ค้นหาข้อมูล
วันขึ้นปีใหม่ (1 มกราคม)
2632 view
 Post Date:  2011-05-20 04:15:50

วันขึ้นปีใหม่ (1 มกราคม)

ความหมาย

         โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งประมาณ 365 วันหรือ 12 เดือน ตามสุริยุติ ซึ่งเป็นการบรรจบครบรอบถือว่าปีหนึ่งหมดไป และการขึ้นวันเดือนใหม่นั้นก้เรียกกันว่าปีใหม่ นอกจากปีพุทธศักราช (พ.ศ.) จะเปลี่ยนไปปีนักษัตร ประจำปีก็จะเปลี่ยนไปด้วย

ความเป็นมา

         แบบนานาชาติ ในสมัยโบราณนั้น วันขึ้นปีใหม่ของแต่ละชาติไม่ตรงกัน ครั้นมาถึงสมัยของกษัตริย์ซีซาร์ จึงเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันที่ 1 มกราคม แต่ชาวอังกฤษเชื้อสายแองโกลซักซอน และชาวคริสเตียนได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ มาเป็นวันที่ 1 มกราคม ในสมัยพระเจ้าวิลเลี่ยมส่วนชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ก็มีการขึ้นปีใหม่วันที่ 1 มกราคม ในช่วงที่มีการใช้ ปฏิทินแบบกรีกรอเรียน

         แบบไทย ในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 5 ตอนต้น ถือวันทางจันทรคติ 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ครั้นต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่เป็นทางสุริยคติโดยถือเอาวันที่ 1 เมษายน รัตนโกสินทร์ ศก (ร.ศ.108) เป็นวันขึ้นปีใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ใช้พุทธศักราชแทน รัตนโกสินทร์ศก ตั้งแต่ พ.ศ. 2455 ครั้นต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 8 ได้มีการประกาศให้ใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ โดยให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 ตามราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เนื่องมาจาก วันที่ 1 มกราคม เป็นวันที่ใกล้เคียงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย และเป็นช่วงฤดูหนาวต้นปี ซึ่งเป็นการสอดคล้องตามจารีตประเพณีของไทยในการนับ ซึ่งก็เป็นวิธีที่ถูกต้องและตรงกับวิธีสากลตามแบบอารยประเทศ

กิจกรรม

         ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประชาชนรวมทั้งข้าราชการ จะมีการจัดงานรื่นเริงและมหรสพ ตั้งแต่คืนวันที่ 31 ธันวาคม จนถึงวันที่ 1 มกราคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพรปีใหม่แก่ประชาชน สมเด็จพระสังฆราชประทานพรปีใหม่แก่พุทธศาสนิกชน และบุคคลสำคัญ ในช่วงเช้าของวันที่ 1 มกราคม ประชาชนก็จะทำบุญตักบาตร ปล่อยนก ปบ่อยปลา เยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่รับพร และอวยพรซึ่งกันและกันเพื่อความสุขความเจริญ