ค้นหาข้อมูล
ประเพณีบายศรีสู่ขวัญ
2669 view
 Post Date:  2011-05-20 04:21:25

ประเพณีบายศรีสู่ขวัญ

         บายศรี หมายถึง ข้าวอันเป็นสิริ ข้าวขวัญ ภาชนะใส่เครื่องสังเวยในพิธีทำขวัญ

         ขวัญ หมายถึง นามธรรมอันหนึ่งคล้ายพลังจิตที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ตั้งแต่เป็นเด็กทารก มีความเชื่อว่าถ้าขวัญของผู้ใดอยู่กับตัวผู้นั้นจะมีความสุขกายสบายใจแต่ถ้าขวัญของผู้ใดหายไปนั้นจะมีลักษณะอาการตรงกันข้ามพิธีกรรมบายศรีสู่ขวัญจะช่วยทำให้ขวัญมั่นคงและมีพลังใจเข้มแข็ง

         การบายศรีสู่ขวัญ เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล ทำพิธีเพื่อเรียกขวัญให้กลับมาอยู่กับตัว ให้ขวัญเป็นเหมือนผู้ที่คอยดูแลประคับประคองชีวิตให้มีจิตใจเข้มแข็งมีความปลอดภัย

         การบายศรีสู่ขวัญ จัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งจะจัดในงานมงคลต่างๆ เช่น ขึ้นบ้านใหม่ บวช แต่งงาน งานต้อนรับ งานเลื่อนยศ การย้ายที่ เป็นต้น

         พิธีกรรมจะต้องมี บายศรี เย็บด้วยใบตอง 3 ชั้น และมีสิ่งอื่นๆ คือ

         ดอกบัว  หมายถึง  บัวประเภทที่ 4 ที่ พ้นจากผิวน้ำ

         เทียนชัย  หมายถึง  แสงสว่างส่องทางปัญญา

         น้ำมะพร้าวอ่อน  หมายถึง  น้ำใจอันบริสุทธิ์

         แว่นเทียน 3 อัน  หมายถึง  ภพทั้ง 3 คือ ภาพภพ รูปภพ อรูปภพ

         เทียน 9 เล่ม  หมายถึง  ไฟ 3 กอง โดยแบ่งเป็น ไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ โดยติดไว้อย่างละ 3 เล่ม 

         สายสิญจน์  หมายถึง  ห่วงแห่งความผูกพัน

         ส่วนประกอบอื่นๆ ได้แก่ หมาก พลู บุหรี่ อาหาร ข้ามต้ม ขนมหวาน ไก่ต้ม สุรา

         พิธีบายศรีสู่ขวัญ เริ่มโดยการแห่เป็นขบวนแล้วนำพานบายศรีมาตั้งบนโต๊ะ หรือตั่งที่ปูผ้าขาว จากนั้นพราหมณ์จะเป็นผู้สวดชุมนุมเทวดาจุดเทียน เวียนหัว หลังจากนั้นจะจุดธูป กราบพระพุทธรูป พระสงฆ์ ผู้สวดจะเชิญขวัญ และให้เจ้าของขวัญจับพานขวัญ ส่วนคู่สู่ขวัญเอามือขวาจับด้ายสายสิญจน์ ผู้สวดอวยพร ผูกข้อมือเป็นอันว่าเสร็จพิธีการ

         ประเพณีการบายศรีสู่ขวัญ อาจจะมีพิธีการแตกต่างกันไปบ้างตามแต่ละท้องถิ่น แต่ละภาคหรือตามแต่ละประเภทของงานที่จัดพิธีบายศรีสู่ขวัญ