ค้นหาข้อมูล
การควบคุมคุณภาพของโลหิต
1916 view
 Post Date:  2011-06-18 02:44:35

งานบริการโลหิต เป็นงานที่ต้องมีการปรับปรุง และพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในด้านของการบริหารจัดการและการบริการเพื่อคุณภาพที่ดี มีความปลอดภัยสูงสุด และสามารถตรวจสอบได้ อันก่อให้เกิดความไว้วางใจของผู้บริจาคโลหิต และผู้ป่วยที่ต้องรับโลหิต จะต้องได้รับโลหิตที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานอย่างมีประสิทธิภาพ

ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย นอกจากจะมีหน้าที่จัดหาโลหิตให้ได้มากที่สุด เพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยทั่วประเทศแล้ว ยังจะต้องคำนึงถึงคุณภาพของโลหิตที่จะให้กับผู้ป่วยอีกด้วย ดังนั้นการจัดระบบการประกันคุณภาพของงานบริการโลหิต จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และได้นำมาตรฐานระบบคุณภาพ ISO 9001:2000

มาใช้โดยตระหนักถึงความสำคัญของการนำมาตรฐานระบบคุณภาพ ISO 9001:2000 ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยจัดระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยศูนย์บริการโลหิตฯได้มุ่งมั่นพัฒนามาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2541 รวมระยะเวลาการดำเนินงาน 2 ปี และเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2543 คณะอนุกรรมการรับรองระบบจากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (สรอ.) ได้อนุมัติให้การรับรองระบบบริหารงานคุณภาพ มอก. / ISO 9001: 2000 แก่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสภากาชาดไทย นับได้ว่าเป็นองค์กรการกุศลแห่งแรก ที่มีศักยภาพและมีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานที่เป็นระบบและมีการปรับปรุงพัฒนาระบบคุณภาพงานบริการโลหิตสู่ความเป็นสากล อันจะส่งผลให้งานบริการโลหิตของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยประเด็นเนื้อหาของการประกันคุณภาพงานบริการโลหิต ประกอบด้วย กระบวนการสำคัญ 3 ประการ คือ

ประการที่ 1 คือ การบริการโลหิตทั่วไป อาทิ การประชาสัมพันธ์, การรณรงค์จัดหาผู้บริจาคโลหิต, การทำทะเบียนผู้บริจาคโลหิต, การบริหารงานทั่วไป, การเจาะเก็บโลหิต, การตรวจหมู่โลหิต, การตรวจกรองพาหะติดเชื้อในโลหิตบริจาค, การจ่ายโลหิตและผลิตภัณฑ์โลหิตและการเตรียมส่วนประกอบโลหิต

ประการที่ 2 คือ การบริการพิเศษ อาทิ การเตรียมส่วนประกอบโลหิตด้วยเครื่องอัตโนมัติเพื่อการบริจาคและการรักษา, การบริจาคโลหิตให้ตนเองการแช่แข็งเม็ดโลหิตแดงและสเต็มเซลล์, การตรวจหาแอนติเจน แอนตี้บอดี้ของเม็ดโลหิตแดง เม็ดโลหิตขาว เกล็ดโลหิต, การทำ crossmatching, การตรวจวิเคราะห์ DNA เพื่อการตรวจ HLA, การกรองเม็ดโลหิตขาว,การฉายรังสีส่วนประกอบโลหิต, ตรวจ CD 34 marker และ leukemia phenotyping

ประการที่ 3 คือ การผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ สำหรับการบริการโลหิตอาทิ การผลิตถุงบรรจุโลหิต, การแปรรูปพลาสมา, การผลิตน้ำยาตรวจหมู่โลหิตและเซลล์มาตรฐาน, การควบคุมคุณภาพน้ำยาและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ดังนั้นจากการที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติฯ ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9001:2000 จึงเป็นการสร้างความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยของผู้เจ็บป่วยที่มีความจำเป็นได้รับโลหิตในการรักษาพยาบาล ตลอดจนความมั่นใจให้กับผู้บริจาคโลหิตด้วย

 

 

ที่มา : หนังสือความรู้คู่การบริจาคโลหิต
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย