเล็กมาเปรียบเทียบกันให้เห็นเป็นรูปธรรม เพราะอย่างไรปลาตัวใหญ่ก็กินปลาตัวเล็กเป็นอาหาร เหมือนผู้มีอำนาจหรือมีโอกาสมากกว่าย่อมจะเอาเปรียบผู้ที่อ่อนแอหรือมีโอกาสน้อยกว่า


ปีกกล้าขาแข็ง
         โบราณนำเอาเรื่องราวของลูกนกมาเป็นอุปมาเปรียบเทียบ พอขนเริ่มขึ้นก็หัดบิน พอขนขึ้นเต็มที่ก็สามารถโบยบินไปทางไหนก็ได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะพลาดตกลงมา (แต่ไม่แน่อาจจะปีกหักขากุดก็ได้) ในทางอุปมา “ปีกกล้าขาแข็ง” คือพึ่งตนเองหรือยืนอยู่บนขาตัวเองได้ที่เรียกกันว่า “มีชั่วโมงบิน” หรือ “บินเดี่ยวได้” นั่นเอง เมื่อก่อนอาจจะกลัวจนตัวงอไม่มีปากไม่มีเสียง ตอนนี้จะกลายเป็นจองหองพองขน เถียงฉอดๆ โดยไม่อินังขังขอบต่อสิ่งใด ว่าง่ายๆ ก็คือแก่วัดหรือเจนเวทีว่างั้นที่กล่าวกันว่า “ดังแล้วแยกวง” ก็คือลักษณะปีกกล้าขาแข็งนี่แหละ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้นิยามไว้ว่า “ปีกกล้าขาแข็ง” คือ “พึ่งตนเองได้” และว่าเป็นเชิงอรรถไว้ว่า เป็นคำที่ผู้ใหญ่ให้ติเตียนผู้น้อย (ที่เนรคุณ)


ปลูกเรือนแต่พอตัว หวีหัวแต่พอเกล้า
         คำพังเพยสำนวนนี้เป็นลักษณะอุปมาสอนใจ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า “ทำสิ่งใดๆ ให้พอสมควรแก่ฐานะของตน” การปลูกเรือนแต่พอตัวนั้นหมายถึงการสร้างบ้านอยู่ก็ต้องดูจำนวนคน คนน้อยก็สร้างหลังเล็กพออยู่ คนมาก็สร้างให้ใหญ่พออยู่กันได้ไม่แออัด ส่วนหวีหัวแต่พอเกล้านั้นโบราณตั้งใจจะใช้สอนผู้หญิงว่าอย่ามัวแต่เฝ้าหน้ากระจกแต่งตัวหวีหัวผัดหน้าทั้งวัน ไม่สนใจในการดูแลบ้านเรือนเคหาอาศัย ซึ่งไม่ใช่วิสัยของสตรีที่เป็นแม่เหย้าแม่เรือน 


ปอกกล้วยเข้าปาก
         คำพังเพยคำนี้เป็นสำนวนบอกอาการกิริยาง่ายๆ ฟังแล้วก็เข้าใจทันที คือกล้วยนั้นเป็นผลไม้ที่กินง่าย เปลือกก็ปอกง่ายเรื่องกล้วยๆ ก็คือเรื่องง่ายๆ ที่ไม่สับสนยากเย็น บางทีใช้คำพูดว่า “กล้วยมาก” ก็หมายความว่า “ง่ายมาก” นั่นเองนอกจากคำว่า “กล้วย” แล้วยังมีคำว่า “หมู” เรื่องหมูๆ จึงมีความหมายว่า ของง่ายๆ เช่นกัน


เป็นปี่เป็นขลุ่ย
         โบราณนำเครื่องดนตรีมาสร้างเป็นสำนวนคำพังเพยให้คนได้รู้กันว่า การที่คนทำงานพูดจาถูกคอกัน เข้ากันได้ดี เรียกว่า เหมือนปี่กับขลุ่ยในวงดนตรีที่เล่นผสานเสียงกันได้ เกิดเป็นเสียงเพลงที่ไพเราะ


ปิดประตูตีแมว
         สำนวนนี้โบราณนำเรื่องของแมว (ขโมย) ที่ชอบย่องเข้ามาลักของกินในบ้านยามค่ำคืน เจ้าของบ้านก็วางแผนปิดประตูขังไว้แล้วก็ตีสั่งสอนเสียแทบปางตาย เพราะแมวหนีไม่พ้น เปรียบเหมือนการรังแกคนที่ไม่มีทางต่อสู้ และไม่มีทางหนีรอดได้


ปั้นน้ำเป็นตัว
         สำนวนนี้โบราณนำเอาการทำน้ำธรรมดาให้กลายเป็น “น้ำแข็ง” มาเปรียบเทียบกับคน โดยปกติธรรมดาน้ำเป็นของเหลว แต่ถ้าสามารถทำให้แข็งได้นับว่าเป็นยอด โบราณเปรียบคนที่พูดความเท็จให้กลายเป็นความจริงได้เรียกว่าพวก “ปั้นน้ำเป็นตัว”


ปัญญาแค่หางอึ่ง
         โบราณสร้างสำนวนนี้มาจากสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกชนิดหนึ่งคือ “อึ่ง” (อึ่งอ่าง) มีรูปร่างคล้ายกบ แต่ตัวอ้วนป้อมกว่าสามารถพองตัวได้ (เมื่อมีศัตรู) อึ่งแปลกกว่ากบที่ว่ามีหางสั้นๆ ยื่นออกมาตรงส่วนก้นด้วย (ผมเปียสั้นๆ ก็เรียกว่า หางอึ่ง) โบราณเรียกคนที่มีความรู้น้อยว่ามีปัญญาแค่หางอึ่ง


ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่
         โบราณใช้เรื่องการปลูกเรือนมาสอนคนด้วยคำพังเพยนี้ เพื่อให้ทำตามความพอใจของคนที่จะได้รับผลประโยชน์โดยตรง มีคำสำนวนที่มีความหมายคล้ายคลึงกันอีสำนวนหนึ่ง และมักจะใช้พูดคู่กันไปคือ “ผูกอู่ตามใจผู้นอน” (อู่คือเปลสำหรับเด็กนอน)


ปลูกเรือนคร่อมตอ
          โบราณจงใจที่จะสร้างคำพังเพยนี้สอนผู้หญิงผู้ชายวัยรุ่นวัยสาวหรือวัยที่กำลังเจริญพันธุ์ว่า โบราณนั้นก่อนจะปลูกเรือนในที่ดินที่เคยเป็นบ้านเรือนมาก่อน เขาจะถอนตอม่อเก่าออกให้หมดเสียก่อนเพื่อให้เกิดที่ว่างจริงๆ ไม่มีตอมาขวาง เมื่อเปรียบกับคนถ้าคิดว่าจะมีคู่ ก็อย่าไปกระทำล่วงล้ำ ก้าวก่ายทับสิทธิ์ของผู้อื่น โดยจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่ก็ตาม นั่นคือการสอนทางอ้อมว่า อย่าไปมีชู้กับลูกเมียเขานั่นเอง


ปล้ำผีลุกปลุกผีนั่ง
         โบราณมีความฉลาดในการที่จะสร้างคำพังเพยสอนคนในลักษณะอุปมาได้ชัดเจนว่า ผี นั้นคือคนที่ตายไปแล้ว ไม่มีโอกาสที่จะปลุกเสกให้ฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาได้ การทำเช่นนี้คนที่พยายามจะเสกสรรปั้นแต่งเรื่องราวขึ้นมา ทั้งๆ ที่ไม่มีเรื่องใดๆ นั้นคือพวก “ปล้ำผีลุกปลุกผีนั่ง” โบราณว่าเป็นคนที่สังคมรังเกียจไม่คบหาด้วย


ปลาตกน้ำตัวโต
         โบราณนำความคิดของคนโลภในจิตมาสร้างเป็นคำพังเพย เพื่อบอกกล่าวคนทั่วไปว่า คนที่มีจิตใจโลภโมโทสันนั้นมักจะคิดเอาเปรียบคนอยู่ตลอดเวลา โบราณจึงเปรียบคนชนิดนี้ว่า ปลาตกน้ำตัวโต” คือของหายไปเพียงนิดแต่คิดบอกกล่าวเกินจริงให้มากมายเข้าไว้ จะเรียกว่า “โกหกหน้าด้านๆ” ก็ได้


ปล่อยนกปล่อยกา
         โบราณนำเอาคำพูดสองคำมาทำเป็นคำสำนวนที่มีความหมายว่า ปล่อยให้เป็นอิสระโดยไม่เอาผิด หรือปล่อยให้พ้นไปจากความผูกพัน บางทีใช้สำนวนว่า “ปล่อยลูกนกลูกกา” (นกและกา มีความหมายเดียวกัน)

ปล่อยตามบุญตามกรรม
         โบราณมักจะใช้คำในพุทธศาสนาเปรียบเทียบเป็นสำนวนคำพังเพยให้คิดกันว่า บุญกรรมนั้นเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของคนเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมักจะพูดกันว่าบุญกรรมกำหนดมาแล้วก็ต่อคำว่า “แล้วแต่บุญกรรมที่ทำมา” สำนวนนี้จึงหมายความว่า “แล้วแต่บุญกรรมที่ทำมา” สำนวนนี้จึงหมายความว่า ปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามเหตุการณ์ โดยไม่เข้าไปแก้ไขหรือยุ่งเกี่ยวด้วย เข้าทำนองพุทธภาษิตที่ว่า “ใครทำดีได้ดี ใครทำชั่วได้ชั่ว” นั่นเอง


ปลดแอก
         โบราณใช้คำพูดที่ใช้กับการทำนามาเป็นเครื่องบอกกล่าวอย่างหนึ่ง ซึ่งจะต้องอธิบายคำว่า “แอก” ให้ทราบกันก่อนว่า แอกนั้น หมายถึง ไม้ที่คล้องบนคอของวัวควายเมื่อเวลาเทียมไถ หรือเทียมเกวียน เพื่อร้อยเชือกผูกรัดให้ติดกับไถหรือเกวียน การปลดแอก จึงมีความหมายว่า การทำให้พ้นจากอำนาจ หรือจากการถูกกดขี่ (เช่นกรณีการเลิกทาสของรัชกาลที่ 5)


ปลาตายน้ำตื้น
         โบราณหยิบคำสำนวนนี้มาเพื่อสอนใจคนว่า หากจะทำการใดก็ให้ระมัดระวัง อย่าคิดว่าง่ายทำไปไม่มีคนรู้คนเห็น จะเป็นอันตราย เปรียบเหมือนปลาจะต้องว่ายในน้ำลึก เพื่อบังหรือพรางร่างมิให้คนเห็นจะล่าเอาไป แต่ถ้าชะล่าใจว่ายขึ้นมาน้ำตื้นๆ คนก็จะแลเห็นสามารถที่จะจับเอาไปได้ เหมือนจะเตือนกันตรงๆ ว่า “อย่าประมาท” นั่นเอง