ค้นหาข้อมูล
ทำไมต้องตรวจความเข้มของโลหิต
1478 view
 Post Date:  2011-06-18 02:49:03

ทำไมต้องตรวจความเข้มของโลหิตทุกครั้งที่บริจาคโลหิต

เซลล์เม็ดเลือดแดงประกอบด้วยโครงสร้างซึ่งมีฮีโมโกลบิน อยู่ภายในและมีเมมเบรนหุ้มรอบ แหล่งกำเนิดของเม็ดโลหิตแดง คือ ไขกระดูก เราจะพบ ไขกระดูกนี้ที่กระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครง กระโหลกศีรษะ ส่วนปลายของกระดูกต้นแขนและต้นขา เป็นต้น เมื่อแรกเกิดเป็นเซลล์ตัวอ่อนต่อจึงมีการเปลี่ยนแปลงเป็นตัวแก่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ต้องอาศัยปัจจัย 2 อย่าง คือ

ปัจจัยแรกเป็นวัตถุจากอาหาร เรียกว่า ปัจจัยภายนอกและปัจจัยที่สองเรียกว่า ปัจจัยภายใน เป็นวัตถุจากน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ปัจจัยเหล่านี้ได้จากอาหารที่ย่อยแล้วในลำไส้ ถูกโลหิตนำไปเก็บไว้ที่ตับและถูกนำไปยังไขกระดูกเมื่อต้องการ อาหารที่จำเป็นในการสร้างเม็ดโลหิต คือ โปรตีน เหล็ก โคบอลท์ สังกะสี ไวตามิน บี และไวตามิน ซี เป็นต้น

ปริมาณเม็ดโลหิตแดงในผู้ชายมีประมาณ 5 ล้านตัวต่อ 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร และ 4.5 ล้านตัวต่อ 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตรในผู้หญิง

หน้าที่สำคัญของเม็ดโลหิตแดงคือ นำออกซิเจนจากปอดไปสู่เนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ และนำคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาถ่ายเทที่ปอด ฮีโมโกลบินในเซลล์เม็ดโลหิตแดงเป็นตัวสำคัญในการที่จะนำออกซิเจนที่เพียงพอสำหรับเซลล์เนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย

ฮีโมโกลบินตามปกติมีเฉลี่ย 15 กรัมต่อโลหิต 100 ซีซี. ฮีโมโกลบินในเม็ดโลหิตแดงจะมีออกซิเจนอยู่ราว 98 เปอร์เซ็นต์ ถ้ามีออกซิเจนอยู่ต่ำอาจทำให้หน้าที่ของระบบประสาทส่วนกลาง และหัวใจทำงานไม่ปกติหัวใจต้องทำงานหนักขึ้น โดยบีบตัวให้เร็วขึ้น เพื่อให้การขนส่งทวีเที่ยวขึ้นออกซิเจนจึงจะพอเลี้ยงเซลล์เนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายทำให้เกิดอาการเหนื่อยง่าย

เม็ดโลหิตแดงจะมีอายุประมาณ 4 เดือน เม็ดโลหิตแดงที่หมดอายุจะถูกทำลายในม้าม และจะมีเม็ดโลหิตแดงเกิดขึ้นมาใหม่แทนที่เม็ดโลหิตแดงที่ตายไป การเกิดของเม็ดโลหิตแดงต้องอาศัยปัจจัย 2 อย่างดังที่กล่าวมาแล้วถ้าเมื่อใดร่างกายขาดปัจจัยในการสร้างเม็ดโลหิต ก็จะทำให้การสร้างเม็ดโลหิตบกพร่องไป ทำให้ปริมาณเม็ดโลหิตแดงต่ำกว่าปกติที่เราเรียกว่า โลหิตจาง (ความเข้มของโลหิตต่ำ)

ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นต้องตรวจความเข้มของเม็ดโลหิตแดงทุกครั้งก่อนการบริจาคโลหิต เพื่อหาความเข้มหรือสีของโลหิต ถ้าโลหิตไม่เข้มข้นหรือสีจางจะเป็นอันตรายแก่ผู้บริจาคโลหิตได้ เช่น อาจเป็นลมหลังบริจาคและโลหิตที่ได้มาอาจมีคุณภาพต่ำสำหรับผู้ป่วยที่รับโลหิต

การเจาะโลหิตเพื่อดูความเข้มของโลหิต (ฮีโมโกลบิน) สามารถเจาะดูได้ 3 นิ้ว คือ นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อย แต่ไม่นิยมเจาะที่นิ้วก้อยเพราะมักจะมีโอกาสสัมผัสกับสิ่งต่างๆ มากหลังเจาะเพราะเป็นนิ้วสุดท้ายหรืออาจจะทำให้เจ็บและมีการติดเชื้อง่าย ส่วนนิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือ ห้ามเจาะเนื่องจากกายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์บริเวณนิ้วทั้งสอง จะมีเนื้อเยื่อติดต่อลงไปยังฝ่ามือและข้อมือ ถ้าเกิดการติดเชื้อ จะทำให้ลุกลามไปได้รวดเร็ว และยากต่อการรักษา และการเจาะแต่ละครั้งควรเจาะบริเวณกลางนี้วของข้อนิ้วสุดท้าย เนื่องจากบริเวณด้านข้างนิ้วของทั้งสองด้านจะมีเส้นโลหิตแดง และเส้นประสาทอยู่ ถ้าเข็มแทงลึกลงไปถูกอวัยวะสำคัญทั้งสองได้

 

ที่มา : หนังสือความรู้คู่การบริจาคโลหิต
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย