ค้นหาข้อมูล
วันมาฆบูชา ( วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 )
1437 view
 Post Date:  2011-05-19 05:38:05

วันมาฆบูชา ( วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 )

ความหมาย        

         มาฆบูชา หมายถึง ชื่อเดือน 3

         วันมาฆบูชา หมายถึง วันที่พุทธศาสนิกชน ได้ทำบุญ บูชาพระในวันเพ็ญ เดือน 3 หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เพื่อระลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์

ความเป็นมา

         วันมาฆบูชา หรือเรียกว่า วันจาตุรงคสันนิบาต โดยมีเหตุการณ์อัศจรรย์ที่มีองค์ประกอบ 4 อย่างคือ

         1.วันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะ (เดือน 3 )

         2.พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน 1,250 รูปมาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ

         3.พระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทั้งสิ้น

         4.พระภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น

         ในโอกาสนี้พระพุทธเจ้าได้แสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมซึ่งมีใจความหลักเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา คือ ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ และยังมีหลักธรรม เรื่องหลักการ อุดมการณ์และ วิธีการปฏิบัติตน

         ในวันเพ็ญเดือนมาฆะ ต่อมานั้นมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีก คือ เป็นวันที่ พระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขาร ที่ปาวาลเจดีย์ ซึ่งพระองค์ตัดสินพระทัยว่า นับแต่นี้ไปอีก 3 เดือน จะปรินิพพาน ขณะนั้นมีพระชนมายุ 80 พรรษาการที่พระพุทธองค์อธิษฐานพระทัยจะปรินิพพาน เรียกว่า การปลงพระชนมายุสังขาร

         ประเทศไทยไม่เคย มีพิธีวันมาฆบูชาก่อน จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงโปรดให้มีการประกอบพิธีมาฆบูชาในพระบรมมหาราชวังก่อน ต่อมาได้มีการขยาย ออกไปให้พุทธศาสนิกชนได้ปฏิบัติตามสืบมาจนถึงปัจจุบัน

         กิจกรรมที่ชาวพุทธปฏิบัติในวันมาฆบูชา เช่น การทำบุญตักบาตร ไปวัดด ฟังเทศน์ รักษาศีล ถวายภัตตาหาร บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่างๆ

         หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติ

         หลักการ 3

         1.การไม่ทำบาปทั้งปวง ได้แก่ การงด เว้น ละ เลิก ทำบาปทั้งปวง ทางกาย ทางวาจาและทางใจ

         2.การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ การทำความดีทุกอย่าง ทั้งทางกายวาจา และใจ

         3.การทำจิตใจให้ผ่องใส ได้แก่ การทำจิตของตนเองให้ปราศจากนิวรณ์ซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางทางจิตไม่ให้เข้าถึงความสงบมี 5 ประการ ได้แก่

              1.กามฉันทะ คือ ความพอใจในกาม

              2.พยาบาท คือ ความอาฆาตพยาบาท

              3.ถีนะมิทธะ คือ ความหดหู่ ท้อแท้ ง่วงเหงาหาวนอน

              4.อุทธัจจะ กฺกกฺจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน รำคาญ

              5.วิมิจฉาทิฐิ คือ ความลังเล สงสัย

 

 

         อุดมการณ์ 4

          1.ความอดทน ได้แก่ ความอดทน อดกลั้นไม่ทำบาป ทั้งกาย วาจา ใจ

          2.ความไม่เบียดเบียน ได้แก่ การงดเว้นจากการทำร้าย รังแก รบกวน หรือเบียดเบียนผู้อื่น

          3.ความสงบ ได้แก่ การปฏิบัติตนให้สงบทั้งกาย วาจา ใจ

          4.นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์เกิดจากการดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ 8

         วิธีการ 6

          1.ไม่ว่าร้าย ได้แก่ การไม่กล่าวให้ร้ายหรือกล่าวโจมตีผู้อื่นในทางเสียหาย

          2.ไม่ทำร้าย ได้แก่ การไม่เบียดเบียนหรือรังแกผู้อื่น

          3.รู้จักประมาณ ได้แก่ การรู้จักความพอดีในการบริโภคอาหาร หรือ อุปโภคใช้สอยสิ่งต่างๆ

          4.อยู่ในสถานที่สงัด ได้แก่ การอยู่ในสถานที่สงบมีสิ่งแวดล้อมที่ดีและเหมาะสม

          5.ฝึกจิตใจให้สงบ ได้แก่ การฝึกหัดชำระล้างจิตใจให้รู้สึกสงบอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ

          6.สำรวมในปาติโมกข์ ได้แก่ การเคารพระเบียบวินัย กติกา กฎหมาย รวมทั้งขนบธรรมเนียม ประเพณีอันดีงามต่างๆ ของสังคม