ค้นหาข้อมูล
การบริจาคเกล็ดโลหิต
1681 view
 Post Date:  2011-06-18 02:43:19

เกล็ดโลหิต หรือเพลทเล็ท (Platelets) เป็นเซลล์เม็ดโลหิตชนิดหนึ่งมีขนาดเล็กมาก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เกล็ดโลหิตมีความสำคัญต่อร่างกายอย่างยิ่ง ช่วยทำให้โลหิตแข็งเป็นลิ่ม ช่วยอุดรอยฉีกขาดของเส้นโลหิตเวลาที่ถูกของมีคมบาดทำให้เลือดหยุดไหล

โดยปกติคนเราจะมีเกล็ดโลหิตประมาณ 1 ถึง 5 แสนตัวต่อโลหิต 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร ถ้ามีเกล็ดโลหิตต่ำมากๆ จะทำให้เกิดภาวะโลหิตออกง่ายโดยเฉพาะถ้าโลหิตออกในอวัยวะสำคัญๆ เช่น สมอง อาจจะทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว และยังมีอีกหลายโรคที่ทำให้เกิดภาวะเกล็ดโลหิตต่ำ เช่น โรคมะเร็งเม็ดโลหิตขาว โรคไขกระดูกและโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น โรคไข้เลือดออก เป็นต้น

ผู้ป่วยเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยใช้เกล็ดโลหิต ซึ่งศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ได้เปิดการรับบริจาคเกล็ดโลหิตขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยจะขอความร่วมมือจากผู้บริจาคโลหิตทั่วไปที่เป็นผู้บริจาคโลหิตประจำสม่ำเสมอ การบริจาคเกล็ดโลหิต จะไม่เปิดรับทั่วๆ ไป เหมือนการบริจาคโลหิต ทั้งนี้เพราะปกติแล้วเกล็ดโลหิตที่อยู่ในร่างกายจะมีอายุประมาณ 10 วัน แต่ถ้าเจาะออกมานอกร่างกายจะมีอายุอยู่ได้เพียง 24 ชั่วโมง หรืออย่างมากที่สุดไม่เกิน 5 วัน แล้วแต่การเตรียมและชนิดของถุงบรรจุ ซึ่งจะต้องเก็บที่อุณหภูมิ 22 องศาเซลเซียส และอยู่ในเครื่องเขย่าเบาๆ ดังนั้นการขอรับบริจาคเกล็ดโลหิตจะกระทำเมื่อมีผู้ป่วยต้องการเท่านั้น โดยแพทย์ผู้ทำการรักษาจากโรงพยาบาลต่างๆ เป็นผู้ขอมา ไม่มีการรับบริจาคเกล็ดโลหิตสำรองไว้เพราะหากไม่ได้นำไปใช้เกล็ดโลหิตจะเสียไปโดยเปล่าประโยชน์

การรับบริจาคเกล็ดโลหิตจะกระทำโดย ใช้เครื่องรับบริจาคเกล็ดโลหิตระบบอัตโนมัติ โดยจะแยกเฉพาะเกล็ดโลหิตไว้เท่านั้น ส่วนเม็ดโลหิตต่างๆรวมทั้งพลาสมาจะคืนกลับเข้าไปสู่ร่างกายของผู้บริจาค ระยะเวลาในการบริจาคเกล็ดโลหิตค่อนข้างนาน คือต้องใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาทีแต่ทั้งนี้ผู้บริจาคโลหิตจะไม่มีอาการอ่อนเพลียใดๆ ทั้งสิ้น และสามารถทำงานได้ปกติ

คุณสมบัติของผู้บริจาคเกล็ดโลหิต คืออายุ 18 60 ปี น้ำหนัก 50 กิโลกรัมขึ้นไป ไม่มีโรคติดต่อใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนคุณสมบัติพิเศษ หมู่โลหิตต้องตรงกับผู้ป่วยที่ต้องการเกล็ดโลหิต ที่เส้นโลหิตตรงข้อพับที่แขนทั้งสองข้างต้องเห็นได้ชัด มีจำนวนเกล็ดโลหิตมากกว่า 200,000 ตัว /ลูกบาศก์มิลลิลิตร (ก่อนบริจาคขอเจาะโลหิตเพื่อตรวจนับจำนวนเกล็ดโลหิตก่อน) ไม่รับประทานยาแก้ปวดแอสไพรินในระยะเวลา 7 วันก่อนมาบริจาค ต้องเป็นผู้บริจาคโลหิตประจำสม่ำเสมอ

ผู้ที่บริจาคเกล็ดโลหิตไปแล้วหลังจากนั้น 1 เดือน ก็สามารถบริจาคโลหิตได้ตามปกติ การบริจาคเกล็ดโลหิตโดยทั่วไป บริจาคได้เดือนละ 1 ครั้งแต่ถ้าในกรณีจำเป็นจริงๆ สามารถบริจาคได้ทุก 3 วัน เพราะเกล็ดโลหิตจะใช้เวลาสร้างขึ้นมาใหม่ภายใน 3 วัน เกล็ดโลหิตมีความสำคัญต่อชีวิตผู้ป่วยโปรดเห็นใจ หากได้รับการขอร้องจากศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ให้ท่านบริจาคเกล็ดโลหิต เพราะการตัดสินใจของท่านเท่ากับได้ช่วยชีวิตผู้ป่วยเหล่านั้นแล้ว

 

 

ที่มา : หนังสือความรู้คู่การบริจาคโลหิต
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย