ค้นหาข้อมูล
การบริจาคเฉพาะเม็ดโลหิตแดง
1586 view
 Post Date:  2011-06-18 02:44:12

การพัฒนางานบริการโลหิต ต้องดำเนินให้สอดคล้องกันระหว่าง การจัดหาผู้บริจาคโลหิต การเจาะเก็บโลหิต การตรวจคัดกรองเชื้อ และการเก็บสำรองเพื่อจ่ายกับโรงพยาบาลต่างๆ นำไปใช้ นอกจากนี้ยังสนับสนุนบริการเฉพาะส่วนประกอบโลหิต ผลิตภัณฑ์โลหิตชนิดพิเศษ เพื่อแพทย์นำไปใช้กับผู้ป่วยเฉพาะโรค ซึ่งนับเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่ง ของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ในขณะนี้

ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับโลหิตบ่อยๆ เพื่อการรักษา ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจจะเกิดอาการแพ้ มีไข้ หนาวสั่น ทั้งนี้เกิดจากที่ผู้ป่วยสร้างภูมิต้านทานต่อเม็ดโลหิตขาว หรือผู้ป่วยสร้างภูมิต้านทานต่อเม็ดโลหิตแดงทำให้จัดหาโลหิตที่เข้ากับผู้ป่วยได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเพื่อป้องกันมิให้ผู้ป่วยสร้างภูมิต้านทานต่อเม็ดเลือดแดง จำเป็นต้องลดความแตกต่างของเม็ดโลหิตแดงที่ได้รับ โดยพยายามใช้โลหิตจากผู้บริจาคโลหิตรายเดิม ซึ่งปัจจุบันมีเทคนิคการรับบริจาคเฉพาะเม็ดโลหิตแดง

การบริจาคเฉพาะเม็ดโลหิตแดง (Red cell pheresis) หรือ SDR (Single donor red cell) คือการบริจาคเฉพาะเม็ดโลหิตแดง ได้จำนวน 2 ยูนิต ยูนิตละ 200 มิลลิลิตร (ซี.ซี.) จากผู้บริจาคโลหิตรายเดียว ด้วยเครื่องแยกส่วนประกอบโลหิตอัตโนมัติ (Blood cell separator) โดยเครื่องดังกล่าวจะทำการแยกเก็บเฉพาะเม็ดโลหิตแดงไว้ และคืนส่วนประกอบโลหิตอื่นๆ เช่น น้ำเหลือง (plasma) เม็ดโลหิตขาว เกล็ดโลหิตเข้าสู่ร่างกาย จากนั้นจะชดเชยส่วนที่บริจาคออกมาด้วยน้ำเกลือ 400 มิลลิลิตร (ซี.ซี.) ให้กับผู้บริจาคท่านนั้น (ชดเชยเท่ากับปริมาณเม็ดโลหิตแดงที่บริจาคออกไป)

คุณสมบัติผู้บริจาคเบื้องต้น เช่นเดียวกับผู้บริจาคโลหิตทั่วไป เช่น อายุระหว่าง 18 60 ปีบริบูรณ์ ไม่มีโรคประจำตัว ไม่อยู่ในระหว่างรับประทานยาต่างๆ สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ส่วนคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างจากการบริจาคโลหิตทั่วไปดังนี้ ผู้บริจาคชาย น้ำหนักมากกว่า 59 กิโลกรัม ส่วนสูงมากกว่า 155 เซนติเมตร ผู้บริจาคหญิง น้ำหนักมากกว่า 68 กิโลกรัม ส่วนสูงมากกว่า 165 เซนติเมตร และต้องมีค่าความเข้มข้นโลหิตมากกว่า 40% มีค่าอัตราส่วนระหว่างน้ำหนักต่อพื้นที่ผิว น้อยกว่า 25 และสามารถบริจาคได้ทุก 16 สัปดาห์ หรือทุก 4 เดือน ใช้เวลาบริจาค 35 นาที

ประโยชน์ของการบริจาคเฉพาะเม็ดโลหิตแดง ประการแรก สามารถเตรียมโลหิตสำรองไว้สำหรับการผ่าตัดตนเอง (Autologous Blood) ครั้งเดียวได้ 2 ถุง ประการที่สอง เป็นโลหิตที่เตรียมจากผู้บริจาคโลหิตคนเดียว เป็นการลดอัตราเสี่ยงจากการติดเชื้อทางโลหิตจากผู้บริจาคหลายๆ คน ประการที่สาม เม็ดโลหิตแดงที่เตรียม ได้ผ่านการล้างและกรองเม็ดโลหิตขาวออก นอกจากจะใช้กับผู้ป่วยเช่นเดียวกับการให้เม็ดโลหิตแดง ในผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางจากสาเหตุต่างๆ แล้วยังเหมาะกับผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย หรือผู้ป่วยที่มีแอนตี้บอดี้ต่อต้านเม็ดโลหิตขาว และใช้ในผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ

ผู้ป่วยที่ต้องการเก็บโลหิตของตนเองก่อนการผ่าตัด หรือธนาคารเลือดและโรงพยาบาลผู้สนใจต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามหน่วยรับบริจาคพลาสมาและเกล็ดโลหิต ฝ่ายปฏิบัติการร่วมองค์การอนามัยโลก ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โทรศัพท์ 0-2263-9600-99 ต่อ 1143, 1144 ทุกวันในเวลาราชการ

 

 

ที่มา : หนังสือความรู้คู่การบริจาคโลหิต
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย