ค้นหาข้อมูล
งดบริจาคโลหิตระหว่างรับประทานยารักษาโรคทุกชนิด
1396 view
 Post Date:  2011-06-18 02:49:22

งดบริจาคโลหิตระหว่างรับประทานยา

กรุณางดบริจาคโลหิตระหว่างรับประทานยารักษาโรคทุกชนิด

นอกจากจะมีโรคหลายชนิดซึ่งสามารถติดต่อโดยการรับโลหิตแล้ว ยังมีสารต่างๆ ที่ตกค้างอยู่ในโลหิตซึ่งสามารถถ่ายทอดไปยังผู้รับโลหิตได้ ดังนั้นผู้บริจาคโลหิตจะต้องเป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บและไม่อยู่ในระหว่างการใช้ยารักษาโรค หรือการติดตามโรค ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้บริจาคโลหิตและผู้รับโลหิต ด้วยเหตุนี้ทางศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ จึงต้องมีการคัดเลือกผู้บริจาคโลหิต ซึ่งกระทำได้โดย

1.การซักประวัติการเจ็บป่วย และการใช้ยารักษาโรคทั้งในอดีตและปัจจุบัน

2.การตรวจร่างกายของผู้บริจาคโลหิต มีการตรวจการทำงานของปอด หัวใจ ความดันโลหิตและความเข้มของโลหิต

การรับประทานยาสำหรับรักษาโรค ย่อมมีผลต่อผู้รับโลหิต อาทิ

การรับประทานยาแก้อักเสบ (Antibiotics) ประเภทยาปฏิชีวนะแสดงว่าผู้บริจาคโลหิตมีการติดเชื้ออยู่ซึ่งอาจผ่านเชื้อและยามากับโลหิต จึงทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับโลหิต ได้รับเชื้อไปด้วย หรืออาจจะแพ้ยาปฏิชีวนะชนิดนั้นจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หรืออาจเกิดอาการทุพพลภาพแก่ร่างกายส่วนใด ส่วนหนึ่ง เช่น หูหนวก และไตพิการ เป็นต้น ฉะนั้นผู้ป่วยที่ใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรค ภายหลังใช้ยาครบจำนวนตามแพทย์สั่งแล้ว 7 วัน จึงสามารถบริจาคโลหิตได้

การรับประทานยาลดน้ำหนักก็ไม่ควรบริจาคโลหิตด้วยเช่นกัน เพราะยาลดน้ำหนัก ส่วนใหญ่มักจะประกอบด้วยยาหลายๆ ชนิด มีทั้งยากดการทำงานของระบบประสาท ยากระตุ้นทำให้ร่างกายมีการเผาผลาญพลังงานมากผิดปกติ ซึ่งทั้งหมดมีผลต่อสุขภาพของผู้บริจาคทั้งสิ้น และยาที่เป็นฮอร์โมนบางตัวก็อยู่ในกระแสโลหิตได้ ส่วนอาหารเสริมและการควบคุมน้ำหนักด้วยการออกกำลังกาย จะไม่มีผลแต่อย่างใดสามารถทำการรับบริจาคได้

รับประทานยาแอสไพริน ยาคลายกล้ามเนื้อหรือยาแก้ปวดข้อ ภายใน 3 วัน ยาที่ใช้ในกลุ่มนี้เป็นยาประเภท NSAIDs ซึ่งมีผลทำให้การทำงานของเกล็ดโลหิตผิดปกติ โดยจะไปยับยั้งไม่ไห้มีการเกาะตัวกันซึ่งจะทำให้โลหิตมีการแข็งตัวช้าลง ทำให้โลหิตหยุดยาก อาจบวมช้ำได้ง่าย ส่วนคุณภาพโลหิตโดยเฉพาะเกล็ดโลหิตจะใช้กับผู้ป่วยไม่ได้ผล เกิดผลเสียต่อการทำผลิตภัณฑ์โลหิตและผู้รับโลหิตเพราะฉะนั้นการที่ผู้บริจาครับประทานยาแล้วมาบริจาคโลหิตจะทำให้โลหิตที่ไดรับบริจาคนั้นมีคุณสมบัติไม่เหมาะสม ที่จะนำไปช่วยผู้ป่วยต่อไปได้ นอกจากนี้อาจทำให้เกิดการช้ำบวมจากการเจาะโลหิตได้ง่ายด้วยและอาจเกิดผลเสียต่อผู้รับโลหิตจากการบริจาคด้วยถ้าหากผู้รับโลหิตเกิดอาการแพ้ยา

 

ที่มา : หนังสือความรู้คู่การบริจาคโลหิต
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย