ค้นหาข้อมูล
ประเพณีออกพรรษา ตักบาตรเทโว
1811 view
 Post Date:  2011-05-20 04:19:48

ประเพณีออกพรรษา ตักบาตรเทโว

         วันออกพรรษาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันที่ภิกษุอยู่ประจำวัดหรืออยู่ประจำที่แห่งใดแห่งหนึ่งเป็นเวลาครบ 3 เดือน วันออกพรรษาเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันปวารณา ซึ่งหมายถึง การที่พระภิกษุต่างสามารถตักเตือนซึ่งกันและกันได้โดยไม่มีการโกรธเคือง มีการว่ากล่าวตักเตือนในเรื่องข้อบกพร่องต่างๆ ที่ได้อยู่ร่วมกันมา 3 เดือน และผู้ที่ถูกว่ากล่าวตักเตือน จะต้องยอมรับและมีใจกว้างพิจารณาตนเอง แต่ผู้ที่ว่ากล่าวตักเตือนผู้อื่นก็จะต้องเป็นผู้มีความปรารถนาดีต่อผู้ที่ตนว่ากล่าวตักเตือน หลักการปวารณานี้พุทธศาสนิกชนสามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้ได้กับการดำเนินชีวิต หรือการทำงานได้ เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาตนเองหรือการพัฒนาในหน่วยงาน องค์กรได้เป็นอย่างดี

         ในวันออกพรรษาเป็นวันปวารณาของสงฆ์โดยตรง ส่วนพุทธศาสนิกชนก็ให้ความสำคัญโดยถือเป็นวันพระ และมักที่จะไปทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล ฟังเทศน์ และในการทำบุญตักบาตร จะเรียกว่า ตักบาตรเทโว

         ตักบาตรเทโว  มาจากคำว่า ตักบาตรเทโวโรหณะ

         เทโวโรหณะ     แปลว่า  หยั่งลงมาจากเทวโลก

         ประเพณีการตักบาตรเทโวโรหณะ ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นการตักบาตรเนื่องในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงสู่มนุษย์โลก หลังจากที่ได้แสดงธรรมเทศนาโปรดพระมารดาเป็นการต้อนรับเสด็จพระพุทธองค์

         ประวัติความเป็นมาของประเพณีการตักบาตรเทโวโรหณะมีดังนี้

         พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชนอยู่เป็นประจำ ณ นครสาวัตถี จนมีประชาชนจำนวนมากหันมาเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงเป็นเหตุทำให้เหล่าเดียรถีย์เสื่อมลง (เดียรถีย์ หมายถึง นักบวชประเภทหนึ่งมีมาก่อนพระพุทธศาสนาและเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง มีพุทธบัญญัติว่า หากเดียรถีย์จะมาขอบวชในพระพุทธศาสนาต้องมารับการฝึก เพื่อตรวจสอบว่ามีความเลื่อมใสแน่นอนเสียก่อน เรียกว่า ติตถิยปริวาส) พวกเดียรถีย์เดือดร้อนเนื่องจาก เครื่องถวายสักการะก็ลดน้อยลงตามไปด้วย จึงคิดหาวิธีที่จะทำลายพระพุทธศาสนาโดยการกล่าวร้ายพระพุทธเจ้า สาวก แต่ประชาชนก็ยังเลื่อมใสศรัทธาเหมือนเคยในที่สุดเดียรถีย์จึงใช้อุบายทำลายพระพุทธศาสนาโดยการใช้พุทธบัญญัติที่ว่ามั่นใจว่าพระพุทธเจ้าไม่กล้า ฝ่าฝืนข้อห้ามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้เอง จึงช่วยกันกระจายข่าวให้ประชาชน ได้ทราบว่า พระพุทธเจ้าและเหล่าสาวกสิ้นท่าหมดอิทธิฤทธิ์ แล้วงดการแสดง ตรงข้ามกับเหล่าคณาจารย์เดียรถีย์ ซึ่งมีปาฏิหาริย์อบรมมั่นคงเต็มที่และมีความพร้อมที่จะแสดงให้เห็นได้ทุกเมื่อถ้าไม่เชื่อก็เชิญพระพุทธเจ้ามาแสดงปาฏิหาริย์แข่งกันก็ย่อมได้เพื่อพิสูจน์ว่าใครจะเก่งกว่าใคร

         ฝ่ายพระพุทธเจ้าและสาวกก็เงียบเฉย เดียรถีย์จึงกล่าวร้ายหนักอีกว่า พระพุทธเจ้าไม่มีความสามารถในการแสดงอิทธิฤทธิ์ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบจึงคิดใคร่ครวญและตัดสินใจที่จะแสดงปาฏิหาริย์ให้พวกเดียรถีย์ได้ประจักษ์เพื่อไม่ให้พระพุทธศาสนาโดนย่ำยี โดยพระองค์ได้ประกาศว่าจะแสดงยมกปาฏิหาริย์ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ณ ใต้ต้นมะม่วง เมื่อฝ่ายเดียรถีย์รู้ ความดังนั้นจึงแบ่งพวกให้ไปทำลายต้นมะม่วงทุกต้นในเมืองสาวัตถี อีกพวกก็ช่วยกันสร้างมณฑปเพื่อแสดงปาฏิหาริย์ของตน และประกาศให้ประชาชนมาชมความล้มเหลวของพระพุทธองค์ เมื่อถึงกำหนดก็เกิดพายุใหญ่ทำให้มณฑปของเดียรถีย์พังหมดสิ้นส่วนพระพุทธเจ้ายังมิได้แสดงปาฏิหาริย์แต่อย่างใด

         ในวันนั้นเอง คนเฝ้าพระราชอุทยานของพระเจ้าปเสนทิโกศล ชื่อว่า นายคัณฑะ ได้ถวายมะม่วงผลหนึ่งแก่พระพุทธเจ้าเนื่องจากมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธองค์ พระพุทธองค์จึงสั่งให้พระอานนท์นำมะม่วงไปทำน้ำปานะ (ปานะ หมายถึง น้ำ ของสำหรับดื่ม) มาถวายและเอาเมล็ดมะม่วงวางบนดิน เมื่อทรงฉันน้ำปานะเสร็จ ก็ทรงล้างพระหัตถ์โดยให้น้ำรดลงบนเมล็ดมะม่วง ทันใดนั้นเอง ก็กลายเป็นต้นมะม่วงที่งอกเงยขึ้นมาและต้นใหญ่ หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าก็แสดงปาฏิหาริย์เนรมิตช่อไฟ ช่อน้ำเนรมิต บุคคลที่เหมือนพระองค์ทุกประการ ทรงแสดงธรรม จงกรม พระพุทธนิมิตให้ประชาชนได้ประจักษ์แก่สายตาจึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาโดยทั่วกัน ส่วนเดียรถีย์จึงโดนประชาชนสาปแช่งจนย่อยยับกลับไป

         วันรุ่งขึ้นเป็นวันเข้าพรรษา พระองค์ประกาศว่าจะไปจะพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงต้องการเทศนาโปรดพระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดา เพื่อเป็นการสนองพระคุณ ดังนั้นพระองค์จึงได้เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดาในช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน เมื่อถึงวันออกพรรษาพระพุทธองค์จึงเสด็จกลับสู่โลกมนุษย์ทางประตูเมืองสังกัสสนคร เป็นการหยั่งจากเทวโลก (เทโวโรหณะ) เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาในวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ประชาชนต่างพร้อมใจกันมารับเสด็จและนำอาหารมาเพื่อทำบุญตักบาตรเป็นจำนวนมาก ประชาชนบางพวกอยู่ห่างไม่สามารถที่จะถวายอาหารใส่ลงบาตรได้ จึงนำข้าวสาลีมาปั้นเป็นก้อนแล้วโยนใส่ลงในบาตร จนกลายมาเป็นประเพณีนิยมที่ว่าจะต้องทำข้าวต้มลูกโยนเพื่อไว้ใส่บาตรในวันเทโวโรหณะ ข้าวต้มลูกโยนทำมาจากข้าวเหนียวห่อด้วยใบมะพร้าวไว้หางยาวๆ

         วิธีตักบาตรเทโว จะอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนล้อเลื่อนที่บุษบก (บุษบก หมายถึง เรือขนาดเล็ก มียอด เคลื่อนที่ได้) และมีบาตรวางตั้งอยู่ด้านหน้า และจะมีคนลากล้อเลื่อนไปอย่างช้าๆ พระสงฆ์ก็จะเดินตามเรียงเป็นแถวส่วนพุทธศาสนิกชนก็จะนั่งเรียงเป็นแถว และนำข้าวต้มลูกโยนมาใส่บาตร ซึ่งในบางวัดอาจจะมีการจัดสถานที่เป็นแบบจำลองเหมือนกับที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจริงๆ