ค้นหาข้อมูล
ประเพณีบวช
2099 view
 Post Date:  2011-05-20 04:16:28

ประเพณีบวช

         บวช หมายถึง สละเหย้าเรือนออกเป็นนักบวช ไม่ว่าในศาสนาใดก็ตามต้องเป็นคนไม่มีเหย้าเรือน ไม่มีภรรยา

         ประเพณีบวช เป็นการปฏิบัติที่สืบเนื่องมาจากความเลื่อมใสศรัทธาในศาสนาพุทธของพุทธศาสนิกชน โดยตามประเพณีปฏิบัติในการบวชนั้น ชายที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์จะต้องเข้าพิธีอุปสมบท (อุปสมบท หมายถึงการบวชเป็นภิกษุ) เพื่อศึกษาพระธรรมให้เข้าใจชีวิต และสามารถนำมาใช้ในการครองชีวิตต่อไปในภายภาคหน้าได้อย่างสงบสุขและมีสติ

         การบวช นิยมบวชตามประเพณีในช่วงก่อนวันเข้าพรรษา เพื่อที่จะได้สามารถอยู่ศึกษาพระธรรมตลอดจนระยะเวลาเข้าพรรษา ประมาณ 3 เดือน ก็จะลาสิกขาเมื่อพ้นวันออกพรรษาแล้ว แต่ถ้าบวชต่อไปก็ได้แล้วแต่ความสะดวก หากไม่ได้บวชในช่วงตามประเพณีระยะเวลาในการบวชขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้บวชเช่นกัน โดยส่วนใหญ่จะประมาณ 15 วัน หรือ 1 เดือน

         คนไทยมีความเชื่อที่ว่า การที่บุตรชายได้บวชจะทำให้บิดามารดาได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ และการบวชถือเป็นการทดแทนพระคุณบิดามารดาด้วย

         ก่อนการจะบวชต้องไปพบเจ้าอาวาสเพื่อหาฤกษ์บวช เมื่อกำหนดวันบวชได้แล้วผู้ที่จะบวชจะต้องมาลาญาติมิตรเพื่อขอขมาและต้องไปอยู่วัดก่อนบวชประมาณ 15 วัน ในการขอขมานาคจะนำดอกไม้ ธูป เทียนแพไปกราบลาเพื่อขออโหสิ

         ผู้บวชจะต้องท่องคำขอบวช และฝึกซ้อมขั้นตอนวิธีการบรรพชาจากพระพี่เลี้ยง เตรียมเครื่องใช้ที่จำเป็นซึ่งเรียกว่า เครื่องอัฐบริขาร มี 8 อย่าง คือ บาตร จีวร สบง สังฆาฏิ ผ้าประคดเอว หม้อกรองน้ำ กล่องเข็มพร้อมด้าย มีดโกนและหินลับมีด

         ในพิธีการโกนผมนาค สามารถจัดที่วัดหรือที่บ้านก็ได้แล้วแต่ความเหมาะสม โดยเชิญญาติผู้ใหญ่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ มาทำการตัดผมนาค โดยนำผมปอยที่ตัดวางไว้บนใบบัวที่นาคถือ หลังจากนั้นพระจะเป็นผู้โกนให้โดยจะโกนผมและคิ้วจนเกลี้ยงเกลา ส่วนผมในใบบัวนั้นจะนำห่อใบบัว ไปลอยในแม่น้ำลำคลอง หลังจากนั้นก็จะมีพิธีอาบน้ำนาคโดยใช้น้ำผสมเครื่องหอมต่างๆ เมื่ออาบน้ำเสร็จแล้ว นาคจะนุ่งชุดขาวเพื่อประกอบพิธีทำขวัญนาคต่อไป ในพิธีการทำขวัญนาคจะมีการเทศน์สอนนาคให้ระลึกถึงบุญคุณของบิดา มารดา การทดแทนพระคุณ และคุณประโยชน์ในการบวชเรียน และคำกล่าวนี้จะเป็นคำร้องหรือ การแหล่ และมีความไพเราะกินใจ ทำให้นาคเกิดความซาบซึ้ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการปลุกเร้าให้นาคมีกำลังใจและตั้งใจที่จะบวชเรียน

         ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้นจะมีการแห่นาคจากบ้านไปวัด มีขบวนนำด้วย ขบวนกลองยาว แตรวง และขบวนรำขบวนญาติพี่น้องที่ถือเครื่องอัฐบริขารแต่บิดาจะถือตาลปัตรสะพายบาตร มารดาอุ้มผ้าไตร ขบวนจะแห่เวียนขวารอบโบสถ์ 3 รอบ หรือที่เรียกว่า ทักษิณาวัตร เมื่อแห่ครบแล้วนาคยืนหน้าโบสถ์ทำพิธีวันทาเสมาและยืนโปรยทานซึ่งส่วนใหญ่ใช้เหรียญบาท หลังจากนั้นนาคก็จะเข้าโบสถ์โดยญาติพี่น้องจะอุ้มนาค โดยไม่ให้เท้านาคเหยียบธรณีประตู เนื่องจากความเชื่อที่ว่าเป็นการส่งนาคสู่ร่มกาสาวพัสตร์ส่งผลสู่นิพพาน ผู้ร่วมนำส่งก็จะได้ผลบุญกุศลด้วย ต่อจากนั้นก็จะเข้าสู่พิธีบวชนาค จะมีพระอุปัชฌาย์เป็นประธาน และคณะสงฆ์มาประชุมพร้อมกันซึ่งในตอนแรกจะต้องกล่าวคำขอบรรพชาเป็นสามเณรก่อน เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนแรกนาคจะไปเปลี่ยนผ้านุ่งแบบสมณะเพศ แล้วกลับเข้ามากล่าวคำขออุปสมบทต่อไป

         พระอุปัชฌาย์จะมีการกล่าวสอนในเรื่องการปฏิบัติตนในเพศสมณะหรือแล้วแต่พระอุปัชฌาย์และเมื่อภิกษุใหม่ถวายเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์กล่าวอนุโมทนาคาถา และญาติกรวดน้ำถือว่าเป็นอันเสร็จพิธี หลังจากนั้นก็จะเป็นการฉลองซึ่งขึ้นอยู่กับเจ้าภาพ