ค้นหาข้อมูล
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด น.
6548 view
 Post Date:  14/8/12 - 8:43:pm
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด น.

น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ
         สำนวนนี้เป็นภาษิตใช้เปรียบเปรยเป็นสำนวนอุปมาใช้สำหรับเตือนใจ เช่น “เมื่อน้อยให้เรียนวิชา ให้หาสินเมื่อใหญ่” หรือ “มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์” อย่างนี้เป็นภาษิตชัดแจ้ง ส่วนคำพังเพยนั้นจะมีลักษณะอุปมาส่วนมากจะเป็นสำนวนถากถาง เช่น “ไม่ดูตาม้าตาเรือ” หรือ “ขี้ไม่ให้หมากิน” หรือ “วัวหายล้อมคอก” อย่างนี้ หรือ สำนวนที่สอดคล้องกัน เช่น “กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม” สำนวน “น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ” หมายถึงการใดก็ตามถ้ามีฝ่ายตรงกันข้ามกำลังมีโทสะ ก็ให้หลีกเสียอย่าต่อคำ ก็จะไม่เกิดอะไร เช่น น้ำไหลแรงเราเอาเรือขวางน้ำก็รังแต่จะล่ม


น้ำกลิ้งบนใบบอน
         สำนวนนี้มีคำที่จะต้องอธิบายพอเข้าใจหนึ่งคำคือคำว่า “บอน” เป็นต้นไม้กึ่งน้ำกึ่งบกมักจะปลูกตามริมสระ ริมหนอง ลักษณะคล้ายบัว แต่ไม่มีดอกเหมือนบัว ใบมีแป้งที่รองน้ำไว้ได้ทำให้น้ำกลิ้งบนในบอนได้ (เช่นใบบัว บอนมียางคัน จึงมีสำนวนว่า “ปากบอน” หรือ “มือบอน” ด้วยความหมายของสำนวนนี้คือ คนที่มีจิตใจไม่แน่นอน เอาแน่อะไรไม่ได้ กลอกกลิ้งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีสำนวนคล้ายกันอีกสำนวนหนึ่งคือ “ไม้หลักปักเลน”


น้ำตาลใกล้มด
         สำนวนนี้เป็นสำนวนที่ใช้เปรียบเปรยถึงความรักของชายหญิง หญิงเหมือนน้ำตาล ชายนั้นเหมือนมด มดนั้นชอยกินน้ำตาลเมื่อเอามาไว้ใกล้กันก็ย่อมจะอดไม่ได้ เฉกเช่นหญิงใกล้ชายก็ย่อมมีใจพิศวาสต่อกัน จะห้ามใจมิให้มีความรักต่อกันนั้นยาก


นั่งเทียน
         สำนวนนี้โบราณและปัจจุบันมีความรู้สึกที่คล้ายกัน ในสมัยก่อนผู้คนนิยมไปดูหมอดู หมอดูก็ทำทีจุดเทียน (เท่าอายุ) เพื่อจะตรวจสอบดวงชะตา (ทั้งที่ไม่มีอะไร) แล้วก็ทำนายทายทักไปตามความรู้ (สึก) ของตน การนั่งเทียนของหมอดูจึงเท่ากับว่า “ยกเมฆ” คือนึกไปเอง เดาเหตุการณ์เอาเองส่วนในสมัยปัจจุบันเรียกนักข่าวที่เขียนข่าวเองโดย ไม่มีความจริงเรียกว่า “นั่งเทียนเขียนข่าว” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้คำนิยามไว้ว่า “วิธีทำนายอย่างหนึ่งโดยวิธีจุดเทียนติดไว้ที่ขอบปากบาตร แล้วทำนายไปตามลักษณะรูปที่เกิดในน้ำมัน”


น้ำขึ้นให้รีบตัก
         โบราณนำเรื่องราวของแม่น้ำมาทำให้เป็นคำพังเพยเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจของผู้คน โดยนำเรื่องราวของแม่น้ำมาทำเป็นตัวอย่างให้เห็น ในสมัยโบราณนั้น แม่น้ำสายใหญ่ๆ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา จะมีเวลาน้ำขึ้นน้ำลง น้ำสะอาดเวลาหน้าน้ำขึ้นผู้คนก็จะตักน้ำสะอาดเอาไว้ใช้ดื่มกิน เก็บไว้ในโอ่งในตุ่มเพราะเวลาน้ำลงน้ำจะแห้งลงไปมีตะกอนขุ่นเป็นโคลนไม่น่านำมาใช้ดื่มกิน โบราณจึงนำมาเปรียบเทียบว่า เมื่อมีโอกาส (เหมือนน้ำขึ้น) ก็รีบฉวยโอกาสดีที่มีมาเสียโดยด่วนอย่ามัวช้าเพราะโอกาสดีนั้นมิใช่จะมีมาบ่อย หากมัวช้าก็จะหมดโอกาส


น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง
         โบราณนำผักบุ้งซึ่งเป็นพืชน้ำมาเปรียบเทียบเป็นสำนวนเหน็บแนมคน เพราะปกติผักบุ้งจะงอกงามในน้ำที่มีความพอดี แต่เมื่อไรที่มีน้ำท่วมมาก ผักบุ้งก็จะแตกกระจัดกระจายหาต้นยอดได้ยาก เหมือนคนที่พูดมาก พูดเสียยืดยาว แต่เนื้อหาสาระไม่มี มีคำที่ขออธิบายเพิ่มเติมให้เข้าใจคือคำว่า “โหรงเหรง” เป็นคำศัพท์โบราณใช้พูดหมายความว่า “ว่างเปล่าหรือแลดูบางตา”


น้ำลดตอผุด
         โบราณนำความเป็นไปของธรรมชาติระหว่างน้ำกับตอมาให้เห็นเป็นรูปธรรม เหมือนตอที่ปักอยู่ในน้ำ พอน้ำขึ้นท่วมตอก็ไม่เห็นตอ (ไม้) แต่พอน้ำลงก็มองเห็นตอ (ไม้) ได้ เหมือนคนที่มียศศักดิ์ ทำความดีมองเห็นแต่เปลือกนอก พอหมดอำนาจวาสนาความชั่วที่ทำไว้ก็ปรากฎออกมาให้เห็น


น้ำลอดใต้ทราย
         โบราณนำธรรมชาติระหว่างน้ำกับทรายมาสร้างเป็นคำพังเพยเปรียบเทียบให้เห็นว่า ธรรมชาติของทรายนั้นบนผิวจะแห้ง แต่ใต้ทรายจะมีน้ำซึมอยู่ คนมองเห็นแต่ผิวแห้งของทราย ไม่เห็นน้ำใต้พื้นทราย เปรียบเหมือนกับการกระทำการใดที่เป็นเรื่องลับไม่มีผู้รู้เห็น


น้ำร้อนปลาเป็นน้ำเย็นปลาตาย
         โบราณนำเรื่องของสัตว์และน้ำมาสร้างเป็นคำพังเพยเตือนสติ คนทั่วไปว่า อันน้ำร้อนนั้นเหมือนคำพูดตรงไปตรงมา ฟังไม่ไพเราะ แต่ไม่มีพิษภัย เป็นการเตือนให้ระวังตัว แต่น้ำเย็นเหมือนคำพูดอ่อนหวาน ทำให้ตายใจเชื่อใจ อาจจะกลับมาเป็นโทษภัยได้ (ปลานั้นในที่นี้หมายถึงคน เป็นการเปรียบเทียบ)


น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า
         โบราณนำสัตว์กับธรรมชาติมาแสดงให้เห็นว่าจะต้องพึ่งกันคือเสือจะต้องพึ่งป่า เพราะในป่ามีสัตว์ที่จะเป็นอาหาร ส่วนเรือนั้นเล่าก็ต้องอาศัยน้ำลอยลำและแล่นพาผู้คนไป เปรียบเช่นผู้คนทั่วไปจะอยู่คนเดียวมิได้ จะต้องอาศัยพึ่งพากัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน มีคำพังเพยที่มีความหมายคล้ายคลึงกันอีกคำหนึ่งคือ “ข้าพึ่งเจ้า บ่าวพึ่งนาย”


น้ำนิ่งไหลลึก
         โบราณนำธรรมชาติมาเปรียบเทียบลักษณะของคนคือ น้ำนั้นแม้ผิวน้ำจะแลดูนิ่งสนิท แต่ใต้น้ำนั้นอาจจะมีกระแสน้ำไหลเชี่ยวอยู่ก็ได้ เปรียบเหมือนคนที่มีที่ท่าเงียบๆ หงิมๆ แลดูเป็นคนเจียมตน แต่ความจริงแล้วเขาอาจจะมีนิสัยร้ายกาจที่ซ่อนเอาไว้ อาจจะมีนิสัยโหดร้ายทารุณ หรือพูดไม่เข้าหูคนก็ได้


น้ำขุ่นไว้ข้างใน น้ำใสไว้ข้างนอก
         โบราณนำเอาน้ำมาเป็นคำพังเพยเปรียบเทียบให้เห็นเด่นชัดอีกว่า น้ำขุ่นคือความไม่พอใจ เกลียดชัง ถึงจะเกิดก็ให้เก็บเอาไว้ภายในใจอย่าแสดงออก ให้แสดงถึงความตรงกันข้ามที่เปรียบเสมือนน้ำใสต่อเขา ก็จะยับยั้งมิให้เกิดการผิดใจกัน ยังพอจากกันด้วยดี


นายว่าขี้ข้าพลอย
         คำพังเพยคำนี้โบราณสร้างขึ้นเพื่อจะปรามคนที่มีจิตใจชอบเอาใจนาย (เลียนาย) ชอบพูดจาว่าคนแทนนายหรือตามนายพลอยผสมโรงติเตียนเวลานายตำหนิผู้ใด จะเรียกว่าเขาเป็นคน “ปากพล่อย” ก็ได้ หรือเรียกอีกอย่างว่า “ชนะไหนเข้าด้วยช่วยประชัน” ก็ได้


นั่งในหัวใจ
         โบราณนำเรื่องของความรู้สึกในใจมาสร้างเป็นคำพังเพยสำหรับมองคนที่สามารถ “นั่งในหัวใจ” คือรู้ทุกอย่างในหัวใจผู้อื่น รู้ความคิด และสามารถทำตามความคิดที่คิดนั้นได้โดยทันที คนอย่างนี้หาไม่ได้ง่ายๆ ถ้าใครมีไว้ก็สบายไปแปดอย่าง


นอนหลับไม่รู้นอนคู้ไม่เห็น
         เป็นเรื่องคำพังเพยที่เกี่ยวกับการปฏิบัติในชีวิต ว่าเวลาหลับไม่ว่าจะนอนท่าไหนก็จะไม่รู้ไม่เห็นเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น แม้จะมีเรื่องราวที่เกิดขึ้นตนเองก็ไม่เห็นและไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรทั้งนั้น


นอนสูงให้นอนคว่ำ นอนต่ำให้นอนหงาย
         โบราณนำเรื่องราววิธีการนอนมาสอนคนเป็นคำพังเพยว่า เวลานอนสูงให้นอนคว่ำ เพื่อจะได้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดข้างล่างได้ หรือนอนต่ำให้นอนหงายก็เช่นเดียวกัน ก็สามารถที่จะมองเห็นเหตุการณ์ที่เกิดข้างบนได้จะเป็นการปลอดภัยของผู้นอน


นอกรีตนอกรอย
         โบราณนำจารีต หรือรีต คือประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน มาเป็นคำพังเพยสอนคนว่า เราเป็นคน (ไทย) มีจารีตประเพณีแบบไทยๆ ก็ควรปฏิบัติแบบไทยๆ ไม่ควรทำ “นอกรีตนอกรอย” ปฏิบัติตนให้ผิดไปจากที่เคยปฏิบัติมานั่นเอง


นกปีกหัก
         โบราณนำความรู้สึกของคนที่ผิดหวังอย่างรุนแรง ไปเปรียบเทียบกับนกที่ปีกหักไม่สามารถจะบินต่อไปได้ คนที่ผิดหวังก็มักจะหมดกำลังใจ ไม่อาจจะมีชีวิตอยู่ได้ หรือทำงานต่อไปได้ก็คล้ายกับนกปีกหักนั่นเอง


นกต่อ
         สำนวนคำพังเพยคำนี้ เป็นคำที่แสดงถึงการปฏิบัติตนไม่ดีของคน คือคนที่ถูกใช้ให้ไปทำตีสนิท ล้วงความลับฝ่ายตรงข้ามเปรียบเช่นนกต่อ ที่เจ้าของเลี้ยงเอาไว้ต่อนก (เขา) นกต่อเองก็รู้ว่าจะต้องขันท้าทายให้นกป่าบินออกมาตีแล้วติดตังพรานก็จับได้ คนที่ทำหน้าที่ติดต่อหลอกให้ผู้อื่นหลงเชื่อ จึงถูกขานว่า “นกต่อ” คนเช่นนี้เป็นคนที่สังคมรังเกียจ