ค้นหาข้อมูล
ความรู้พื้นฐานเรื่องโลหิต
1582 view
 Post Date:  2011-06-18 02:34:44

อวัยวะในร่างกายมนุษย์ที่มีหน้าที่สร้างเม็ดโลหิตคือ ไขกระดูก เม็ดโลหิตที่สร้างจากไขกระดูก มี 3 ชนิดคือ เม็ดโลหิตแดง เม็ดโลหิตขาว และเกล็ดโลหิต เม็ดโลหิตทั้ง 3 ชนิด มีการเจริญเติบโตจากเซลล์อ่อน ไปเป็นเซลล์ที่เติบโตเต็มที่ และหลุดจากไขกระดูกเข้าไปในกระแสโลหิต เพื่อทำหน้าที่ต่างๆกัน เม็ดโลหิตแดงทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจน เพื่อให้เซลล์ของอวัยวะต่างๆ ใช้สันดาปอาหารเป็นพลังงาน เม็ดโลหิตขาว ทำหน้าที่ปกป้องและทำลายสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย ส่วนเกล็ดโลหิต ทำหน้าที่ช่วยให้โลหิตแข็งตัวตรงจุดที่มีการฉีกขาดของเส้นโลหิต เม็ดโลหิตแดงจะมีอายุการใช้งานอยู่ในกระแสโลหิตประมาณ 120 วัน เม็ดโลหิตขาว และเกล็ดโลหิตอายุประมาณ 5 10 วัน

การบริจาคโลหิต เป็นการนำโลหิตออกจากร่างกาย โดยเจาะออกทางเส้นเลือดดำครั้งหนึ่งๆ ประมาณ 350 450 มิลลิลิตร (ซี.ซี.) หรือประมาณ 6 7 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณโลหิตในร่างกาย การเอาโลหิตออกจากร่างกายในปริมาณดังกล่าว ไม่เกิดอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด แต่จะช่วยกระตุ้นให้ไขกระดูกทำงานได้ดีขึ้น ในทำนองเดียวกันการออกกำลังกายที่ช่วยให้การทำงานของกล้ามเนื้อแขนขาดีขึ้น ระบบไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น แต่ทั้งนี้หมายถึงการบริจาคโลหิตซึ่งไม่บ่อยเกินเกณฑ์ที่กำหนด คือบริจาค 3 เดือนครั้งมิฉะนั้นอาจเกิดภาวะโลหิตจางจากการสูญเสียธาตุเหล็กได้ ผู้บริจาคโลหิตจึงควรบริจาคโลหิต ในขณะที่รู้สึกว่าร่างกายของตนสมบูรณ์เท่านั้น ไม่ควรฝืนใจบริจาคโลหิตเมื่อรู้สึกว่าร่างกายของตนไม่ปกติ

โดยทั่วไปหมู่โลหิตมีด้วยกัน 2 ระบบ คือ ระบบเอบีโอ และระบบอาร์เอช ระบบเอบีโอ แบ่งออกเป็น 4 หมู่ คือ หมู่เอ หมู่บี หมู่โอ และหมู่เอบีการจำแนกหมู่ดังกล่าวอาศัยการค้นพบสารโปรตีนซึ่งฉาบอยู่บนเม็ดโลหิตเป็นสำคัญ เม็ดโลหิตที่มีสารเอ เรียกว่าหมู่โลหิตเอ เม็ดโลหิตที่มีสารบี เรียกว่าหมู่โลหิตบี เม็ดโลหิตที่มีทั้งสารเอและบี เรียกว่าหมู่โลหิตเอบี ส่วนเม็ดโลหิตที่ไม่มีสารเอและสารบี เรียกว่าหมู่โลหิตโอ ร้อยละ 37.5 ของคนไทยมีหมู่โลหิตโอซึ่งเป็นหมู่โลหิตที่พบมากที่สุด รองลงไปเป็นหมู่บี 33.4 เปอร์เซ็นต์ หมู่เอ 21.7 เปอร์เซ็นต์ และหมู่เอบี 7.4 เปอร์เซ็นต์

นอกจากจำแนกหมู่โลหิตตามระบบเอบีโอ โดยอาศัยสารเอและสารบีแล้วยังมีการจำแนกหมู่โลหิตระบบอาร์เอช กล่าวคือเม็ดโลหิตที่มีสารอาร์เอช หรือสารดีอยู่ด้วย เรียกว่า อาร์เอชโพสิทีฟ หรืออาร์เอชบวกส่วนเม็ดโลหิตที่ไม่พบสารดี เรียกว่าอาร์เอชเนกกาตีฟ หรืออาร์เอชลบ ในคนไทย 1,000 คน จะพบอาร์เอชบวก 997 คน และอาร์เอชลบเพียง 3 คน ดังนั้นอาร์เอชเนกกาตีฟ หรืออาร์เอชลบจึงเป็นหมู่โลหิตที่หายาก นิยมเรียกว่าหมู่โลหิตพิเศษ ในการถ่ายโลหิตต้องให้หมู่โลหิตของผู้ให้และผู้รับตรงกัน จึงจะปลอดภัย การให้โลหิตต่างหมู่จะเกิดปฏิกิริยาอย่างรุนแรงและทำให้ผู้รับโลหิตเสียชีวิตได้ ดังนั้นการตรวจสอบอย่างรอบคอบถี่ถ้วนก่อนนำโลหิตไปให้ผู้ป่วย จึงเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญยิ่ง

 

 

ที่มา : หนังสือความรู้คู่การบริจาคโลหิต
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
TRC.BL-TMR09-08-0001