ค้นหาข้อมูล
การบริจาคพลาสมา
1509 view
 Post Date:  2011-06-18 02:41:01

พลาสมา เป็นส่วนน้ำของโลหิต ประกอบด้วยสิ่งต่างๆ มากมาย แต่ที่สำคัญคือน้ำเพราะมีอยู่ประมาณ 92 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาเป็นสารโปรตีน 8 เปอร์เซ็นต์ สารโปรตีนเหล่านี้ได้แก่ แอลบูนิน อิมมูโนโกลบูลิน ซึ่งมีความสำคัญเป็นภูมิต้านทานต่อโรคติดต่อและเชื้อโรค นอกจากนี้ยังมีโปรตีนที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการแข็งตัวของลิ่มเลือด การแยกพลาสมาออกจากโลหิตบริจาคจะได้ปริมาณเพียง 100 -150 มิลลิมิตร หรือ ซี.ซี. เท่านนั้น ไม่เพียงต่อการใช้ในผู้ป่วย จึงได้มีการรับบริจาคเฉพาะพลาสมาขึ้นมา

พลาสมาที่ได้รับบริจาคมานี้ สามารถนำไปทำผลิตภัณฑ์โลหิตเพื่อการรักษาพยาบาล ตามที่แพทย์ในปัจจุบันต้องการใช้รักษาผู้ป่วยมากขึ้น โดยใช้กรรมวิธีเทคโนโลยีชั้นสูง ในประเทศไทยมีเพียงที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติเป็นผู้ผลิตแห่งเดียวเท่านั้น แต่ยังผลิตไม่เพียงพอใช้ไปทั่วประเทศ โรงพยาบาลต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จึงต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูงผลิตภัณฑ์โลหิตเพื่อการรักษาเหล่านี้ ได้แก่ แอลบูมิน 20% ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก และโรคตับ, ไครโอปริซิพิเตท รักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคฮีโมฟีเลีย เอ, และอิมมูโนโกลบูลิน แยกการทำเป็น 2 ชนิด คือ เซรุ่มป้องกันโรคตับอักเสบ ชนิดบี และเซรุ่มป้องกันและรักษาโรคหลังจากถูกสุนัขบ้ากัด

ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สามารถจัดหาพลาสมาได้ 2 วิธี คือ

1.จากการนำโลหิตที่ได้รับบริจาคนำไปปั่นแยกส่วนประกอบของโลหิตจะได้พลาสมาออกมา แต่ละปีศูนย์บริการโลหิตฯ จัดหาด้วยวิธีนี้ได้ปีละประมาณ 6,000 ลิตรเท่านั้น ซึ่งสาขาบริการโลหิตที่มีเครื่องปั่นแยกพลาสมาก็ใช้วิธีการเดียวกันนี้

2.เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหาพลาสมา จึงได้ขอรับบริจาคพลาสมาโดยตรง โดยใช้เครื่องมือพิเศษที่เรียกว่า เซลล์เซ็บพาเรเตอร์ (Cell Separator) วิธีนี้สะดวก ปลอดภัย และใช้เวลาน้อย ผู้บริจาคจะบริจาคเฉพาะพลาสมา ส่วนเม็ดโลหิตแดงจะคืนสู่ร่างกายของผู้บริจาค

การบริจาคพลาสมากระทำได้ทุก 14 วัน ในขณะที่การบริจาคโลหิตได้ทุก 3 เดือน ผู้บริจาคพลาสมาควรมีคุณสมบัติ คือ ชายหรือหญิงอายุระหว่าง 17 60 ปี น้ำหนักไม่น้อยกว่า 50 กิโลกรัม สุขภาพแข็งแรงไม่เป็นโรคติดต่อใดๆ ทั้งสิ้น ใช้เวลาในการบริจาค 30 45 นาที โดยท่านจะได้รับการเจาะเก็บ 500 ซี.ซี.

ผู้ที่เคยบริจาคโลหิตอยู่แล้วสามารถเปลี่ยนเป็นบริจาคพลาสมาได้โดยเว้นระยะเวลา 3 เดือน (สมัครเข้าโครงการได้ที่ห้องรับบริจาคพลาสมาและเกล็ดโลหิต) แต่ถ้าต้องการเปลี่ยนจากบริจาคพลาสมาเป็นบริจาคโลหิตเว้นระยะเวลา 1 เดือน

 

 

 

ที่มา : หนังสือความรู้คู่การบริจาคโลหิต
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย