ค้นหาข้อมูล
ประเพณีหมั้นและแต่งงาน
2337 view
 Post Date:  2011-05-20 04:17:08

ประเพณีหมั้นและแต่งงาน

         หมั้น หมายถึง มอบสิ่งของให้ฝ่ายหญิงเป็นการผูกมัดว่าจะแต่งงานด้วยของที่มอบนั้นเรียก ของหมั้น มีแหวนหมั้น ทองหมั้น เป็นต้น

         แต่งงาน หมายถึง ทำการบ่าวสาวให้อยู่กินเป้นผัวเมียกัน

         การแต่งงาน เป็นประเพณีที่มีการทำพิธีให้ชายและหญิงได้อยู่กันเป็นสามีภรรยาอย่างถูกต้องตามจารีตประเพณี เมื่อชายและหญิงมีอายุที่พร้อมที่จะมีครอบครัวและมีความรักใคร่กันพร้อมที่จะดำเนินชีวิตร่วมกันจึงตกลงปลงใจที่จะเข้าสู่พิธีการแต่งงาน ซึ่งพิธีการแต่งงานนั้นจะเริ่มจากการทาบทาม สู่ขอ หมั้นและแต่งงาน มีการประกอบพิธีทางศาสนา และจะต้องจดทะเบียนสมรส ให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วย

         การแต่งงานจะกระทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ และโดยความยินยอมของบิดา มารดา ทั้งสองฝ่าย

         การทาบทามและการสู่ขอ ฝ่ายชายจะให้ผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือ เรียกว่า เฒ่าแก่ ทำหน้าที่ไปทาบทามสู่ขอต่อผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง และเพื่อถามความสมัครใจของฝ่ายหญิง เมื่อตกลงกันได้เรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องไปหาฤกษ์ยามเพื่อกำหนดวันที่ดีและเหมาะสมที่จะจัดงาน หากต้องการหมั้นก่อนก็จะต้องหาฤกษ์หมั้นด้วย

         การหมั้นจะมีการแห่ขันหมาก ซึ่งเป็นการนำสินสอดทองหมั้น หมากพลู ในขบวนขันหมากจะมีของเป็นมงคล ถั่ว งา ข้าวเปลือก ใบเงิน ใบทอง เป็นต้นและมีอาหารเช่น ไก่ หมู ส่วนขนมใช้ขนมกง ขนมสามเกลอ ขนมทองเอก ผลไม้ใช้ส้มโอ กล้วยทั้งหวี มะพร้าวอ่อน เป็นต้น

         เมื่อขบวนขันหมากมาถึง ทางฝ่ายเจ้าสาวจะมีการกั้นประตูเงินประตูทองเป็นประเพณี และทางด้านฝ่ายชายจะต้องเตรียมเงินใส่ซองไว้เพื่อเป็นการเปิดทางผ่านไปหาเจ้าสาว เมื่อเจ้าบ่าวมาถึงและเจ้าสาวพร้อมแล้วก็มีการประกอบพิธีทางศาสนา

         พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ เจ้าบ่าวจะนั่งซ้าย เจ้าสาวจะนั่งขวา มีการสวมมงคลคล้องระหว่างเจ้าบ่าวกับเจ้าสาว แขกที่ได้รับเชิญจะพากันมาอวยพรและหลั่งน้ำสังข์ซึ่งน้ำที่ใช้หลั่งเป็นน้ำพระพุทธมนต์

         พิธีรับไหว้ เป็นการไหว้ผู้ใหญ่ ซึ่งพิธีรับไหว้จะเรียงตามลำดับอาวุโส โดยที่คู่บ่าวสาวจะกราบลงที่หมอน 1 ครั้ง และส่งพานดอกไม้ ธูปเทียนให้ผู้รับไหว้ และผู้รับไหว้จะกล่าวให้ศีลให้พร แล้วส่งเงินรับไหว้ลงพาน หยิบด้ายสายสิญจน์ผูกข้อมือให้เจ้าบ่าวและเจ้าสาว

         ก่อนที่จะมีพิธีส่งตัวจะมีพิธีปูที่นอนโดยผู้ที่ทำพิธีนี้จะต้องเป็นผู้ใหญ่ที่มีชีวิตครอบครัวที่มีความสุข โดยมีการนำฝักเขียว 1 ผล น้ำ 1 หม้อ พานถั่วงาและหินบดยาวางไว้ข้างที่นอน ซึ่งมีความหมายตามความเชื่อว่า ให้คู่บ่าวสาวอยู่ด้วยกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุขเหมือนฝัก มีจิตใจใสสะอาดเช่นน้ำ มีความเจริญงอกงามเหมือนถั่วเหมือนงาและมีจิตใจที่มั่นคงและหนักแน่นเหมือนดังศิลา และผู้ที่ทำพิธีนั้นจะต้องนอนก่อนพอเป็นพิธีและหลังจากนั้นก็จะเป็นการให้ศีลให้พรแก่คู่บ่าวสาว ในการส่งตัวเจ้าบ่าว เจ้าสาวนั้น อาจจะตรงกับ วันแต่งงานหรือหลังแต่งงานก็ได้โดย บิดา มารดา ทั้งสองฝ่ายจะอบรมแนะนำสั่งสอนชีวิตการครองเรือน เมื่อให้โอวาทเสร็จคู่บ่าวสาวกราบเท้าบิดา มารดาทั้งสองฝ่าย และส่งมอบเจ้าสาวให้เจ้าบ่าวเป็นอันเสร็จพิธี