ค้นหาข้อมูล
ตัวอย่างการวิเคราะห์swotบริษัท ดี เอช แอล (ประเทศไทย)
27030 view
 Post Date:  2011-06-11 03:02:51

Case Study : บริษัท ดี เอช แอล (ประเทศไทย)

โดยนศ.มัณฑนา ศิริเอก

ประวัติบริษัท ดี เอช แอล (ประเทศไทย)

ดีเอชแอล ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการขนส่งด่วนและลอจิสติกส์ระดับโลก ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญพิเศษในการมอบนวัตกรรมและโซลูชั่น ด้านการบริการขนส่งด่วน การขนส่งทางอากาศ ทางเรือ และทางบก ตลอดจนโซลูชั่นด้านลอจิสติสก์ต่างๆ และบริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ซึ่งได้รับการออกแบบโดยเฉพาะเพื่อสนองตอบความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าจากผู้ให้บริการเพียงรายเดียว โดยสามารถเข้าถึงผู้ใช้บริการทั่วทุกมุมโลก และมีความเข้าใจถึงความต้องการของตลาดในแต่ละประเทศได้อย่างลึกซึ้ง ปัจจุบัน ดีเอชแอลมีเครือข่ายเชื่อมโยงไปยังจุดหมาย 120,000 แห่ง ครอบคลุมมากกว่า 220 ประเทศ และอาณาเขตต่างๆ ทั่วโลก โดยมีบุคลากรกว่า 285,000 คนทั่วโลก ดีเอชแอล เป็นหนึ่งในตราสินค้าของดอยช์ โพสท์ เวิลด์ เน็ต ซึ่งสามารถทำรายได้ 2,760 ล้านล้านบาท หรือ 60 พันล้านเหรียญยูโร ในปี 2006

ดีเอชแอล ประเทศไทย ให้บริการขนส่งและลอจิสติกส์อย่างครบวงจรด้วยศักยภาพของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ดีเอชแอล โกลบอล ฟอร์เวิร์ดดิ้ง และดีเอชแอล เอ็กเซล ซัพพลายเชน ที่ช่วยให้ลูกค้าได้รับความสะดวกอย่างเต็มที่จากการติดต่อผู้ให้บริการเพียงรายเดียว (one-stop-shop) ซึ่งรองรับการขนส่งทุกรูปแบบ ตั้งแต่เอกสารไปจนถึงตู้คอนเทนเนอร์ โดยมีพนักงาน 1,700 คนให้บริการอย่างมืออาชีพ ผ่านเครือข่ายและจุดบริการมากกว่า 20 แห่ง ที่ให้บริการครอบคลุม 76 จังหวัดทั่วประเทศไทย
ข้อมูลสำคัญของ ดีเอชแอล ประเทศไทย
ก่อตั้งในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2516
จำนวนการขนส่งในปี พ.ศ. 2549 มากกว่า 3.3 ล้านชิปเม้นท์ (มากกว่า 17.2 ล้านกิโลกรัม)
จำนวนลูกค้ากว่า 30,000 ราย
บริการครอบคลุม 76 จังหวัด
จำนวนพนักงาน 800 คน
จำนวนของพาหนะที่ใช้ในการส่ง 150 คัน
จุดให้บริการ 20 แห่ง (ศูนย์กระจายสินค้า สำนักงานใหญ่ ศูนย์รับ-ส่งด่วน และศูนย์ให้บริการ)
จำนวนเที่ยวบินต่อสัปดาห์ มากกว่า 400 เที่ยวบิน (เที่ยวบินของดีเอชแอล และเครื่องบินพาณิชย์)
ศูนย์กระจายสินค้า (ฮับ )กรุงเทพฯ เป็น 1 ใน 6 ศูนย์กระจายสินค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ดอยช์ โพสท์ เวิลด์ เน็ต เป็นผู้ถือหุ้นของดีเอชแอล 100%

วิสัยทัศน์
สร้างความไว้วางใจให้ลูกค้ามากกว่าคู่แข่งใด ๆ ในโลก เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมทั้งทางด้านคุณภาพ , ผลกำไร และส่วนแบ่งตลาด
พันธกิจ
DHL นำเสนอบริการต่าง ๆ ที่หลากหลายในการ ขนส่งด่วนและโลจิสติกส์ที่มีคุณภาพสูงให้กับลูกค้า ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ และกลุ่มเครือข่ายที่กว้างขวางในโลก
ให้ความสนใจ พัฒนา สนับสนุน และรักษา บุคลากรที่สามารถสร้างคุณค่าในการทำงานให้กับองค์กร
เน้นการให้บริการทุกระดับอย่างดีเลิศ
ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมในชุมชนทั้งในส่วนของพนักงาน และ สาธารณะทั่วไป

การวิเคราะห์ Five Force

1. ภาวการณ์แข่งขันในอุตสาหกรรม
ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมการส่งจดหมายและพัสดุนั้นในประเทศไทยนั้น อาจจะถือได้ว่าเป็นตลาดที่
ค่อนข้างใหม่ จึงทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมนั้นยังไม่ค่อยรุนแรงมากสักเท่าไหร่ เพราะผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้ก็มีเพียง 5 รายหลัก ๆ คือ ไปรษณีย์ไทย , DHL , FED EX , TNT และ UPS ซึ่งถือว่ายังมีผู้เล่นน้อยรายนัก ในขณะที่ความต้องการในเรื่องของความรวดเร็วในการขนส่งตัวสินค้าหรือเอกสารต่าง ๆ นั้นมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ตลาดในส่วนนี้นั้นยังคงมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ
ในสภาวะที่การแข่งขันไม่รุนแรงมากนัก จึงทำให้ DHL ผู้ซึ่งมีความพร้อมทั้งทางด้านเงินทุน เทคโนโลยี อีกทั้งยังเข้าบุกเบิกตลาดในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 30 ปีมาแล้ว อีกทั้ง DHL ยังมีการทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของงาน even ต่าง ๆ การออกแคมเปญใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในสังคมปัจจุบันมากยิ่งขึ้น หรือแม้กระทั่งการทำกิจกรรมเพื่อสังคม สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จึงทำให้ DHL นั้นที่เป็นจดจำของผู้บริโภคได้อย่างเป็นอย่างดี และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์การ บวกกับการให้บริการที่รวดเร็ว ฉับไว จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ DHL จะมีส่วนแบ่งตลาดที่มากที่สุดในอุตสาหกรรมนี้


2. สภาวะการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่
แม้ว่าตลาดจะมีการแข่งขันน้อยรายย่อมที่จะเปิดโอกาสให้กับบริษัทคู่แข่งอื่น ๆ ที่ต้องการจะเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ แต่ก็ยังไม่ค่อยมีบริษัทใหม่ ๆ ที่เข้ามา ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะว่าต้องเข้ามาแข่งกับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีเม็ดเงินในการดำเนินงานที่ค่อนข้างสูง และมิหนำซ้ำยังมีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยอีกด้วย นอกจากนั้นยังมีประเด็นทางด้านข้อกฎหมายที่คุ้มครองให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ให้มีสิทธิ์ในการส่งจดหมายได้เพียงบริษัทเดียวเท่านั้นในประเทศไทยจึงทำให้ยังไม่มีบริษัทอื่น ๆ เข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดนี้เพิ่มเติมได้
แม้จะยังไม่มีผู้เล่นหน้าใหม่ ๆ เข้ามาในตลาด และ DHL จะมีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับหนึ่ง แต่นั่นก็ยังไม่ทำให้ DHL นั้นนิ่งนอนใจได้ เพราะ DHL ยังคงต้องการทำสื่อสารทางการตลาดกับผู้บริโภคอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง แต่ถึงแม้จะยังไม่มีคู่แข่งที่เผชิญหน้ากันอย่างเป็นทางการ แต่ในเรื่องของการส่งเอกสาร หรือพัสุดภัณฑ์ต่าง ๆ นั้น ยังมีกลุ่มที่ให้บริการในรูปแบบนี้แบบอย่างไม่เป็นทางการอีกมา โดยเฉพาะในสังคมเมืองที่ต้องการความรวดเร็ว และราคาไม่แพงมากนัก บริการแบบนี้บางครั้งก็เรียกกันว่า อัศวินม้าขาว ที่คอยเป็นMessager แบบชั่วคราวให้กับบริษัทต่าง ๆ ในบางครั้ง ซึ่งรูปแบบการขนส่งอาจจะเป็นสิ่งของที่ไม่ใหญ่มากนัก และต้องการความรวดเร็วในการส่งเช่น เอกสารด่วนบางอย่าง หรือ บางครั้งแค่แผ่น ซีดี เพียงแผ่นเดียว
ถึงแม้ว่าธุรกิจประเภท อัศวินม้าขาวนั้น จะไม่ได้ทำให้กระทบกระเทือนถึง DHL สักเท่าไหร่ แต่ก็ทำให้เกิดกลุ่มลูกค้าบางกลุ่มที่ยังไม่ได้เลือกใช้บริการของบริษัทใด ๆ ไม่ว่าจะเป็น ไปรษณีย์ไทย , UPS , FED EX , TNT หรือแม้กระทั่ง DHL เองก็ตาม แต่หากว่ากฎหมายคุ้มครองในเรื่องของการส่งจดหมาย หรือพัสดุภัณฑ์ขนาดเล็กได้มีการเปลี่ยนแปลง ยกเลิกการคุ้มครองบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด นั่นคงจะทำให้กลุ่มผู้เล่นรายหลัก ๆ รวมทั้ง DHL คงให้ความสนใจในลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้นอย่างแน่นอน

3. สภาวะการต่อรองของ Supplier
เนื่องจากว่าผู้เล่นหลัก ๆ ในอุตสาหกรรมนี้ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีเงินทุนอย่างแน่นหนา และมีเทคโนโลยีที่พรั่งพร้อม จึงทำให้ไม่ค่อยเกิดภาวการณ์บีบคั้นต่าง ๆ ของSupplier ได้ โดยเฉพาะ DHL เพราะ DHL นั้นมีระบบการให้บริการที่ครบวงจร มีพร้อมรถขนส่ง และ เครื่องบินเป็นของตนเอง ส่วนหนึ่งมาจากการที่ DHL นั้นได้มีการ Repositioning แบรนด์ของตัวเอง โดยเปลี่ยนจากคูเรียร์ มาเป็นผู้นำทางด้านโลจิสติกส์แทน จึงทำให้ DHL นั้นมีพร้อมในทุกด้าน จึงไม่ต้องกังวลในเรื่องของการต่อรองของsupplier

4. สภาวะการต่อรองของลูกค้า
เนื่องจากกลุ่มลูกค้าหลัก ๆ ของอุสาหกรรมนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มริษัท หรือองค์กร ซึ่งจะให้ความสำคัญ ในเรื่องของการให้บริการที่มีความถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว ลูกค้าเหล่านี้ยินดีจ่ายในระดับราคาพรีเมี่ยม หากบริษัทสามารถส่งสินค้าหรือเอกสารได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้เรื่องการต่อรองในราคานั้นมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ
กลุ่มลูกค้า DHL นั้นเป็นกลุ่มองค์กร หรือกลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่ต้องติดต่อกับต่างประเทศ ซึ่งคำนึงในเรื่องของการให้บริการที่มีความถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็วเป็นสำคัญ ซึ่ง DHL ก็ให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมกับ ค่านิยม 2 ข้อใน 7 ข้อหลัก ของบริษัท คือ 1. มุ่งสร้างการให้บริการอย่างเป็นเลิศ และ 2. มุ่งสร้างความสำเร็จให้กับบริษัทของลูกค้า

5. สิ่งที่สามารถเข้ามาทดแทนได้
ในปัจจุบันคงต้องยอมรับว่ายังคงไม่มีสิ่งที่จะมาทดแทนในส่วนนี้ได้ จะมีก็ได้เพียง E-mail ที่จะเข้ามามาทดแทนกับจดหมายธรรมดา ซึ่งในส่วนนี้นั้นยังไม่ได้ส่งผลกระทบกระเทือนต่อ DHL

  

การวิเคราะห์ 5 M
1. Man เนื่องจาก DHL นั้นเล็งเห็นได้ว่า บุคลากรนั้นเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุด จึงทำให้ DHL นั้นได้ริเริ่มโครงการในการพัฒนคนต่าง ๆ มากมาย เช่น โครงการ MBA ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาระดับปริญญาโทนั้นได้ทำการฝึกงานกับทางบริษัท ซึ่งจะทำให้นักศึกษาเหล่านั้นสามารถใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ได้อย่างเต็มความสามารถ
2. Money DHL เป็นผู้ให้บริการทางด้านโลจิสติกส์ระดับแนวหน้าของโลก ซึ่งกำไรในการประกอบการเมื่อปี 2549 ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 1,590 ล้านดอลลาร์ จึงทำให้ DHL นั้นมีเม็ดเงินในการลงทุนหรือการขยายกิจการได้อีกเป็นจำนวนมาก
3. Machine การที่ DHL นั้นเป็นผู้นำในด้านโลจิสติกส์ครบวงจร ซึ่งทำให้ DHL นั้นย่อมมีเทคโนโลยี และวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ทันสมัยและล้ำยุคมากกว่าคู่แข่งอื่น ๆ อย่างเช่น การมีสายการบินที่คอยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ ถึง 4 สายการบิน คือ
 สายการบิน European Air Transport ประจำ ณ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม ให้บริการขนส่งภายใต้เครือข่ายดีเอชแอล ยุโรป และเส้นทางบินระยะไกลไปยังตะวันออกกลาง และแอฟริกา โดยใช้เครื่องบินโบอิ้ง 757SF/PF และแอร์บัส A300B4

 สายการบิน DHL Air UK ซึ่งเป็นสายการบินล่าสุดของดีเอชแอล ประจำที่สนามบิน East Midlands ประเทศอังกฤษ ให้บริการขนส่งภายใต้เครือข่ายดีเอชแอล ยุโรป โดยใช้เครื่องบินโบอิ้ง 757SF
 สายการบินดีเอชแอล Middle East ประจำ ณ สนามบินระหว่างประเทศบาห์เรน โดยให้บริการภายใต้เส้นทางบินในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมทั้งประเทศอัฟกานิสถาน และอิรัก โดยใช้เครื่องบินที่หลากหลายของภูมิภาค
 สายการบินดีเอชแอล Latin American ประจำ ณ เมืองปานามา คอยให้บริการภายใต้เส้นทางบินในภูมิภาคอเมริกากลางและอเมริกาใต้ โดยใช้เครื่องบินโบอิ้ง 727
ย่อมจะทำให้ DHL นั้นเกิดความได้เปรียบทางการแข่งขันมากกว่าคู่แข่งอื่น ๆ อย่างแน่นอน
4. Management เนื่องจาก DHL นั้นมีการควบรวมกิจการกับบริษัทต่าง ๆ จึงทำให้การให้บริการของ DHL นั้นไม่ได้มีแค่การขนส่งทางด่วนเท่านั้น การควบรวมกิจการในครั้งนี้นั้นทำให้ DHL นั้นมีการให้บริการหลากหลายรูปแบบมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้ DHL มีการแบ่งการบริหารงานของหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเป็นระบบและชัดเจนมากยิ่งขึ้น
5. Marketing การที่ DHL นั้นมีการควบรวมกิจการ ทำให้ DHL เปลืยนจากสถานะของการเป็นคูเรียร์ สู่ การเป็นผู้นำทางด้านโลจิสติก และซัพพลายเชนอย่างครบวงจร DHL จึงทำการ Repositioning ตัวเองใหม่ และ DHL ยังได้ทำการสื่อสารการตลาดกับผู้บริโภคอยู่อย่างสม่ำเสมอ และหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การใช้สื่อทางโทรทัศน์ , Display หรือการโฆษณาทางสื่อสิ่งพิมพ์เป็นค้น รวมทั้งการทำ Event Marketing โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ลูกค้าทั้งในกลุ่มลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ เกี่ยวกับธุรกิจใหม่ "One Stop Shop" ที่จะเกิดขึ้นจากการรวมกิจการของดีเอชแอล และดานซาส ซึ่งเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่แห่งโลกการขนส่งด่วน และลอจิสติกส์ เพื่อช่วยให้ลูกค้าได้รับบริการขนส่งด่วนและลอจิสติกส์อย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพที่สุดในบริษัทแห่งเดียว

 

 

การวิเคราะห์ SWOT
จุดแข็ง (S)
1. DHL มีความพร้อมในเรื่องของเงินลงทุน และมีความพรั่งพร้อมในเรื่องของเทคโนโลยีที่ทันสมัย ประกอบกับ DHL นั้นมีเครื่องบินและยานพาหนะในการขนส่งเป็นของตนเอง ทำให้ DHL นั้นมีความได้เปรียบทางการแข่งขันในเรื่องของความรวดเร็วในการขนส่ง
2. DHL มีบุคลากรที่มีความพร้อมในการทำงาน 285,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนบุคลากรนั้นมีมากพอที่สามารถให้บริการแต่ลูกค้าได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการ
3. DHL นั้นมีเครือข่ายในการทำธุรกิจ และมีการร่วมทุนกับบริษัทต่าง ๆ เช่น Cappelletti Spa ผู้นำทางด้านลอจิสติกส์ของอิตาลี , Higgs ผู้นำในเรื่องขนส่งครบวงจรสำหรับหนังสือพิมพ์และนิตยสารในอังกฤษ และเบลเยี่ยม , Power Europe ผู้นำทางด้านซัพพลายเชนครบวงจรของยุโรป ซึ่งการร่วมทุนกับบริษัทที่มีความแข็งแกร่งนั้นย่อมจะสร้างความเข้มแข็งในกับ DHL ไปในตัวด้วย
4. DHL มีการแบ่งการบริหารงานของหน่วยงานแต่ละหน่วยอย่างชัดเจน ซึ่งทำให้ระบบการทำงานนั้นมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
จุดอ่อน (W)
1. การควบรวมกิจการบางครั้งอาจจะทำให้ระบบการทำงานภายในเกิดปัญหาในเรื่องของวัฒนธรรมข้ามองค์กรได้ หากไม่ได้มีการแก้ไขอย่างถูกวิธีนั้นย่อมจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กรได้
2. การที่ DHL นั้นได้มีโครงการให้นักศึกษาได้ทำการฝึกงานกับบริษัท บางครั้งนักศึกษาบางรายได้พลาดโอกาสที่จะทำงานกับบริษัท แต่หากคนกลุ่มนั้นได้เข้าไปร่วมงานกับบริษัทที่เป็นคู่แข่ง ก็อาจจะทำให้คู่แข่งนั้นรู้ระบบการทำงานของ DHL มากขึ้นได้
3. การที่บริษัทนั้นเป็นบริษัทข้ามชาติ อาจจะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการสื่อสาร ซึ่งอาจจะเกิดมากจากความไม่แตกฉานในเรื่องของภาษาบ้างในบางท้องถิ่น
โอกาส (O)
1. เนื่องจากการขยายตัวของธุรกิจนั้นยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง อีกทั้งการโลกธูรกิจยังจำเป็นที่จะต้องพึ่งบริการในด้านนี้เพื่อเป็นตัวกลางในการขนส่งเอกสารหรือพัสดุที่สำคัญระหว่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นจังหวะที่ดีของบริษัทที่จะทำ IMC กับลูกค้าหรือออกแคมเปญใหม่ ๆ เพื่อเป็นการรักษาฐานลูกค้าเก่า และขยายฐานลูกค้าใหม่
2. ในการควบรวมกิจการ ทำให้สถานะของ DHL นั้นเปลี่ยนจาก คูเรียร์ สู่ การเป็นผู้นำทางด้านซัพพลายเชน และ ลอจิสติกส์อย่างครบวงจร ซึ่งทำให้ DHL นั้นมีโอกาสในการทำตลาดในอุตสาหกรรมการขนส่งอื่น ๆ เช่น ทางเรือ , ศูนย์กลางในการกระจายสินค้า , เป็นผู้นำในการจัดการคลังสินค้า ป็นต้น
อุปสรรค (W)
1. แม้ว่า DHL นั้นจะมีการให้บริการที่หลากหลายรูปแบบ แต่ธุรกิจในด้านการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นในด้านใดก็ตาม ก็ล้วนแต่เป็นธุรกิจหลักที่สำคัญของ DHL ซึ่งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งนั้น มักจะต้องอาศัยพลังงาน เช่น น้ำมัน เป็นวัตถุดิบที่สำคัญ การที่ราคาน้ำมันยังคงผันผวนอยู่ ย่อมจะทำให้บริษัทนั้นได้รับผลกระทบไปด้วย
2. ในสภาวะที่โลกกำลังเผชิญกับเหตุการณ์เลวร้ายต่าง ๆ เช่นการก่อการร้าย หรือการที่โลกอาหรับต่อต้านชนชาติทางยุโรปที่เป็นพันธมิตรกับอเมริกา ย่อมจะส่งผลทำให้การขยายการลงทุนหรือการดำเนินการในประเทศนั้น ๆ มีความยากลำบากมากยิ่งขึ้น

การทำ BOS ของ DHL
คือการที่ DHL นั้นได้ทำการเจาะตลาดในกลุ่มของนักเรียน นักศึกษา ที่ต้องการจะเรียนต่อต่างประเทศหรือกลุ่มคนที่กำลังเรียนอยู่ที่ต่างประเทศ แต่ต้องการที่จะส่งสิ่งของ หรือใบตอบรับจากเข้าศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ภายใต้บริการที่ชื่อว่า University Service
บริการ University Servie มีจุดเด่นอยู่ตรงที่ว่า ราคาในการให้บริการนั้นประหยัดกว่าบริการในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับรายได้ของนักเรียน / นักศึกษา อีกทั้งผู้ใช้บริการยังสามารถที่จะติดตามสิ่งของตั้งแต่ต้นทาง ระหว่างทาง หรือปลายทาง ได้อยู่ตลอดเวลา โดยผ่านระบบ GPS หรือยังสามารถสอบถามสถานะของสิ่งของโดยผ่านช่องทางต่าง ๆ มากมาย เช่น call center , เว็บไซต์ หรือ E-mail เป็นต้น

 

การจัดทำกรณีศึกษาของ นศ. MBA ม.ธนบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ "งานวิเคราะห์ธุรกิจ "
เอกสารนี้เป็นเอกสารที่ใช้ในการประกอบการเรียน ซึงความเห็นหรือแนวทางในการวิเคราะห์เป็นแค่เพียงหลักการและการแสดงความคิดเห็นเพื่อใช้ในการประกอบการเรียนเท่านั้น
ที่มา:

 http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=dnt&month=08-2008&date=24&group=40&gblog=37

 

tag : การวิเคราะห์swot , ตัวอย่างการวิเคราะห์swot ,กรณีศึกษาการวิเคราะห์swot, ตัวอย่างการวิเคราะห์swotบริษัท,การวิเคราะห์swotบริษัท,ตัวอย่างการวิเคราะห์swotบริษัท,swotคืออะไร,ความหมายของswot,swotหมายถึงอะไร,บริษัทกรณ๊ศึกษาการวิเคราะห์swot