ค้นหาข้อมูล
ประเพณีบุญบั้งไฟ
2217 view
 Post Date:  2011-05-20 04:24:04

ประเพณีบุญบั้งไฟ

         บั้ง หมายถึง กระบอกไม้ไผ่ หรือไม้กระบอก

         บั้งไฟ หมายถึง ดอกไม้เพลิง ที่ใช้ดินอัดในกระบอกไม้ไผ่ใส่หางแล้วจุดให้พุ่งขึ้นในอากาศเพื่อเป็นการบวงสรวง

         ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นประเพณีขอฝนของชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นิยมจัดในช่วงฤดูฝน เข้าสู่การทำนาประมาณเดือน 6 หรือเดือน 7 เพื่อเป็นการบูชาแถน (แถน หมายถึง เทวดา นั่นก็คือพระอิศวรผู้เป็นเทพารักษ์รักษาท้องฟ้า) ให้ฝนตกตามฤดูกาล

         บั้งไฟมีทั้งหมด 3 แบบ คือ บั้งไฟธรรมดา บั้งไฟหมื่น บั้งไฟแสน ซึ่งจะมีความแตกต่างกันที่ขนาดบรรจุดินดำ การทำบั้งไฟในสมัยก่อนใช้ไม้ไผ่ที่มีลำขนาดใหญ่ ทะลวงปล้อง ใช้ตอกไม้ไผ่เป็นเชือกมัดอัดบรรจุดินปืนให้แน่นโดยใช้การตำหรือคานดีดคานงัด ต่อมาเปลี่ยนมาใช้ท่อเหล็กหรือท่อประปาจยเปลี่ยนมาเป็นท่อพีวีซี ซึ่งก็อาจจะเกิดอันตรายได้ การผสมดินดำใส่บั้งไฟนั้นจะต้องผสมให้ถูกส่วน และการตำใส่บั้งไฟจะต้องตำให้แน่น ต่ำไม่แรงเกินไปและไม่แน่นจนเกินไป เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะจุดไม่ขึ้น หรือเกิดการระเบิดขึ้นได้ดังนั้นผู้ที่เป็นคนประดิษฐ์บั้งไฟ จะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และมีความชำนาญในการทำบั้งไฟเป็นอย่างมาก เมื่อทำบั้งไฟ เสร็จแล้วก็จะนำมาประดับตกแต่งด้วยกระดาษสีอย่างสวยงาม

         ในวันงานชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านก็จะแห่บั้งไฟของตนมายังหมู่บ้านที่จัดงาน วันงานเรียกกันว่า วันโฮม มีการทำบุญเลี้ยงพระและแห่บั้งไฟไปยังลานวัดลำเลียงบั้งไฟขึ้นไว้บนต้นไม้สูงประมาณ 30 เมตร เพื่อที่หางบั้งไฟ จะได้ไม่ลากดิน หรืออาจจะทำเป็นร้านสูงก็ได้ เมื่อลำเลียงวางเต็มร้านแล้วก็จะโยงสายชนวนลงมา เมื่อถึงเวลาจุดบั้งไฟและมีการทำนายว่าถ้าบั้งไฟแตกก็จะมีการทำนายว่าแห้งแล้ง ถ้าบั้งไฟขึ้นสูงก็แสดงว่า ฝนฟ้าจะดี ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ ส่วนบั้งไฟที่ชนะการประกวดประเภทสวยงาม และชนะการประกวดที่สามารถพุ่งขึ้นไปได้สูงกว่ากระบอกอื่น จะเรียกว่า เอ้บั้งไฟ

         นอกจากบั้งไฟแล้ว ยังมี เซิ้ง ที่อยู่ในขบวนแห่ ซึ่งมีความน่าสนใจกล่าวคือ เซิ้งเป็นการร่ายรำหมู่ โดยมีหัวหน้าบอกบทหรือคนจ่ายกาพย์ มีลูกคู่ว่าตามขบวนเซิ้งจะแห่ไปตามหมู่บ้าน และชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านจะต้อนรับโดยให้สุรา ในบทเซิ้งจะเป็นกาพย์ซึ่งจัดเป็นวรรณคดีของภาคอีสาน โดยยึดหลักคติธรรมตามพระพุทธศาสนา

         ในปัจจุบันประเพณีบุญบั้งไฟ ยังเป็นประเพณีที่ยังคงอยู่ แต่สิ่งที่เลือนหายไปนั่นคือ วัฒนธรรม ความเชื่อ และงานบุญ เนื่องจากมีการแข่งขันประกวดบั้งไฟโดยมีการเดิมพันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นก็ควรจะมีการอนุรักษ์ประเพณีนี้ไว้เพื่อให้เป็นตำนานของชาวอีสานต่อไป