ค้นหาข้อมูล
ประเพณีลอยกระทงสาย
2177 view
 Post Date:  2011-05-20 04:23:39

ประเพณีลอยกระทงสาย

         ประเพณีลอยกระทงสาย เป็นประเพณีของชาวจังหวัดตาก ซึ่งจะมีเอกลักษณ์ คือกระทงสาย ทำมาจากกะลามะพร้าว การที่ใช้กะลามะพร้าวอาจเป็นเพราะคนไทยใช้มะพร้าวในการประกอบอาหารอยู่เสมอและชาวเมืองตากชอบทานเมี่ยงและเป็นสินค้าพื้นเมือง ดังนั้นหลังจากที่ใช้มะพร้าวมาประกอบอาหารแล้ว ก็ทิ้งกะลาไว้บริเวณบ้านเป็นจำนวนมากจึงได้นำกะลามะพร้าวมาประยุกต์ใช้ในการลอยกระทงแทนหยวกกล้วยใบตอง โดยนำกะลามาตกแต่งและใส่ขี้ไต้หรือใช้ด้ายฟั่นเป็นไส้เชื้อเพลิง

         ประเพณีลอยกระทงสายนั้นเป็นการขอขมาและบูชาแม่คงคาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในน้ำ จัดในช่วงวันเพ็ญเดือนสิบสอง ซึ่งชาวตากได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน ประเพณีนี้ยังแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาไทยความสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชน

         ในวันงาน ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านจะจัดขบวนแห่ นำกระทงสายมายังริมฝั่งแม่น้ำปิง และจะทำพิธีบูชาแม่คงคาขอขมาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลบูชารอยพระพุทธบาทและอธิษฐานขอพรและปลดปล่อยทุกข์โศกให้ลอยไปกับสายน้ำ หลังจากนั้นชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านก็จะจับสลากว่าหมู่บ้านใครจะได้เป็นผู้ปล่อยกระทงสายก่อน ผู้ที่จับสลากได้ก่อน ก็จะนำชาวบ้านในหมู่บ้านให้นำกระทงสายไปไว้ในเรือและในเรือจะมีคนอยู่ 3-4 คน ซึ่งจะต้องเป็นผู้ทำหน้าที่เรียงกะลามะพร้าว จุดไฟและนำกะลาที่จุดไฟแล้ววางลงแม่น้ำ ซึ่งจะต้องให้มีระยะห่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความสวยงามเหมือนกับการนำกะลามาผูกเรียงติดกัน และหมู่บ้านที่สามารถลอยกะลาได้เป็นสายสวยงามมากที่สุด ใช้เวลาได้ตามกำหนดก็จะเป็นผู้ชนะ