ค้นหาข้อมูล
โลหิตที่ได้รับบริจาคนำไปทำอะไรบ้าง
1866 view
 Post Date:  2011-06-18 02:36:16

 

มักจะมีผู้สงสัยไต่ถามอยู่เสมอว่า โลหิตที่ได้รับบริจาคไปทุกวันนั้นนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง โลหิตทุกยูนิตที่มีผู้มีจิตศรัทธาเสียสละบริจาคให้นั้นสามารถนำไปใช้ในการรักษาผู้เจ็บป่วย ที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือจากการคลอดบุตรผิดปกติ จากอุบัติเหตุและโรคที่เกี่ยวกับโลหิตทั้งหลาย

เมื่อได้รับโลหิตจากผู้บริจาคแล้ว ก่อนนำไปจ่ายให้โรงพยาบาลต่างๆ ต้องผ่านการตรวจตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกคือ การตรวจหาหมู่โลหิตทุกระบบ ตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบบร เชื้อไวรัสตับอักเสบซี เชื้อเอชไอวี เชื้อซิฟิลิส นอกจากนี้ยังนำโลหิตไปแยกส่วนประกอบเพื่อนำไปใช้กับผู้ป่วยต่อไป

การนำโลหิตมาแยกส่วนประกอบนั้น เป็นการใช้โลหิตที่เหมาะสม และใช้ได้ตรงตามอาการของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพการแยกส่วนประกอบโลหิตแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ส่วนที่เป็นเม็ดโลหิตแดง และส่วนที่เป็นพลาสมาหรือน้ำเหลือง

เม็ดโลหิต คือ ส่วนที่เป็นเซลล์ มีลักษณะเป็นสีแดง ประกอบด้วยเม็ดโลหิตแดง เม็ดโลหิตขาว และเกล็ดโลหิต

เม็ดโลหิตแดง นำไปให้กับผู้ป่วยที่เสียโลหิตโดยฉับพลันและให้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคโลหิตจาง

เม็ดโลหิตขาว นำไปให้กับผู้ป่วยที่มีเม็ดโลหิตขาวต่ำ เพื่อเสริมความต้านทานในการฆ่าเชื้อโรคที่เข้ามาในร่างกาย

เกล็ดโลหิต นำไปใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการเลือดออกไม่หยุด ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก และโรคไขกระดูกฝ่อ

พลาสมาและน้ำเหลือง คือ ส่วนของเหลวที่แยกออกจากเซลล์เม็ดโลหิต มีสีเหลืองอ่อน เป็นส่วนที่เก็บไว้ได้ง่าย และสะดวกกว่าโลหิตในกรณีฉุกเฉินสามารถใช้พลาสมาแทนโลหิตได้ และใช้รักษาผู้ป่วยที่ถูกน้ำร้อนลวกหรือไฟไหม้ได้ดี ในพลาสมามีโปรตีนอยู่หลายชนิดที่สำคัญและแยกใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ เช่น แอลบูมิน ใช้ในการรักษาโรคที่ขาดโปรตีน เช่น โรคบวม โรคตับ โรคไตบางชนิด และโรคขาดสารอาหารในเด็ก อิมมูโนโกลบูลิน ใช้รักษาและป้องกันโรคติดต่อต่างๆ เช่น โรคอีสุกอีใส โรคตับอักเสบ โรคพิษสุนัขบ้า ไครโอปรีซิปิเตท ใช้สำหรับผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย หรือโรคเลือดไหลไม่หยุด สารโปรตีนไฟบรินโนเยน ใช้ในผู้ป่วยที่มีบาดแผลแล้วเลือดไหลไม่หยุด

จากการที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย นำโลหิตที่ได้รับบริจาคมาปั่นแยกส่วนประกอบโลหิต และนำไปใช้ประโยชน์กับผู้ป่วยโรคต่างๆ ทำให้โลหิตที่ได้รับจากการบริจาคใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น ตรงตามนโยบายระดับชาติเกี่ยวกับงานบริการโลหิต ในเรื่องของการส่งเสริมและกระตุ้นให้แพทย์ใช้โลหิต และส่วนประกอบโลหิตอย่างถูกต้อง คือใช้เท่าที่จำเป็นและมีความรู้ในการใช้ส่วนประกอบของโลหิตอย่างถูกต้องและแพร่หลายอีกด้วย

 

ที่มา : หนังสือความรู้คู่การบริจาคโลหิต
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
TRC.BL-TMR09-08-0001