ค้นหาข้อมูล
ประวัติและความเป็นมาของว่าวไทย
7877 view
 Post Date:  2011-04-08 06:17:33

การเล่นว่าวเพื่อแข่งขันและพนัน

            การเล่นว่าวนอกจากเล่นเพื่อความสนุกสนานแล้ว ยังมีการเล่นเพื่อการแข่งขัน เล่นเพื่อการพนันด้วย ซึ่งมีหลักฐานว่ามีการเล่นพนันมาตั้งแต่สมัยพระเพทราชา กรุงศรีอยุธยา

            สมัยกรุงรัตนโกสินทร์    ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๘  วันหนึ่งพระองค์เสด็จผ่านท้องสนามหลวงซึ่งเป็นเวลาที่มีการแข่งขันว่าวจุฬากับว่าวปักเป้ากันอยู่  ทรงหยุดและลงไปทอดพระเนตรดูการแข่งขันด้วยความพอพระราชหฤทัย  จึงรับสั่งโปรดเกล้าฯให้ผู้แข่งขันว่าวนำว่าวไปทำการแข่งขันถวายหน้าพระที่นั่ง ณ พระราชวังดุสิต เนื่องในการสมโภชการตั้งกรมสมเด็จพระเจ้าลูกเธอองค์หนึ่งในพราะราชวรชายาเธอ  ซึ่งในครั้งนั้นมีพระยาอนุชิตชาญไชยเป็นนายสนาม โดยกำหนดให้ว่าวจุฬาอยู่ทางสนามม้า ว่าวปักเป้าอยู่ทางกำแพงสวนดุสิต ริมพระที่นั่งอนันตสมาคม ในการแข่งขันครั้งนั้นได้พระราชทานวงพิณพาทย์ให้ทางสนามว่าวจุฬา ๑ วง และสนามว่าวปักเป้า ๑ วง ขณะว่าวทั้งสองฝ่ายกำลังต่อสู้กันอย่างชุลมุลกลางอากาศ ก็จะบรรเลงเพลงเชิดฉิ่ง ขณะว่าวจุฬาไล่โฉบว่าวปักเป้าก็จะบรรเลงเพลงกราวรำ  ถ้าว่าวจุฬาเข้าเหนียงปักเป้าคล้องที่หัวมีอาการจะตก ก็จะบรรเลงเพลงโอดเป็นต้น  ทำให้การแข่งขันว่าวสนุกสนานครึ้นเครง สร้างความเร้าใจให้กับผู้เล่นและผู้ชมเป็นอย่างดี ในการแข่งขันครั้งนั้นได้พระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะคู่ที่ ๑ ชั้น ๑ พิเศษ เป็นพวงมาลัยเปียสะพายแล่งมีอุบะห้อย คู่ที่ ๒ เป็นพวงมาลัยสวมคอมีอุบะ คู่ที่ ๓ เป็นพวงมาลัยสวมคอไม่มีอุบะ  เมื่อเสร็จการแข่งขันแล้วได้พระราชทานเลี้ยงแก่นักกีฬาและเจ้าของว่าวตลอดจนผู้เกี่ยวข้องโดยทั่วถึง

            ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กีฬาว่าวไทยรู้สึกคึกคักมากขึ้น เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงให้การสนับสนุน พระราชทานรางวัลแก่ว่าวจุฬาเป็นถ้วยทองบ้าง ผ้าแพรห้อยปักดิ้นเลื่อมเป็นอักษร จ ป ร มี ๓ สี แบ่งเป็น ๓ ชั้น 

ส่วนว่าวปักเป้าพระราชทานรางวัลเป็นผ้าแพรปักดิ้นเลื่อมเป็นอักษร จ ป ร รูปกลมดอกจัน ๓ สี โดยแบ่งเป็น ๓ ระดับ คือชั้นตรี โท เอก        

วิธีการแข่งขัน 

ในปัจจุบันลักษณะการแข่งขัน ต้องโรยเส้น (ปูนขาว) เป็นเขตทั้ง 2 ฝ่าย ประเทศไทย นิยมใช้ว่าวจุฬา (ตัวผู้) กับว่าวปักเป้า (ตัวเมีย) โฉบเฉี่ยวกัน และพยายามดึงว่าวคู่ต่อสู้ให้มาตกในเขตของตนหรือบางทีก็ใช้ว่าวโฉบกัน ว่าวของฝ่ายใดขาดหรือถูกเกี่ยวจนตกถือว่าแพ้ชนะ  อาวุธของว่าวจุฬา คือ จำปาและลูกดิ่ง ซึ่งทำจากไม้รวก ขนาดเล็กยาวประมาณครึ่งคืบ มีรูกลวงร้อยเข้าในสายป่าน ปลายสองข้างจักให้เป็นง่ามโดยรอบคล้ายกลีบดอกจำปาใช้เกี่ยวพันหางว่าวปักเป้า  ส่วนอาวุธของว่าวปักเป้า คือ เหนียง (สายป่านที่ผูกเป็นบ่วงจากสายซุง) เพื่อจะใช้คล้องหัวว่าวจุฬา

ปัจจุบันยังมีการแข่งขันกันในงานเทศกาลว่าวท้องสนามหลวง  กรุงเทพมหานคร  การแข่งขันว่าวจุฬากับปักเป้านี้ ผู้เล่นต้องมีความชำนาญในการทำว่าวให้มีการเคลื่อนไหวส่ายไปมาตามที่คนชักจะบังคับ และผู้เล่นต้องมีทักษะความชำนาญมีไหวพริบในเชิงการต่อสู้จึงจะประสบผลสำเร็จตามต้องการ ปัจจุบันการแข่งขันว่าวจุฬากับปักเป้ามีให้เห็นน้อยเต็มที เพราะขาดผู้ชำนาญในการทำและการเล่น

         ปัจจุบันการแข่งขันว่าวโดยทั่วไปยังมีการแข่งกันอยู่หลายประเภทคือ  

  1. แข่งขันเสียงดุ๊ยดุ่ย ไม่จำกัดว่าเป็นว่าวชนิดใดแต่จะต้องมีดุ๊ยดุ่ยติดขึ้นไป  ถ้ามีเสียงไพเราะ(ระดับเสียงตั้งแต่ 7 - 9 เสียง) จะเป็นฝ่ายชนะ
  2. ประเภทสวยงาม ต้องเป็นว่าวที่ออกแบบให้สวยงามการให้สีสรรที่มีศิลปะเขียนลวดลายบนตัวว่าว มีอุปกรณ์ในการประดับอย่างสวยงาม
  3. ประเภทความคิด (ว่าวประดิษฐ์) เป็นว่าวที่มีรูปร่างแปลก ๆ เช่น รูปสัตว์ต่าง ๆ บางชนิดโครงสร้างมีทั้งส่วนกว้าง ส่วนยาวและส่วนหนามีโครงสร้างที่ซับซ้อน
  4.    ประเภทความสูง มีการกำหนดชนิดของว่าว วัสดุที่ใช้ทำว่าว เชือกในการขึ้นว่าวโดยให้ผู้เข้าแข่งขันเตรียมวัสดุมาทำ ณ สนามแข่งขัน เมื่อถึงกำหนดเวลาก็จะให้นำว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้า กรรมการตัดสินจะใช้วิธีวัดเชือกว่าวในลักษณะการตกท้องช้าง ถ้าตัวใดตกท้องช้างน้อยที่สุดจะเป็นฝ่ายชนะ  การแข่งขันประเภทนี้ปัจจุบันยังมีการจัดแข่งขันที่จังหวัดนครราชสีมากีฬาต่อสู้ด้วยว่าว นิยมเล่นในประเทศอินเดีย และญี่ปุ่น ของอินเดียจะมีสายป่าน (เชือกว่าว) 2 เส้น เส้นแรกทำหน้าที่ควบคุมว่าว ส่วนอีกเส้นจะโรยผงแก้ว เพื่อตัดสายป่าน (เชือก) หรือหางของคู่ต่อสู้ในแถบลาตินอเมริกา ว่าวการพนันจะติดใบมีดโกนไว้กับโครงขอบของว่าว เพื่อตัดสายป่านและกรีดตัวว่าวของคู่ต่อสู้ให้ขาด การแข่งขันวิธีนี้ประเทศไทยไม่นิยมเล่น.

                                           ประเพณีการเล่นว่าวของประเทศไทย

          ประเทศไทยอยู่ในเขตลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดเข้าประเทศไทยระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ลักษณะอากาศร้อนชื้นฝนตกชุกชาวนาไทยเริ่มออกสู่ท้องนาเพื่อไถหว่านข้าวกล้า ในช่วงเปลี่ยนฤดูฝนเป็นฤดูหนาวจะมีลมที่พัดเอาความแห้งแล้งและหนาวเย็นจากภาคใต้ของจีนมาสู่บริเวณของประเทศไทย เรียกว่า”ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ” ในระยะนี้ตามชนบทของประเทศไทยจะเป็นเวลาเก็บเกี่ยวข้าวในท้องทุ่งนา ลมที่พัดจากทิศเหนือลงใต้ชาวบ้านเรียก “ลมว่าว” ส่วนลมที่เล่นว่าวพัดจากทิศใต้ขึ้นเหนือในช่วงกลางฤดูร้อนเรียกว่า “ลมตะเภา”

                ชาวนาและผู้รักการเล่นกีฬาว่าว จะประดิษฐ์ว่าวต่างๆ ขึ้นสู่ท้องฟ้าเพราะมีกระแสลมดีและท้องทุ่งนากว้างขวางว่างเปล่า กอรปกับการทำกิจกรรมเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ หรือขณะเก็บเกี่ยวก็จะนำว่าวขึ้นผูกไว้ฟังเสียงดุ๊ยดุ่ยปานประหนึ่งว่ามีเทพยดามาขับกล่อมดนตรีให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินไปกับการทำงาน ในเวลาค่ำคืนผู้ที่ทำหน้าที่นอนเฝ้าข้าวที่นำมากองรวมไว้ในลานก็จะนำว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้าฟังคีตบรรเลงเป็นเพื่อนแก้เหงา

          การเล่นว่าวจึงเป็นประเพณีที่มีความผูกพันกับชาวนาไทยของทุกภาคตลอดมา ระยะเวลาการเล่นว่าวแต่ละภาคแต่ละท้องถิ่นอาจจะแตกต่างกันบ้างตามสภาพของอากาศและภูมิประเทศ ส่วนใหญ่จะประมาณสิ้นฤดูฝนเข้าฤดูหนาวไปสิ้นสุดประมาณปลายฤดูร้อนเข้าฤดูฝน เด็กๆมักจะเล่นว่าวที่ทำและเล่นง่ายเช่นว่าวปักเป้า ว่าวงู เป็นต้น ผู้ใหญ่จะเล่นว่าวที่ใหญ่และมีโครงสร้างที่ซับซ้อนขึ้น เช่นว่าวจุฬา ว่าวแอก เป็นต้น

          ปัจจุบันประเพณีการเล่นว่าว นอกจากชาวไร่ชาวนาในชนบทนิยมเล่นแล้ว ยังมีหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรต่างๆ หันมาให้ความสนใจส่งเสริมประเพณีการเล่นว่าวมากขึ้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์ส่งเสริมประเพณีและวัฒนธรรมอันเกิดจากจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนไทยมาช้านาน เช่นการจัด

นิทรรศการว่าวไทย ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นครราชสีมา งานมหกรรมว่าวที่จังหวัดบุรีรัมย์ ประเพณีว่าวที่จังหวัดสตูล และเทศกาลว่าวที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ขยายไปเป็นมหกรรมว่าวระดับนานาชาติ

          การทำและการเล่นว่าวแต่ละท้องถิ่นจะแตกต่างกันตามคตินิยมที่นับถือและตกทอดมาจากบรรพชน เช่นภาคอีสาน นิยมเล่นว่าวแอก ว่าวอีลุ้ม ว่าวจุฬาอีสาน เป็นต้น ภาคใต้นิยมเล่นว่าวปลา ว่าวเดือน ว่าวหน้าควาย ว่าวจุฬาเป็นต้น ส่วนภาคกลางนิยมเล่นว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ว่าวงู และว่าวประดิษฐ์เป็นรูปสัตว์หรือรูปสัญลักษณ์ต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศไทยที่มักจะพบเห็นอยู่เสมอคือว่าวจุฬา และว่าวปักเป้า แต่รูปแบบอาจแตกต่างกันบ้าง ถือได้ว่า ว่าวจุฬา และว่าวปักเป้า เป็นสัญลักษณ์ของว่าวไทยก็ว่าได้

          ว่าวคือเครื่องเล่นชนิดหนึ่งส่วนใหญ่มีไม้ไผ่เป็นโครง ปิดทับด้วยกระดาษ ผ้าหรือพลาสติก วิธีเล่นก็ปล่อยให้ลอยอยู่ในอากาศด้วยแรงลม โดยมีเชือกปอ ด้ายไนล่อนหรือป่านสำหรับบังคับ

          การเล่นว่าวนิยมในแทบเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ลาว เวียดนาม อินเดีย เขมร และไทยเป็นต้น สันนิษฐานว่าจีนเป็นชาติแรกที่คิดทำว่าวขึ้น แถบ ยุโรปมีการเล่นว่าวบ้างแต่ไม่แพร่หลาย ทั้งนี้เนื่องจากสภาพอากาศไม่อำนวย ว่าวแต่ละประเทศจะมีรูปร่างแตกต่างกัน แต่มีจุดประสงค์ไม่แตกต่างกันมากนัก

          สำหรับประเทศไทย  ประเพณีการเล่นว่าวมีมาช้านาน ซึ่งพอจะรวบรวมข้อมูลได้คือ

       สมัยกรุงสุโขทัย

          มีเอกสารที่กล่าวไว้ในพงศาวดารเหนือว่า “พระร่วงเจ้าทรงเล่นว่าวอย่างไม่ถือพระองค์ว่า เป็นท้าวเป็นพระยา ละกล่าวถึงว่าวหง่าว (มีเสียงดัง) ในสมัยนั้น และในหนังสือตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (นางนพมาศ) กล่าวถึงเดือนยี่ พระจันทร์โคจรอยู่ในกลุ่มดาวปุษยะ (ดาวปุยฝ้ายหรือดาวรวงผึ้ง) กระจุกดาวเปิดในราศีกรกฏไว้ว่า “เดือนยี่ถึงการพระราชพิธีบุษยาภิเษก เถลิงพระโคกินเลี้ยงเป็นนักขัตรฤกษ์ หมู่นางในก็ได้ดูชุดชักว่าวหง่าว ฟังสำเนียงเสียงว่าวร้องเสนาะลั่นฟ้าไปทั้งทิวาราตรี

สมัยกรุงศรีอยุธยา                                                     

การเล่นว่าวมีปรากฏในจดหมายเหตุของลาลูแบร์ราชทูตฝรั่งเศส  ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวไว้ว่า ”….ว่าวของพระเจ้ากรุงสยามปรากฏในท้องฟ้าทุกคืนตลอดระยะเวลา เดือนในฤดูหนาว”…และยังกล่าวว่า …”ว่าวเป็นกีฬาที่เล่นอยู่ทั่วไปในหมู่ชาวยาม” ในกรุงศรีอยุธยามีการเล่นว่าวกันมากถึงกับมีกฏมณเฑียรบาลห้ามมิให้ประชาชนเล่นว่าวทับพระราชวัง ที่เมืองละโว้ (ลพบุรี) ในเวลากลางคืนรอบพระราชนิเวศน์จะมีว่าวต่างๆลอยอยู่ ว่าวนี้ติดโคมส่องสว่าง และลูกกระพรวนส่งเสียงดังกรุ่งกริ๋ง ในสมัยพระเพทราชาได้ยกทัพไปปราบพระยายมราชเจ้าเมืองนครราชสีมาซึ่งเป็นกบฏ เข้าตีหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ พระองค์ชอบการเล่นว่าว จึงใช้ว่าวจุฬาผูกหม้อดินดำชักขึ้นข้ามกำแพงเมืองนครราชสีมาแล้วจุดไฟชนวนให้ตกใส่บ้านเรือนภายในกำแพงเมือง เกิดไฟไหม้โกลาหลสามารถเข้าตีเมืองนครราชสีมาได้สำเร็จ เมื่อถึงปลายกรุงศรีอยุธยามีข้าศึกสงครามบ้านเมืองไม่สงบ การเล่นว่าวจึงซบเซาตลอดมาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

การเล่นว่าวเริ่มปรากฏเป็นหลักฐานในสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองศ์ทรงเล่นว่าวจุฬาที่สนามข้างวัดพระแก้ว แข่งขันกับว่าวปักเป้าของกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ที่ท้องสนามหลวง ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ การเล่นว่าวเริ่มคึกคักขึ้น เช่นมีสนามเล่นว่าวบริเวณสามยอด ซึ่งมีพระยาอัพภันตริกามาตย์เป็นนายสนาม ต่อมาย้ายมาเล่นบริเวณสะพานเสี้ยว สนามหน้ากระทรวงยุติธรรม มีจางวางท้วมทำว่าวจุฬา

เล่น สนามบริเวณวัดโคก(วัดพลับพลาชัยปัจุบัน) มีนายอำเภอจั่น และนายแสง ทำว่าวเล่นบริเวณนี้ ต่อมาเมื่อมีบ้านเรือนมากขึ้นจึงย้ายไปเล่นที่สระปทุม (เขตปทุมวัน) และสนามนี้มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสวัสดิวัฒนวิสิษฐ์ทรงให้ความอุปถัมภ์  แต่เนื่องจากห่างไกลการคมนาคมไปมาไม่สะดวก จึงเปลี่ยนไปเล่นที่บริเวณที่สนามวัดดอน(เขตยานนาวา) แต่ถูกนักเลงท้องถิ่นก่อกวนอยู่เสมอ จึงย้ายไปเล่นที่บริเวณหัวลำโพงได้ระยะหนึ่ง เมื่อทางราชการได้เริ่มก่อสร้างสถานีรถไฟหัวลำโพง จึงย้ายไปเล่นกันที่บริเวณสวนอนันต์ได้ประมาณ ๒ ปีก็ย้ายไปเล่นที่ริมคลองตลาด เมื่อบ้านเมืองเจริญมากขึ้นไม่สะดวกในการขึ้นว่าว จึงย้ายไปเล่นบริเวณบางขุนพรหม และสุดท้ายมาปักหลักเล่นกันที่ทุ่งพระเมรุ (ท้องสนามหลวง)จนถึงปัจจุบัน

ข้าพเจ้าเห็นผู้ใหญ่จัดทำอุปกรณ์และว่าว และได้เล่นว่าวมาบ้างตั้งแต่เด็ก จึงมีความประทับใจ และมีใจรักกีฬาพื้นบ้านส่วนนี้ เพราะเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์  ท้าทายความสามารถ จึงพยายามศึกษาหาความรู้และทดลองทำว่าวเล่น เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมให้แพร่หลายยังคงอยู่เคียงคู่กับสังคมไทยตลอดไป.

 ว่าวเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์

ว่าวขึ้นได้อย่างไร

               ว่าวจัดเป็นวัตถุประเภทอากาศยานที่หนักกว่าอากาศ เช่นเดียวกับเครื่องบิน ต่างจากเรือเหาะบอลลูนลอย โคมลอย ซึ่งเป็นวัตถุเบากว่าอากาศ       ว่าวลอยอยู่ในอากาศได้ เพราะมีกระแสลมปะทะที่ตัวว่าว ซึ่งทำมุมเงย (มุมปะทะ) ประมาณ 45 องศา สวนทางกับกระแสลม ถ้าลมไม่แรงพอว่าวจะทรงตัวอยู่ในอากาศไม่ได้

                     องค์ประกอบของว่าวที่จะลอยอยู่ในอากาศได้คือ

1. กระแสลมที่เคลื่อนที่ไปในแนวขนานกับผิวโลกทางใดทางหนึ่ง อย่างสม่ำเสมอ

        2. พื้นที่ให้กำลังยกหรือแรงยกได้แก่พื้นที่ของตัวว่าว

3.  อุปกรณ์บังคับได้แก่เชือกหรือด้ายรั้งว่าวและสายซุงซึ่งทำหน้าที่ปรับมุมปะทะของอากาศกับพื้นที่ของตัวว่าว ทำให้เกิดแรงยกและแรงดัน

                      แรงที่กระทำกับตัวว่าวมี 4 แรง คือ

    1แรงขับ คือ แรงที่คนดึงสายว่าวสวนทางกับแรงลม (ทำหน้าที่คล้ายกับแรงขับของเครื่องยนต์อากาศยาน)

        2.   แรงต้าน  คือ แรงที่มีทิศทางเดียวกันกับกระแสลม

  3.   แรงยก คือ แรงที่ทำให้ว่าวลอยขึ้นไปในอากาศได้ ซึ่งจะมีแรงนี้ด้านบนของว่าว(หลังว่าว)

    4.  แรงน้ำหนักถ่วง คือ แรงที่อยู่ด้านล่างของว่าว ซึ่งเกิดจากแรงโน้มถ่วงของโลก

                ในขณะที่ว่าวเคลื่อนที่สวนทางลม และตัวว่าวทำมุมเงย ทำให้เกิดมุมปะทะกับพื้นที่ตัวว่าว ทำให้อากาศด้านบน (หลังว่าว) ไหลเร็วกว่าด้านล่างว่าว ความกดดันอากาศจึงลดลง ทำให้เกิดแรงยกขึ้น ในขณะเดียวกัน ลมด้านล่าง (ใต้ว่าว) เคลื่อนที่ช้ากว่า ทำให้เกิดความกดดันสูง จึงพยายามปรับตัวให้มีความดันเท่ากับด้านบน จึงดันว่าวให้ลอยขึ้นด้านบน

            ว่าวจะขึ้นได้จะต้องมีแรงถ่วง (น้ำหนักของว่าว) น้อยกว่าแรงยก และแรงขับ(ลม) ต้องมีความเร็วมากพอที่จะชนะแรงต้าน ซึ่งมีทิศทางเดียวกับกระแสลม

          การทำว่าว ถือว่าเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เพราะต้องรู้จักคัดเลือกสรรหาวัสดุอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการทำ เช่น ไม้ต้องตรง มีน้ำหนักเบา มีความเหนียวทนทาน วัสดุประกอบอื่น ๆ เช่น กระดาษพลาสติก ผ้า และเชือก หรือด้าย ต้องใช้ให้เหมาะสม การทำอุปกรณ์ต่างๆ ต้องละเอียดประณีตมีเทคนิคเฉพาะตัว สัดส่วนของโครงว่าวแต่ละชนิดมีกำหนดเฉพาะ ต้องมีทักษะในการทำ  การเล่น ต้องรู้จักภาวะของสภาพพื้นที่ภูมิอากาศและกาลเวลา

ศิลปะกับว่าว ถือว่าเป็นของคู่กัน ว่าวบางชนิดผู้ทำจะวาดรูประบายสีสรรอย่างสวยงาม เป็นเป็นลายไทยหรือลวดลายต่างๆ และออกแบบว่าวเป็นรูปสัตว์หรือสัญญลักษณ์ต่างๆ การติดกระดาษสีเป็นสัญลักษณ์ต่างๆ การประดับตกแต่งส่วนประกอบ เช่น พู่ ปีก พู่หาง ทำให้เกิดความสวยงาม พลิ้วไหวเมื่อยามต้องลม การออกแบบรูปร่างของว่าวจะต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ควบคู่กัน จึงนับได้ว่าว่าว เป็นภูมิปัญญาไทยท้องถิ่น ซึ่งคงไว้ซึ่งศิลปะวัฒนธรรมที่ดีงามของชาติ เราจึงควรอนุรักษ์และส่งเสริมให้คงอยู่กับสังคมไทยตลอดไป

                        ประเภทของว่าว  แบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ คือ

  1. 1.    ว่าวแผง  ได้แก่ว่าวที่มีลักษณะเป็นแผ่นกว้าง มีความกว้างความยาว ไม่มีความหนา เช่นว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ว่าวแอก(ว่าวแอว) ว่าวอีลุ้ม ว่าวอีแพรด ว่าวเดือน ว่าวหน้าควายเป็นต้น
  2. 2.    ว่าวภาพ  ได้แก่ว่าวที่มีลักษณะพิเศษไปจากของเดิมที่มีอยู่ ประดิษฐ์ตกแต่งสวยงาม เน้นความคิดสร้างสรรซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทสวยงาม และประเภทความคิด (ว่าวประดิษฐ์) โครงสร้างมีทั้งส่วนกว้าง ยาว และหนา เป็นรูปสัตว์หรือลักษณ์ต่างๆ ระบายสีอย่างสวยงาม เช่นว่าวผีเสื้อ ว่าวนก ว่าวเครื่องบ