ค้นหาข้อมูล
ประเพณีผีตาโขน
2723 view
 Post Date:  2011-05-20 04:24:18

ประเพณีผีตาโขน

         งานประเพณีผีตาโขน เป็นประเพณีของชาวอีสาน โดยเฉพาะที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป แสดงในงานบุญหลวง บุญบั้งไฟ

         ผีตาโขนเป็นการละเล่นชนิดหนึ่งของชาวอีสาน โดยผู้เล่นจะสวมหน้ากากโดยใช้หวดนึ่งข้าวมาทำเป็นหน้ากาก และตกแต่งด้วยทางมะพร้าวแห้งแต่งแต้มสีสันให้ดูแปลกตาและน่ากลัว นำเศษผ้าหลากหลายสีมาเย็บต่อกันเพื่อทำเป็นชุดสวมใส่เครื่องแต่งตัวประกอบที่เป็นเอกลักษณ์ของผีตาโขน คือ หมากกะแหล่ง มีไว้เพื่อเขย่าให้เกิดเสียงดังระหว่างเดินโยกตัวหรือเต้นเป็นจังหวะ มีลักษณะคล้ายกระดิ่งหรือกระดึงแขวนคอวัว และอีกชนิดหนึ่งคือ ดาบไม้ เป็นอาวุธประจำกายเอาไว้ควงและหลอกล่อไล่จิ้มก้นสาวๆ แต่ไม่มีการถือสากลายเป็นที่สนุกสนาน เนื่องจากเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบกันมา และปลายดาบ มีการสลักเป็นรูปอวัยวะเพศชายและทาสีแดง เพราะมีความเชื่อว่าการนำอวัยวะเพศชายหญิงมาแสดงในงานหรือพิธีแห บุญบั้งไฟจะทำให้พญาแถนพอใจ ฝนจะตกตามฤดูกาลและมีความอุดมสมบูรณ์

         ผีตาโขน แบ่งเป็น 2ชนิด คือ ผีตาโขนใหญ่ ผีตาโขนเล็ก

         ผีตาโขนใหญ่ นำไม้ไผ่สานเป็นหุ่นรูปผี ขนาดใหญ่กว่าคนประมาณ 2 เท่า ตกแต่งตัวหุ่นด้วยวัสดุต่างๆ โดยที่คนจะเข้าไปอยู่ข้างในหุ่น และจะมีผีตาโขน ชาย 1 ตัวและผีตาโขนหญิง 1 ตัว

         ผีตาโขนเล็ก คือ ทุกคนสามารถแต่งตัวเป็นผีตาโขนเล็กได้ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่ส่วนใหญ่ผู้หญิงไม่นิยมร่วมขบวนผีตาโขนเล็ก เพราะมีการเล่นค่อนข้างผาดโผน

         ในส่วนของพิธีกรรมจะมี 2 วัน คือ ในวันแรก เรียกกันว่า วันโฮม ขบวนของผีตาโขนจะแห่รอบหมู่บ้านในตอนเช้ามืด เพื่อเป็นการอัญเชิญพระอุปคุต เข้ามาอยู่ที่วัด เชื่อว่าพระอุปคุตจะช่วยคุ้มครองป้องกันภยันตรายต่างๆ ให้งานบุญราบรื่นไปด้วยดี ในวันที่สอง ผีตาโขนจะหยอกเวสสันดร และพระนางมัทรี เข้าเมือง โดยสมมติวัดเป็นเมือง เรียกว่า แห่พระ ในขบวนประกอยด้วย แสนด่านถือ บายศรี ขบวนแห่พระพุทธรูป ขบวนแห่พระสงฆ์ 4 รูป ขบวนของคณะแสนนางเทียม (ผู้ประกอบพิธีเลี้ยงผี) และปิดท้ายด้วยขบวนแห่บั้งไฟ หลังจากนั้นก็จะมีการฟังเทศน์มหาชาติ

         เมื่อเสร็จพิธีกรรมแล้วผู้ที่จะเล่นผีตาโขนจะต้องนำเครื่องเล่นผีตาโขนรวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบพิธีไปลอยที่แม่น้ำ

         ประเพณีผีตาโขนเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมานานจนกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัดเลย ที่รวมอยู่ในงานบุญหลวงที่มีงานบุญผะเหวดและบุญบั้งไฟและถือเป็นการบูชาอารักษ์หลักเมือง และบวงสรวงดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ในอดีตอีกด้วย