ค้นหาข้อมูล
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด ก
10888 view
 Post Date:  14/8/12 - 8:41:pm
คำพังเพย สุภาษิตและสำนวนไทย หมวด ก

กลเม็ดเด็ดทราย
         ทีเด็ดหรือไม้เด็ด ที่มีความเหนือและแน่นอน ในชั้นเชิงหรือแต้มคูมากกว่า มีชั้นเชิงแพรวพรายหลายชั้น ที่ทำให้น่าตะลึงหรือน่าทึ่ง ข่มหรือสยบคู่ปรปักษ์ได้อย่างชะงัด


กินรังแตน
         มีอารมณ์เสีย แล้วเอะอะโวยวายเกินกว่าเหตุ ดังที่กล่าวถึงคนที่ฉุนเฉียวง่ายและขึ้นเสียงเอะอะไม่หยุดว่า “ไปกินรังแตน” มาจากไหน ความหมายลึกๆ เข้าไปอีกก็คือ ไปกินรังแตน (ไม่แน่ใจว่าคนโบราณจะหมายถึงรังผึ้งหรือเปล่า เพราะรังแตนจริงๆนั้นกินไม่ได้) โดนแตน (ผึ้ง) ต่อบปาก เลยทำให้กลายเป็นคนปากร้าย อารมณ์ร้าย อาละวาด ไม่ฟังอีร้าค่าอีรม เหมือนแตน (ผึ้ง) ที่อาละวาดนั่นเทียว สำนวนนี้ก็ใช้สำหรับผู้หญิงอารมณ์ร้ายแปรปรวนที่แสดงออกทางวาจาเท่านั้น


กระดี่ได้น้ำ
         เป็นสำนวนโบราณใช้กระทบกระเทือนว่ากล่าวกัน ใช้ค่อนว่าผู้ที่แสดงอาการดีใจจนออกนอกหน้า กระโดดโลดเต้นลิงโลด ที่โบราณเอาไปเปรียบกับปลากระดี่ (ปลาชนิดหนึ่งในตระกูลปลาสลิด ปลาหมอ) ที่อยู่ในบ่อน้ำที่แห้งขอดเพราะฝนแล้งจนเกล็ดแห้งร่อแร่รอความตาย พอฝนตกลงมาน้ำท่วมเจิ่งนองไปทั่ว ปลากระดี่เหล่านั้นก็สามารถกระดิกหางว่ายน้ำเล่นได้ด้วยอาการสดชื่นเบิกบานใจ จนเกิดเป็นสำนวนใหม่ว่า “ระริกระรี้เหมือนปลากระดี่ได้น้ำ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้คำจำกัดความไว้ว่า “กระดี้ได้น้ำ” หมายถึงอาการแสดงความดีใจตื่นเต้นจนตัวสั่น ศัพท์สมัยนี้เรียกว่า “กรี๊ด” หรือ “กรี๊ดกร๊าด” นั่นเอง


กินลมกินแล้ง
         สำนวนนี้ มีความหมายที่ใกล้เคียงกับอีกสองคำคือ “สร้างวิมานกลาง (ใน) อากาศ” “ฝันลมๆ แล้งๆ” อีกสำนวนหนึ่งที่พอจะอุปมาไปได้กับสำนวนนี้คือคำว่า “ทอดหุ่ย” หมายความรวมๆ ว่าเป็นเรื่องเลื่อนลอย ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน พอๆ กับไอระเหยที่ไม่มีอะไรให้จับต้องได้ มีแต่ความเป็นอากาศธาตุ มีสำนวนอีกสำนวนหนึ่งที่ใกล้กันทั้งอักษรและความหมายคือ “ตามลมตามแล้ง” ไม่มีจุดมุ่งหมายอะไร ปล่อยให้ไปตามลม หรือสุดแต่จะเป็นไป อาการเดินทอดน่องปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยไม่คิดอะไร เรียกว่า “เดินทอดน่อง” หรือ “ฆ่าเวลา” คือปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไปโดยไร้ประโยชน์ ไม่ได้ทำประโยชน์ใดๆ ขึ้นมาเลย



กรวดน้ำคว่ำขัน
         สำนวนนี้ จะแลเห็นว่ามีกลิ่นอายของสำนวนตลาดติดอยู่มากบางทีก็ใช้คำว่า “กรวดน้ำคว่ำกะลา” เป็นคำที่ปรามาสไม่ให้เกียรติกันเลยทีเดียว (เรียกว่าเกียรติไม่พอที่จะใช้ขันนั่นแล) ความหมายของสำนวนนี้ คือการตัดขาด ไม่เกี่ยวข้องด้วย เลิกยุ่งเกี่ยวด้วยประการทั้งปวง หมายความอีกอย่างว่า “สาปส่งไปเลย” ถ้าให้ถึงใจก็ต้องขนาด “เผาพริก เผาเกลือ” เลยทีเดียวสำนวนนี้เป็นสำนวนใช้แดกดัน จึงใช้สำนวนที่มีความหมายถึงการแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลไปให้ คือจะไปไหนก็ไปเลย จะทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ อย่ากลับมาเกี่ยวข้องกันอีก ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติหน้า คำว่า “กรวดน้ำ” หมายถึงให้ไปให้ไกล ให้ไปให้ลับทำนองเดียวกับการกรวดน้ำให้คนตาย ให้อยู่กันคนละโลกนั่นเอง คำว่า “คว่ำขัน” หมายถึง เลิกคบกัน หรือ สิ้นสุดกัน มีคำที่อยากจะเพิ่มเติมให้ทราบอีกคำที่คล้ายกันคือ “คว่ำบาตร” อีกสำนวนหนึ่งคือ “ตัดหางปล่อยวัด” สำนวนนี้ใช้กับญาติ เช่น “ตัดญาติขาดมิตร” ซึ่งก็หมายถึงการตัดญาติหรือตัดลูกตัดหลาน


กระโถนท้องพระโรง
         คงทราบกันว่า กระโถน เป็นภาชนะชนิดหนึ่งที่ใช้รองรับสิ่งไม่ดี เช่น น้ำลาย และเสมหะทั่วๆ ไป ยิ่งท้องพระโรง (หมายถึง สถานที่เปิดกว้างที่มีผู้คนไปมาเสมอๆ) ก็ยิ่งจะมีสิ่งสกปรกเลอะเทอะมากมาย จึงอุปมาว่า เป็นที่รองรับอารมณ์หรือระบายอารมณ์ทุกอย่างของทุกคน บางทีกลายเป็นที่รับความผิดทุกๆ อย่างของใครต่อใครด้วย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของสำนวนนี้ว่า “ผู้ที่ใครๆ ก็ใช้ได้ หรือผู้ที่ใครๆ ก็รุมอยู่คนเดียว เหมือนอย่างกระโถนท้องพระโรงที่ใครๆ ก็บ้วนน้ำลาย ขากเสลดลงที่นั่น”


กบในกะลาครอบ
         หมายถึงผู้มีความรู้และประสบการณ์น้อย เหมือนกบที่ถูกกะลาครอบไว้ แต่สำคัญตนว่ามีความรู้มาก เพราะมองเห็นเพียงกะลาแคบๆ ใกล้ตัว ขาดโลกทัศน์ที่กว้างไกล พอโผล่ออกมาพ้นกะลาจึงรู้ว่า ยังมีสิ่งต่างๆ อีกมากมายเหลือคณานับ ที่จะต้องเรียนรู้และศึกษาเพิ่มเติม จนทำตนให้กลายเป็น “กบนอกกะลา” ให้จงได้


กบเลือกนาย
         สำนวนนี้มีต้นเค้ามาจากนิทานอีสปเรื่องหนึ่งที่มีชื่อว่า “กบเลือกนาย” นี่แหละ เรื่องมีอยู่ว่าในบึงใหญ่แห่งหนึ่ง มีกบฝูงหนึ่งอาศัยอยู่ วันดีคืนดี กบหัวหน้าก็ปรารภขึ้นว่า “เราเองถึงแม้ว่าจะมีประชากรเลือกเราเป็นผู้นำ แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้ไม่มีฤทธิ์ไม่มีอำนาจที่จะปกป้องคุ้มครองพวกกบทั้งหลายได้สมควรที่เราจะต้องหาผู้ที่มีบุญญาธิการมาเป็นหัวหน้าเราจะดีกว่า” ว่าแล้วก็ชวนบรรดากบทั้งหลายช่วยกันสวดมนต์อ้อนวอนเทวดาขอให้ส่งหัวหน้ามาให้ เทวดาทนคำสวดอ้อนวอนไม่ไหวก็ส่งขอนไม้ใหญ่ท่อนหนึ่งลงมา บรรดากบทั้งหลายดีใจได้นายใจดีให้ปีนขึ้นไปนั่งเล่นกระโดดโลดเต้นก็ได้ แต่ไม่นานก็เบื่อ เพราะเห็นนายไม่ทำอะไรนอกจากลอยน้ำนิ่งๆ กบทั้งหลายก็เลยสวดอ้อนวอนเทวดาขอให้ส่งนายดีๆ มาให้ใหม่คราวนี้เทวดาขัดใจส่งนกกระสาตัวใหญ่ลงมาให้เป็นนาย นกกระสาก็ไม่ทำอะไรนอกจากจับกบกินเป็นอาหารวันละตัวสองตัวจนกบหมดบึง สำนวนนี้มีความหมายว่า ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนใหม่อยู่เรื่อยๆ เป็นคนช่างเลือกไม่พอใจอะไรง่ายๆ ในที่สุดก็ไม่ได้อะไรที่ดีกว่าเดิม เข้าทำนอง เลือกนักมักได้แร่


กวนน้ำให้ขุ่น
         สำนวนนี้โบราณต้องการบอกถึงนิสัยของคนที่ชอบยุ่งเรื่องของคนอื่นเปรียบเหมือนคนที่ชอบยุแยงตะแคงแซะ ทำเรื่องสงบให้กลายเป็นวุ่นวาย มีคำหนึ่งที่ต้องอธิบายเพิ่มเติมให้เข้าใจคือคำว่า “กวน” คือการคนให้เข้ากัน เมื่อเรากวนน้ำ ตะกอนจะนอนก้นทำให้น้ำใส แต่เมื่อใดเรากวนน้ำนั้นอีก ตะกอนที่นอนก้นอยู่ก็จะขุ่นข้นขึ้นมา น้ำก็จะขุ่นดื่มไม่ได้


กินบนเรือนขี้บนหลังคา
         สำนวนนี้เกิดจากเรื่องราวระหว่างคนกับแมว ในสมัยโบราณนั้นผู้คนชอบเลี้ยงแมวไว้ในบ้านด้วยความประสงค์สองอย่างคือ เอาไว้เป็นเพื่อน และเอาไว้จับหนูที่ชอบเข้ามากินข้าวเปลือกที่ใส่กระพ้อม (ที่เก็บข้าวเปลือกไว้ใช้ทำพันธ์สานด้วยไม้ไผ่) เอาไว้ แมวนั้นมีนิสัยแปลก (บางตัว) คือชอบไปถ่ายบนหลังคาบ้าน เวลาฝนตกมาน้ำฝนก็สกปรกใช้ดื่มไม่ได้ จึงเกิดสำนวน “กินบนเรือนขี้บนหลังคา” ขึ้น ความหมายของสำนวนนี้กล่าวเปรียบเทียบกับคนที่เนรคุณ ให้ที่อาศัยพึ่งพิงแล้ว ยังมาสร้างความเดือดร้อนให้อีก


แกว่งเท้าหาเสี้ยน
         สำนวนนี้ มีคำที่จะต้องอธิบายขยายความอยู่คำกนึ่งคือคำว่า “เสี้ยน” หมายถึงเนื้อไม้ที่แตกเป็นเส้นเล็กๆ ส่วนปลายจะแหลมเหมือนหนาม เมื่อตำมือหรือเท้าจะมีความเจ็บปวดต้องบ่ง (แคะหรืองัด) ออกจึงจะหาย สำนวนนี้หมายถึงคนที่ชอบรนหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัว

ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง
         จะสังเกตเห็นว่าสำนวนเปรียบเทียบโบราณจะไม่พ้นเรื่องธรรมชาติและเรื่องสัตว์ อย่างสำนวนนี้ก็จะเปรียบเทียบว่า ไก่นั้นสวยงามเพราะมีขนสวย แต่คนจะสวยงามได้ ก็ต้องใช้วิธีแต่งเพิ่มเติม ทาแป้ง ทาปาก ทำผมให้มีลอนสลวยอย่างนี้ แต่อย่างไรก็ตามความสวยงามภายนอกนั้นไม่จีรัง ความสวยเมื่อสาวตอนแก่ตัวก็อาจจะทรุดโทรมได้ และก็ยากที่จะทำให้สวย แต่ความสวยตลอดกาลคือความสวยงามภายในจิตใจ ที่เรียกว่า สวยด้วยธรรมะ ซึ่งจะสดสวยติดกายอยู่ตลอดกาล


ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่
         สำนวนนี้อ้างอิงสัตว์อีกเช่นเคย คือไก่และงู ที่น่าแปลกก็คือไก่มีนม และงูมีตีน ซึ่งความจริงแล้ว ไก่ไม่มีนม และงูก็ไม่มีตีน (งูใช้วิธีเลื้อยด้วยการขยับเกล็ด) แต่ในสำนวนนี้เป็นการเปรียบเทียบถึงสิ่งที่คนอื่นอาจไม่รู้ไม่เห็นแต่สองฝ่ายต่างรู้เห็นซึ่งกันและกัน จะพูดอีกทีว่าทั้งสองฝ่ายต่างรู้ความลับของกันและกันก็ได้


ใกล้เกลือกินด่าง
         โบราณสร้างคำพังเพยสำนวนนี้ไว้ เพื่อสอนให้สำนึกว่า เกลือนั้นมีคุณค่ามากกว่าด่าง แต่บางคนก็มองว่าด่างนั้นมีคุณค่ากว่าเกลือ ใกล้เกลือแทนที่จะกินเกลือกับไปกินด่าง ความหมายของพังเพยนี้ก็คือ มองข้ามหรือไม่รู้คุณค่าของดีที่อยู่ใกล้ตัวมีประโยชน์แก่ตนกลับไปแสวงหาสิ่งที่ด้อยกว่า


แกงจืดจึงรู้คุณเกลือ
         โบราณนำเกลือมาเป็นอุปมาเช่นเดิม เพื่อเตือนใจให้รู้ว่า เกลือนั้นเป็นเครื่องปรุงรสอาหารดีมาก คนก็เลยไม่ค่อยเห็นคุณค่าของเกลือ (ข้อเท็จจริงก็คือเกลือราคาถุงละ 10 บาท แต่ข้าวที่มีขนาดถุงเท่ากันมีราคาถึง 50 บาท) เวลาอาหารไม่มีรสชาติต้องการเกลือแต่เกลือก็หมดเสียแล้ว ความหมายของพังเพยนี้ก็คือ จะรู้ค่าของสิ่งใด ก็ต่อเมื่อของสิ่งนั้นไม่มีเสียแล้ว


เกลือเป็นหนอน
         เกลือเป็นสิ่งที่โบราณนำมาอุปมาในพังเพยนี้อีก เพื่อจะบอกผู้คนว่า เกลือนั้นมีรสเค็มป้องกันไม่ให้สิ่งของเน่าได้แต่ปรากฏว่ายังมีหนอนขึ้นได้ เปรียบเหมือนคนที่ผูกพันเป็นเพื่อนสนิทพวกเดียวกัน หรือคนที่อยู่ในบ้านเดียวกันทรยศไม่ซื่อต่อกัน


เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง
         คำพังเพยนี้โบราณนำไข่ของสัตว์ชนิดหนึ่งที่คนทั่วไปรังเกียจว่าเป็นสัตว์อัปมงคลคือตัว “เหี้ย” มาเป็นฐานในการอุปมา คือ ไข่ของเหี้ยนั้นอร่อยมาก (เอามาใช้ยำกิน) ส่วนปลาไหลนั้นบางคนเกลียด (เพราะคล้ายงู) แต่คนก็เอามาแกง (แกงเผ็ดใส่กล้วยดิบอร่อยมากๆ) คนเกลียดปลาไหล แต่ก็ยังตักน้ำแกงกินไม่กินเนื้อ ความหมายของพังเพยนี้ก็คือเกลียดตัวเขาแต่ก็ยังอยากได้ผลประโยชน์จากเขา (จึงต้องเสแสร้งแกล้งทำดี)


เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน
         โบราณสร้างคำพังเพยสำนวนนี้ขึ้นเพื่อเป็นการสั่งสอนให้คนรู้จักเก็บออมเงินรายได้ที่ตัวเองหาได้ และใช้เงินให้ถูกต้องต่อการดำเนินชีวิต เช่น ศาสนาพุทธสอนให้จ่ายเงินที่หาได้เป็นสี่ส่วน ส่วนหนึ่งเก็บ ส่วนหนึ่งใช้จ่ายส่วนตัว ส่วนหนึ่งใช้จ่ายเพื่อผู้อื่นที่อยู่ใกล้ชิด ส่วนหนึ่งใช้ทำบุญกุศล โบราณกล่าวถึงเบี้ยใต้ถุนร้าน ต้องอธิบายคำว่า “เบี้ย” คือเปลือกหอยชนิดหนึ่งที่ใช้แทนเงิน เบี้ยนั้นมักจะตกหล่นอยู่ใต้ถุนร้านค้า วันละเบี้ยสองเบี้ย คนที่รู้จักเก็บออมก็จะไปเก็บเบี้ยใต้ถุนร้านเหล่านี้มารวมๆ กันเข้าก็จะได้จำนวนมากมีสำนวนที่มีความหมายคล้ายกันอยู่สำนวนหนึ่งคือ “ออมไว้ไม่ขัดสน”


กินอยู่กับปากอยากอยู่กับท้อง
         โบราณสร้างคำพังเพยสำนวนนี้ขึ้นมาเพื่อประชดคนที่รู้ตัวเองดีว่าทำอะไรไว้ (ที่เสียหาย) แต่กลับทำเสแสร้งแกล้งไม่รู้ไม่เห็น คำพังเพยนี้ดูเหมือนว่าจะเปรียบเปรยถึงสตรีเพศกับบุรุษที่แอบได้เสียกัน จนผู้ใหญ่จับได้ พอซักไซ้ไล่เลียง ก็เถียงข้างๆ คูๆ ว่าไม่รู้ไม่เห็นจนต้องบอกว่า “กินอยู่กับปากอยากอยู่กับท้อง ยังไม่ยอมรับ เลวแท้ๆ”


กินปูนร้อนท้อง
         โบราณสร้างคำพังเพยสำนวนนี้ขึ้นเปรียบเทียบกับคนที่แอบทำชั่วไว้ ปกปิดไม่มิด มีคนไปสอบถามเลียบเคียง ก็ร้อนตัวโวยวายว่าไม่รู้ไม่เห็น พยายามบอกกล่าวทั้งๆ ที่คนอื่นยังไม่ได้ตั้งข้อสงสัย สำนวนเดิมเป็นคำพังเพยง่ายๆ ไม่ต้องแปลคือ “ตุ๊กแกกินปูนร้องท้อง” คือตุ๊กแกเป็นสัตว์อาศัยอยู่ในบ้านคนต้องการอยากจับตุ๊กแกก็ทำง่ายๆ ด้วยวิธีเอาปูนปั้นเป็นเม็ดผสมน้ำยาสูบให้ตุ๊กแกกิน พอกินปูนผสมน้ำยาสูบเข้าไป ปูนจะไปทำปฏิกิริยากับท้องจนร้อนและต้องร้อง “ตุ๊กแก ตุ๊กแก” ออกมาให้คนรู้


กินบุญเก่า
โบราณสร้างคำพังเพยนี้ขึ้นเป็นสำนวนใช้บอกเล่าว่า คนที่สร้างกรรมดีมาแต่ชาติปางก่อนเกิดมาก็อยู่ในตระกูลดี มีความประพฤติดี เพราะมีบารมีบุญเก่ามาตอบแทนให้ในชาตินี้สำนวนนี้จะใช้คำพูดถึงคนที่มีความสุขสบายนั่งอยู่บนกองเงินกองทอง 


กินน้ำใต้ศอก
         โบราณสร้างคำพังเพยสำนวนนี้ขึ้น เพื่อบอกกล่าวถึงคนที่ยอมมีชีวิตเป็นรองคนอื่น ในกรณีนี้มุ่งไปที่ชีวิตครอบครัวหมายถึงคนที่ยอมเป็นเมียน้อยอยู่ใต้อำนาจเมียหลวง เหมือนเวลารองน้ำ น้ำไหลมาล้นขันล้นลงไปใต้ศอก แล้วยังไปอ้าปากดื่มน้ำที่ใต้ศอกได้อย่างนี้


กินน้ำตาต่างข้าว
       คำพังเพยคำนี้โบราณสร้างให้แกคนผู้ที่มีชีวิตที่รันทดโศกเศร้าไม่เคยมีความสุข พบแต่ความทุกข์ระทม ไม่เป็นอันกินอันนอนเหมือนต้องกินน้ำตาแทนข้าว


กินที่ลับไขที่แจ้ง
         โบราณผูกคำพังเพยนี้ไว้เพื่อประจานผู้ชายที่มีสัมพันธ์กับผู้หญิงซึ่งเป็นเรื่องลับ แล้วเอาไปโพนทะนาให้คนรู้โดยทั่วไปเป็นการกระทำของพวกชายกระเบนที่ไม่เป็นสุภาพบุรุษ มีแต่คนชิงชังไม่มีใครคบหาด้วย


กินข้าวร้อนนอนตื่นสาย
        คำพังเพยสำนวนนี้โบราณกล่าวไว้ถึงคนที่มีบุญ มีความสุขสบาย ไม่ต้องลำบากทำมาหากิน ก็มีกิน คนที่กินข้าวร้อนๆ ได้ทุกวัน หรือคนที่นอนตื่นสายได้ทุกวัน ก็ถือว่าเป็นคนที่มีโชคแบบมหาโชคจริงๆ


กินแกลบกินรำ
         โบราณคิดสร้างคำพังเพยสำนวนนี้ขึ้นมาเป็นเชิงประณามถากถางคนที่โง่เง่าเต่าตุ่นว่า เหมือนคนกินแกลบกินรำ (เหมือนหมู) เพราะแกลบคือเปลือกข้าว รำก็คือผงเยื่อของเมล็ดข้าวสาร (เวลาสี) ทั้งสองอย่างเป็นอาหารของสัตว์ ไม่ใช่คน ดังนั้นคนที่กินแกลบกินรำก็คือคนที่ไม่ใช่คน สำนวนนี้โบราณออกจะให้ถ้อยคำสำนวนที่ดุเดือดพอสมควร


กำแพงมีหูประตูมีตา
         โบราณสร้างคำพังเพยคำนี้ไว้เพื่อเตือนใจคนว่า การจะพูดจาให้มีความระมัดระวัง กำแพงก็ดี ประตูก็ดี อาจจะมีช่องรอยแตกให้ความลับที่พูดจากันเล็ดลอดออกมาสู่คนภายนอกได้สำนวนนี้เขียนอีกอย่างว่า “กำแพงมีรูประตูมีช่อง”


กำปั้นทุบดิน
         สำนวนคำนี้โบราณกล่าวลอยๆ เป็นเชิงกระทบกระเทือนว่ากล่าวแก่คนที่พูดจาตอบแบบเซ่อๆ ชนิดพูดเท่าไหร่ก็ถูก เพราะกำปั้นทุบดินนั้น ไม่ว่าทุบตรงไหนก็ตรงแผ่นดินทั้งสิ้นคนที่ตอบคำถามแบบกว้างๆ จึงถูกเรียกว่า “ตอบแบบกำปั้นทุบดิน”