ค้นหาข้อมูล
งานบริการโลหิตที่ดีต้องมีสำรอง
1254 view
 Post Date:  2011-06-18 02:47:09

 

จากการที่องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดเป้าหมายเกี่ยวกับงานบริการโลหิตสำหรับทุกประเทศในโลกไว้ว่า ควรมีโลหิต และผลิตภัณฑ์โลหิตที่ปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะทำได้ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการใช้ของประเทศการจัดหาโลหิตต้องจัดหาให้เพียงพอ และปลอดภัย โดยมาตรฐานแล้วร้อยละ 2 ของประชากรในแต่ละประเทศควรเป็นผู้บริจาคโลหิต สำหรับประเทศไทยจะต้องจัดหาโลหิตให้ได้ปีละ 1,600,000 (หนึ่งล้านหกแสน) ยูนิตขึ้นไปจึงจะเพียงพอ แต่ปัจจุบันคงจัดหาได้เพียง 1,400,000 1,500,000 ยูนิตเท่านั้นโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ เป็นต้น 5 6 เปอร์เซ็นต์ของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นควรจะบริจาคโลหิต แต่ความเป็นจริง คือยังมีผู้บริจาคโลหิตสม่ำเสมอไม่เพียงพอ ทั้งนี้เพราะจะมีผู้บริจาคโลหิตปีละ 1 2ครั้งเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันได้พยายามดำเนินวิธีการต่างๆ ให้ผู้บริจาคโลหิตกลับมาบริจาคโลหิตสม่ำเสมอทุก 3 เดือน เพราะผู้บริจาคโลหิตสม่ำเสมอส่วนใหญ่แล้วโลหิตมีคุณภาพดี เหมาะสมให้กับผู้ป่วยต่อไป อย่างไรก็ตามโลหิตที่มีคุณภาพดี ต้องผ่านการตรวจตามขั้นตอนในห้องปฏิบัติการ ซึ่งต้องใช้เวลาตามที่กำหนดเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดเวลาที่ใช้ในการตรวจในห้องปฏิบัติการ คือ

-การตรวจหมู่โลหิตต่างๆ ใช้เวลาประมาณ 30 นาที

-การตรวจแอนตี้บอดี้ของหมู่โลหิต ใช้เวลา 30 45 นาที

-การตรวจเชื้อต่างๆ เช่น เชื้อซิฟิลิส ใช้เวลา 10 นาที - 3 ชั่วโมง

-การตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ใช้เวลา 1 ชั่วโมง

-การตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี ใช้เวลา 3 ชั่วโมง

-การตรวจเชื้อไวรัสแอนตี้บอดี้เอชไอวี ใช้เวลา 2 ชั่วโมง

-การตรวจเชื้อไวรัสเอชไอวีแอนติเจน ใช้เวลา 4 ชั่วโมง

ประมาณการว่า ถ้าตรวจคัดกรองเชื้อต่างๆ ในโลหิตตามมาตรฐานของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ จะใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง และถ้ามีผลการตรวจสงสัย ต้องทำการตรวจสอบเพื่อยืนยันผลอย่างเร็วที่สุด ต้องใช้เวลาอีก 1 วัน ดังนั้นการจัดหาโลหิตเตรียมสำรองไว้โดยผ่านการตรวจทางห้องปฏิบัติการเรียบร้อยแล้ว จ่ายได้ทันทีจะเป็นการดีอย่างยิ่ง ในกรณีเช่นนี้ ต้องมีโลหิตสำรองอยู่ในคลังเลือดไม่ต่ำกว่า 3,000 3,500 ยูนิตต่อวัน เพราะการประกาศหาโลหิตฉุกเฉินเร่งด่วนนั้นใช่ว่าจะได้โลหิตที่ปลอดภัยทั้งหมดที่จะนำไปช่วยเหลือผู้ป่วย

หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องงานบริการโลหิต ได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้จัดให้มีการรณรงค์จัดหาผู้บริจาคโลหิตทั่วไป ซึ่งมีศรัทธาในการบริจาคโลหิต ให้มาบริจาคอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุก 3 เดือนเพื่อให้มีโลหิตสำรองไว้ใช้อย่างเพียงพอ โดยไม่ต้องให้คนไข้หรือโรงพยาบาลเกิดความเดือดร้อนในเรื่องที่มีโลหิตไม่เพียงพอต่อการรักษา การประกาศหาโลหิตฉุกเฉินจะหมดไปเมื่อประชาชนเข้าใจ นอกจากนี้ยังต้องการให้ทุกท่านเห็นว่าการบริจาคโลหิตเรื่องที่ทุกคนควรตระหนักเพราะผู้ที่จะบริจาคโลหิตได้ต้องมีสุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัวใดๆ ทั้งสิ้น

 

ที่มา : หนังสือความรู้คู่การบริจาคโลหิต
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย