ค้นหาข้อมูล
หน้าที่ของโลหิตและส่วนประกอบ
1658 view
 Post Date:  2011-06-18 02:31:24

หน้าที่ของโลหิตและส่วนประกอบ

โลหิต คือของเหลวที่ไหลเวียนไปทั่วร่างกาย โดยอาศัยเส้นโลหิตขนาดต่างๆ โดยเฉลี่ยแล้วปริมาณโลหิตในร่างกายผู้ใหญ่ปกติ จะมีประมาณ 70 ซี.ซี / กิโลกรัมน้ำหนักตัว คือประมาณ 5-6ลิตรในเพศชาย และ 4-5 ลิตรในเพศหญิง เมื่อนำโลหิตในร่างกายมาแยกส่วนประกอบของโลหิต จะได้ส่วนประกอบของโลหิต 2 ส่วนคือ พลาสมาและเม็ดโลหิต

พลาสมา หรือน้ำเหลือง มีลักษณะเป็นของเหลวสีเหลือง ค่อนข้างใสส่วนที่เป็นพลาสมาประกอบด้วยน้ำ สารชีวะเคมี เอนไซม์ ฮอร์โมน แอลบูมิน อินมูโนโกลบูลินชนิดต่างๆ และสารที่ช่วยให้เกิดการแข็งตัวของโลหิต

ในส่วนของเซลล์เม็ดโลหิต ประกอบด้วยเม็ดโลหิตแดง เม็ดโลหิตขาว และเกล็ดโลหิต ซึ่งโลหิตในร่างกายมนุษย์นั้นมีคุณสมบัติพิเศษ คือมีความหนืดมีความเป็นด่างอ่อนๆ และมีสีแดงสด เพราะสารฮีโมโกลบินในเม็ดโลหิตแดงซึ่งเซลล์เม็ดโลหิตแดงช่วยในการถ่ายเทออกซิเจนให้กับร่างกาย

โลหิตในร่างกายของเรามีหน้าที่สำคัญหลายอย่าง คือ ขนส่งก๊าซออกซิเจนจากการหายใจเข้า และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายเมื่อหายใจออก มีหน้าที่ในการขนส่งอาหารโดยการดูดซึมสารอาหารจากกระเพาะอาหารและลำไส้เข้าสู่กระแสโลหิตและไหลเวียนผ่านไปยังตับ และส่งต่อให้เซลล์เนื้อเยื่อของอวัยวะโดยเฉพาะจากต่อมไร้ท่อ ให้สามารถส่งต่อไปสู่อวัยวะต่างๆ ที่ต้องการสารสังเคราะห์ชนิดนั้นๆ นอกจากนี้โลหิตยังมีหน้าที่รักษาดุลของน้ำและเกลือแร่ ปรับระดับอุณหภูมิในร่างกายให้คงที่ด้วยการไหลเวียนของโลหิตไปทั่วร่างกาย เม็ดโลหิตขาวทำหน้าที่ในการป้องกันการติดเชื้อ และสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย

เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต มีกำเนิดและพัฒนาการจากเซลล์เนื้อเยื่อและแทรกตัวเข้ามาอยู่ในอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโลหิตโดยเฉพาะไขกระดูกซึ่งจะได้รับการกระตุ้นและควบคุมการสร้างเซลล์เม็ดโลหิต จากฮอร์โมนที่เฉพาะวิวัฒนาการของการสร้างเม็ดโลหิตนั้นจะเกิดขึ้นพร้อมกับการปฏิสนธิของทารกในครรภ์ และดำเนินต่อไปหลังจากคลอดออกจากครรภ์มารดาแล้วการสร้างเซลล์เม็ดโลหิตในแต่ละช่วงชีวิตมีการพัฒนาไปกับการเจริญเติบโตของร่างกายอย่างมีระบบ และมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน

ในร่างกายของคนเราจะมีเซลล์เม็ดโลหิตแดงประมาณ สามสิบล้านล้านเซลล์ (5.5 x 10/ลิตร) ในเวลา 120 วัน เซลล์เม็ดโลหิตแดงที่แก่จำนวน 1.2 ล้านเซลล์ จะถึงกำหนดถูกทำลายและขับถ่ายออกมาขณะเดียวกันไขกระดูกจะผลิตเซลล์เม็ดโลหิตใหม่ขึ้นมาทดแทนไม่มีวันหมดดังนั้นคนปกติจึงสามารถบริจาคโลหิตได้ทุก 3 เดือน โดยไม่ทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกายใดๆ ทั้งสิ้น

 


 

ที่มา : หนังสือความรู้คู่การบริจาคโลหิต
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
TRC.BL-TMR09-08-0001